“ดร.ซุป” แนะทางรอด ในพายุเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อกระแสโลก “โลกาภิวัตน์” ถูกท้าทายทั้ง การประกาศ “แยกตัว” ออกจากสหภาพยุโรป (EU) ของอังกฤษ และจากการเติบใหญ่ของ “มังกรจีน” ที่กำลังรุกโลกค้าเสรี และการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศแบบพลิกฝ่ามือของสหรัฐอเมริกา

“ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ผู้เคยคร่ำหวอดอยู่ใน “สนามการค้า-การพัฒนา”

จากประสบการณ์กว่าครึ่งชีวิตบนสนามการค้าโลก “ดร.ศุภชัย” รู้ดีว่า กระบวนการ “โลกาภิวัตน์” กำลัง “เปลี่ยนรูปใหม่” จาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนเป็น “ไฟไหม้บ้าน” จึงควร “ซักซ้อม” หนีไฟไว้เนิ่น ๆ

ด้วยสภาวการณ์ใหม่ หรือ New Normal จึงต้องมานั่งดูว่าการค้าจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืน-ครอบคลุมจริงหรือไม่ เพราะสถานการณ์ 2-3 ปีที่ผ่านมาเหมือนการเกิดพายุลูกใหญ่ เป็นการสร้างพายุใหญ่ขึ้นมาจากการปกป้องตัวเองของประเทศมหาอำนาจตะวันตก

ในสถานการณ์ใหม่การเปิดเสรีของการค้าจึงควรหันกลับมามองถึงการ “สร้างความสมดุล” ต้องไม่บริโภคเกินขีดความต้องการ จนประสบความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ หรือถ้าประหยัดมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีเช่นกัน

ขณะนี้บอกได้ว่า โลกไร้ระบบ ตกอยู่ในอุ้งมือองค์กรเพียงไม่กี่แห่ง “ขณะนี้มีเงินสดทั่วโลกกลายเป็นว่า ไปลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แทนที่จะกลายเป็นผลดีแต่กลับกลายเป็นปัญหา เช่น ในเอเชีย ละตินอเมริกา เพราะต้องรับภาระการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งที่ไม่มีความสามารถพอ”

ต่อไปก็จะมีแต่ความสูญเสียทั้งสองฝ่ายบน “เศรษฐกิจทศนิยมใหม่” หรือเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีการทำลายล้างมากกว่าที่คาดคิด เป็นนวัตกรรมที่ทำลายแนวทางเก่า สร้างแนวทางใหม่ “ประเทศไทยกำลังสร้าง EEC แต่ไม่เคยประเมินคุณภาพห่วงโซ่อุปทานของโลก จะจำกัดการตั้งราคา เกิดการกระจุกตัว ข้างล่างแข่งขันกันแทบทำลายล้างและไปทดแทนนโยบายการเมือง”

“ดร.ศุภชัย” ชี้ทางออกว่า 1.นัยของเศรษฐกิจโลก เครื่องบ่งบอกทางภูมิศาสตร์ (GI) ต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อเพิ่มราคาสินค้าเกษตรและพัฒนาชุมชนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและมีนัยต่อสภาวะโลก

2.เศรษฐกิจบูรณาการต้องมีระบบใหม่ ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี เพราะเป็นเรื่องชายขอบมาก จะต้องมีเศรษฐกิจหุ้นส่วน ต้องไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสังคม การเมือง การศึกษา การฟื้นฟู ทั้งหมดเป็นการสร้างสถานะของการ “ประสานงานใหม่” จัดระบบใหม่ เท่าเทียมกันบนอีคอมเมิร์ซ