เพื่อไทย งัดข้ออาญาการเมือง ท้า “บิ๊กตู่” ออกกฎหมายขัด รธน.

และแล้วขุนพลฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย อันเป็นพรรคนอมินีรุ่น 3 ของพรรคไทยรักไทย ก็เรียงหน้ากระดานออกโรงมาคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …ที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และตัวแทนจากศาลยุติธรรมผนึกกำลังกันยกร่างขึ้น

เพื่อเปิดช่องให้คดีทุจริตไม่มีอายุความให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ แต่ให้โอกาสจำเลยตั้งทนายมาสู้คดีให้จำเลยมาขอรื้อคดีได้หากมีหลักฐานใหม่

แต่ไฮไลต์ที่สะเทือนการเมืองคือ การให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีอาญาของนักการเมืองในอดีต พุ่งเป้าไปถึงคดีที่ยังค้างอยู่ในศาลโดยเฉพาะ

ซึ่งรับรู้กันทั่วแวดวงการเมืองว่าส่วนใหญ่เป็นคดีของ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้สถาปนาพรรคไทยรักไทย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการหนีคดี

ในเบื้องหน้าพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะเห็นว่า

หนึ่ง กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”

ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 7 และข้อ 10 ที่กำหนดว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผย…”

ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 14 วรรคหนึ่ง “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด…”

และวรรคสาม (d) อย่างชัดเจนว่า “ในการพิจารณาคดีอาญาบุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค…(d) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น…” เป็นหลักยุติธรรมสากล และหลักการพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา

พรรคเพื่อไทยจึงฟ้องไปยังองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

และยื่นหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทว่าเบื้องหลังการออกแถลงการณ์ กูรูฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย คิดจนตกผลึกแล้วว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้พุ่งเป้าไปยังจำเลยที่ชื่อ “ทักษิณ”

จึงใช้วิธีการที่ “แทงเรื่อง” ตรง ๆ ไปถึงอ้อมอกของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะได้ผลมากกว่าการยื่นทักท้วงไปยัง กรธ.

เพราะเมื่อร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมืองผ่านมาถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ตามขั้นตอนเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะมีประเด็น “โต้แย้ง” จากพรรคเพื่อไทยคาไว้อยู่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 148 (2) ระบุไว้ว่า หากนายกฯเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

และในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯจะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

แหล่งข่าวฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยชี้ว่า ตามปกติถ้ากฎหมายยังมีข้อสงสัย หรือยังไม่มีข้อยุติ นายกฯไม่ควรนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยร้องคัดค้านไว้ เท่ากับวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะนำร่างกฎหมายที่ไม่ได้ข้อยุติขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่

ทว่ามือต้นเรื่อง-ต้นร่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. เห็นสวนทางพรรคเพื่อไทย ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ยังไม่มีที่ใดที่ไปตัดสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหา เขียนให้ได้รับสิทธิมากกว่าปกติด้วยซ้ำ เว้นแต่ผู้หลบหนีเท่านั้น

“ยืนยันว่าร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ไม่ได้ไปขัดหลักความยุติธรรมสากล เพราะในต่างประเทศก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนที่หลบหนีให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เหมือนกัน กรธ.จึงไม่หวั่นไหวที่พรรคเพื่อไทยจะไปฟ้ององค์กรยุติธรรมสากล”

“เพราะความเป็นธรรมต้องเกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับสังคมโดยรวม ไม่ใช่คนมีสตางค์แล้วหนี สังคมทำอะไรไม่ได้ แต่คนที่หนียังสามารถฟ้องร้องคนอื่นได้อยู่ มันก็ไม่เป็นธรรม การหนีนั้นไม่ใช่สิทธิ มันเป็นความผิด มันจึงไม่ใช่เรื่องการไปตัดสิทธิ แล้วเรายังเขียนไว้ชัดด้วยว่าไม่ตัดสิทธิของคนที่หนี ที่จะตั้งทนายมาต่อสู้คดี แล้วมาขอรื้อฟื้นคดีได้ภายหลังด้วย”

เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีหน้าทักษิณเป็นตัวตั้งในการยกร่าง พรรคเพื่อไทยจึงต้องแก้เกม สวนหมัดออกไปเพื่อวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่า เมื่อถูกแย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญจะนำขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่