ฉากอวสาน “ยิ่งลักษณ์” จำนำข้าว พลิกเกมไต่ศาลรัฐธรรมนูญสู้คดีศาลฎีกา

ชะตากรรมบนเส้นทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ที่มาจากครอบครัว “ชินวัตร” มีจุดที่เหมือนกัน คือต้องต่อสู้คดีบนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดย “ยิ่งลักษณ์” ตกเป็นจำเลยในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว ที่เริ่มกระบวนการตั้งแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้มูลความผิดเมื่อ 9 พฤษภาคม 2557ก่อนการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จนบัดนี้ถึงการไต่สวนพยานจำเลยล่วงเข้านัดสุดท้าย 21 กรกฎาคม 2560 รวมเวลาการต่อสู้นานกว่า 3 ปีเศษ

ยิ่งลักษณ์ มีตัวช่วยด้านคดีความอยู่ 3 ทีม หนึ่งทีมทนายว่าความ ยิ่งลักษณ์ใช้บริการของทีม “พิชิต ชื่นบาน” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นทนายว่าความให้ “ทักษิณ” ช่วงหลังรัฐประหาร 2549 โดยมีทีมทนายว่าความ อาทิ สมหมาย กู้ทรัพย์ นรวิชญ์ หล้าแหล่ง เซตวาระต่อสู้ทางด้านคดี และด้านการเมืองให้ เป็นแนวหน้า-แนวรบที่หนึ่ง

สองทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ที่ประจำการช่วยคดีแบบ “คลุกวงใน” ประกอบด้วย ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค ชัยเกษม นิติศิริ อดีตอัยการสูงสุด สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และปลัดกระทรวงยุติธรรม

ทีมที่สาม ซึ่งทำหน้าที่เป็นกองหนุนซัพพอร์ตเรื่องข้อมูล ในวงดังกล่าวปรากฏชื่อ วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรฯ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีต รมช.คลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจยิ่งลักษณ์ ยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีตปลัดพาณิชย์

การต่อสู้ในชั้นศาล ทีมทนายยิ่งลักษณ์พยายามใช้ข้อกฎหมายมาหักล้างข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุด ในฐานะอัยการแผ่นดิน อาทิ ประเด็นที่ถูก ป.ป.ช.กล่าวหาว่า โครงการรับจำนำข้าวเกิดผลเสียหายต่อภาระการคลังของประเทศ โดยจะชี้แจงต่อศาลว่า การใช้งบประมาณโครงการไม่เกิน 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในระดับเพียง 45% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% ซึ่งไม่เสียวินัยการคลังของรัฐบาล มีการชาร์ตหนี้สาธารณะปัจจุบันมาเทียบกับตอนช่วงที่ “ยิ่งลักษณ์” เดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อหน้าศาล ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่าโครงการจำนำข้าวไม่กระทบการคลังประเทศ

การดำเนินโครงการจำนำข้าวเป็นไปในรูปแบบของมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยไม่ได้ดำเนินการโดยลำพังในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี หรือในฐานะประธาน กขช. การอนุมัติวงรอบในการจำนำข้าวต้องผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง ข้อกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยจะต้องรับผิดชอบทั้ง ครม. ไม่ใช่ “ยิ่งลักษณ์” เป็นจำเลยคนเดียว

อีกทั้งยังดึงบุคคลที่เคยร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคนภายนอกมาเป็นพยาน อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว นายพิชัย ชุณหวชิร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายข้าว และอดีตประธานกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พ.ต.อ.ธนกฤต อ่อนละออ รอง ผกก. สภ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เบิกความเกี่ยวกับการดำเนินคดีจำนำข้าวเมื่อปี 2555

ทว่าทุกอย่างเขม็งเกลียวในช่วงโค้งสุดท้าย

ในการไต่สวนจำเลยนัดที่ 14 เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ฝ่ายทนาย “ยิ่งลักษณ์” ใช้ช่องตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯตีความว่า บทบัญญัติมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับการยึดสำนวน ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะขัดหรือไม่ขัดกับบทบัญญัติ มาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่

มาตรา 235 ระบุว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้นําสํานวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

แต่ในมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2542 ระบุว่า การพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยไม่มีคำว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”

ฝ่ายทนาย “ยิ่งลักษณ์” ตีความว่า หลักของมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปี 2542 ให้อำนาจศาลไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรได้แบบ “No Limit” ซึ่งที่ผ่านมา อัยการสูงสุดในฐานะโจกท์ได้เพิ่มเติมข้อกล่าวหา เป็นสำนวนการชี้มูลการทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี และพยานหลักฐานกว่า 6 หมื่นแผ่น

ซึ่งขัดกับมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ฝ่ายทนายยิ่งลักษณ์ต่อสู้ในถ้อยคำดังกล่าวว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมการเพิ่มเติมพยานหลักฐานจะต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย มิใช่ฝ่ายเดียว พร้อมยกคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคย “ตีความ” ดังกล่าวในอดีตมาเป็นเหตุผลประกอบ

ซึ่งการเพิ่มเติมพยานหลักฐาน 60,000 แผ่นในคดีของอัยการสูงสุด ทำให้ทนายยิ่งลักษณ์เคยยื่นฟ้องอัยการสูงสุดกับพวกต่อศาลฎีกา เมื่อ 29 กันยายน 2558 ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในกรณีดังกล่าวมาแล้ว แต่ศาลฎีกายกคำร้องในด้านการสร้างกระแสมวลชน

“ยิ่งลักษณ์” เดินสายทำบุญ-เช็กกระแสมวลชน เริ่มจากเปิดบ้านในซอยโยธินพัฒนาพับดอกจันทน์ถวายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 รวมถึงเดินสายทำบุญ ณ วัดต่าง ๆ

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ส.ส.เพื่อไทย กลาง-อีสาน ประสานรถบัสขนแฟนคลับมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ในวันไต่สวนพยานนัดสุดท้าย

สอดประสานกับการเดินเกมรุกทางการเมืองแบบย้อนศรไปยังรัฐบาล จับผิดการขายข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมี “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” อดีต รมช.เกษตรฯ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ตามกลิ่นระบายข้าว ซึ่งมีข้อครหาว่า 2 มาตรฐาน ในการตัดสิทธิ์ผู้ประมูล และการจัดเกรดข้าวที่จะนำมาประมูล คือ เอาข้าวดีไปจัดเกรดขายเป็นอาหารสัตว์

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ถูกถามเรื่องนี้ จึงบอกว่า “ข่าวที่ออกมาช่วงนี้มีวัตถุประสงค์อะไร เนื่องจากจะมีคดีความที่จะตัดสินในวันที่ 21 ก.ค. 60 ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายในคดีรับจำนำข้าว จึงทำให้ข่าวในลักษณะเช่นนี้ออกมาค่อนข้างมาก”

หลังจากนี้ ยิ่งลักษณ์ยังต้องลุ้นอีกเฮือก คือนัดฟังคำพิพากษา