“อภิสิทธิ์” อภิปราย “เปรมโมเดล” ส่องทุนทหาร-ธรรมาธิบาลประชารัฐ

สัมภาษณ์พิเศษ

กว่าค่อนวัน-เกินครึ่งของเวลาทั้งหมดที่การเมืองปิดเทอมใหญ่อย่างไม่มีวันสิ้นสุดท้าย

ชีวิต อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าประชาธิปัตย์ กัด-เกาะติดปมปัญหาเศรษฐกิจแบบถึงราก

มีคิวเข้านอก-ออกใน ทุกสมาคมการค้า-ภาคการผลิตทุกเซ็กเตอร์

เจอเจ้าสัวน้อย-ใหญ่ ไม่แพ้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.

อีกเสี้ยวส่วนเวลาที่เหลือ ส่องระหว่างบรรทัดรัฐธรรมนูญและนัย แท็กติกกฎหมายหมวดการเมือง

เมื่อคำถามการเมืองดังขึ้น “อภิสิทธิ์” สวนหมัดทันควัน แต่ไม่ว่องไวสวนคำเท่าเรื่องเศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน

Q : ปี 2561 จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ 

การจะไม่มีเลือกตั้งในปี 2561 คงมีเหตุเกิดขึ้นจาก ประการแรก การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย คือ การแก้รัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อเปลี่ยนแปลงขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ประการที่สอง กรณีพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสองฉบับสุดท้าย ไม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกำหนดเวลา

Q : จะมีอุบัติเหตุอย่างอื่นอีกหรือไม่

ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของ คสช.ว่าจะเดินตามโรดแมปหรือไม่

ธรรมชาติขณะนี้ต้องเดินไปตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือปลายปี 2561

แม่น้ำทุกสายมาจาก คสช.ถ้า คสช.มองว่าโรดแมปต้องเปลี่ยน พูดให้ชัดว่าจะเปลี่ยน เพราะเมื่อมีแต่ความไม่แน่นอน ผลเสียจะเกิดกับส่วนรวม ความเชื่อถือของประเทศ นโยบายจะรวนไปหมด สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง

Q : แรงกระเพื่อมจากต่างประเทศและภาคธุรกิจก็จะแรงขึ้น

นักลงทุน นักธุรกิจ ต้องการความแน่นอน ความชัดเจน ประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมาการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความลังเล การลดเงื่อนไขของความไม่แน่นอนได้จะมีแต่เป็นบวก

Q : มีเหตุผลอะไรที่นายกฯพูดไม่ได้ ให้ไม่เป็นไปตามโรดแมป

ไม่เห็นเหตุผล ปัญหาอุปสรรค เช่น ความวุ่นวาย รัฐบาลมีเครื่องมือและอำนาจเบ็ดเสร็จทำไมไม่จัดการ

Q : การบริหารการเมืองในช่วงสุดท้ายส่อไปในทางต้องการอยู่ต่อหรือไม่

คงมีความพยายามที่จะให้มั่นใจว่า ควบคุมสถานการณ์ได้หลังเลือกตั้ง แต่ถ้าตั้งเป้าว่าไม่สนใจเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง อันตราย

Q : พรรคทหารที่ลงตัว คือ การต่อยอดไปให้ไกลกว่าเปรมโมเดล

ปัจจัยที่ พล.อ.เปรม สามารถอยู่ได้ยาวนาน 1.พล.อ.เปรมไม่มีพรรคการเมือง 2.พล.อ.เปรมไม่เคยเป็นศัตรูกับการเมือง 3.พล.อ.เปรมอาศัยฐานพรรคการเมืองสนับสนุน มาพูดถึงเปรมโมเดลแล้วทำเหมือน พล.อ.เปรมหรือเปล่า จะใช้โมเดลนี้แต่พูดถึงพรรคการเมืองเหมือนเป็นศัตรู นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องบารมีนะ ประวัติศาสตร์ของ พล.อ.เปรมเป็นข้อยกเว้นของพรรคทหารทุกยุค

Q : เร็วไปที่จะพูดเรื่องการเลือกตั้ง รัฐบาลกำลังเซตอัพเรื่องชาวบ้านอยู่

เรื่องอะไรที่ทำอยู่ ใครรู้บ้าง ชาวบ้านไม่รู้เลย ไม่มีทางสำเร็จ ผมเห็นด้วยที่ คสช.ไม่ควรจะหมกมุ่นในเรื่องการเลือกตั้ง

คสช.ควรตั้งเป้าว่าก่อนถึงวันเลือกตั้ง สภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่ต้องการจะปรับคืออะไร

Q : คำตอบคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

รูปธรรมคืออะไร ปฏิรูปไม่เคยมีรายละเอียด ไปถามใครก็ไม่มีใครรู้

Q : อุบัติเหตุทางการเมืองในปี”61 เรื่องอะไรที่เลวร้ายที่สุด

คนเป็นนักการเมืองต้องรู้จักบริหารไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ก็ต้องไม่ประมาท

Q : ปีที่แล้ววิเคราะห์ไว้ว่า ไม่มีปัจจัยบวกที่นายกฯจะตัดสินใจให้อยู่ต่อ 

วันนี้ความคืบหน้าการปฏิรูปค่อนข้างน้อย หลายวงการไม่ค่อยได้คาดหวังแล้ว ซ้ำร้ายกลุ่มคนที่เรียกร้องให้แก้กฎหมายพรรคการเมืองใหม่ มีแนวโน้มว่าสิ่งที่ทำมาที่อ้างการปฏิรูป ไม่เอาแล้ว

ล่าสุด เรื่องไพรมารีโหวต ทุกคนรอคอยว่าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไร 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ใช้เงิน ภายใต้คำว่ากระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีวิกฤต

Q : ไม่จำเป็นต้องถมเงินเพิ่มฟื้นเศรษฐกิจ

พอถมเงินลงไป ผลที่ได้กลับมาค่อนข้างน้อย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจชนบท การเกษตร ไม่ได้มีอะไรกระเตื้องขึ้น มาตรการหลายอย่างไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน

การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กำลังซื้อไม่กระจายและหมุนเวียนอยู่ในชุมชน แต่เงินไปกองอยู่ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ

Q : ประเมินจากอะไร ว่า 3 ปีที่ผ่านมา

การฟื้นฟูเศรษฐกิจผลค่อนข้างน้อย ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 รายได้ครัวเรือนลดลง บางจังหวัดลดลงรุนแรง ถึง 1 ใน 3 ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น เป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจไม่วิกฤตแต่คนจนเพิ่มขึ้น ตัวเลขจีดีพีส่งออกแม้จะกระเตื้องขึ้นแต่ถ้าเทียบระดับภูมิภาค 2-3 ปี ขยายตัวต่ำและกระจุกตัวชัดเจน สถานการณ์เศรษฐกิจฐานล่างแย่ลง อ่อนแอลง

Q : รัฐบาลบอกปี”61 เป็นปีแห่งการบริการคนจน ส่งนัยทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไร

รัฐบาลยอมรับว่า เศรษฐกิจฐานล่างมีปัญหา แต่จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ตรงจุด หลายเรื่องรัฐบาลไม่เข้าใจความเชื่อมโยง เช่น เรื่องข้าวสาลี ประมง สนใจแต่ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยไม่คิดว่ากระทบกับคนหมู่มาก

Q : รัฐบาลไม่ได้สร้างบาลานซ์ระหว่างการตอบโจทย์กฎการค้าของโลกกับการตอบโจทย์อาชีพตามวิถีของชาวบ้าน

ถูกต้อง รัฐบาลกังวลว่าต่างประเทศจะหยิบเอาการเมืองมาเป็นเงื่อนไขที่อยู่เบื้องหลังของการทำอะไร ไม่ทำอะไร

Q : เสียงของฝ่ายการเมืองมีความหมายน้อย สะท้อนปัญหาออกไปก็ถูกทำเป็นไม่ได้ยิน 

หนึ่ง ความหวาดระแวงว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า สอง พอรัฐบาลตัดสินใจว่าไม่อยากฟังฝ่ายการเมืองเดิมเลย กลายเป็นว่า โดยกลไกรวมศูนย์เขาก็ต้องฟังภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่

Q : คนรอบข้างนายกฯต้องการดูแลนายกฯให้ปลอดภัยจากการเมือง 

ไม่ยอมให้เข้าใกล้การเมืองนายกฯทำแบบนี้แล้วปลอดภัยจากการเมืองหรือไม่ อีก 2 ปีก็รู้

Q : การอัดเงินมหาศาลลงไปในหมู่บ้านรอบใหญ่ในปีหน้าจะเป็นอย่างไร

ถ้าไม่เปลี่ยนวิธี เงินก็อยู่แต่กับผู้นำชุมชนกับผู้รับเหมา

Q : เงินไม่น่าจะหมุนถึงมือชาวบ้าน ผู้มีรายได้น้อยอย่างรวดเร็ว

3 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น ถ้าวันนี้ทีมเศรษฐกิจไม่ปรับมุมมอง ไม่ทบทวนว่า ทำไมเศรษฐกิจถึงเป็นอย่างเป็นที่เป็นอยู่ ทำแบบเดิมได้ผลแบบเดิม หวังเปลี่ยนแปลงได้ยาก

Q : รัฐบาลประเมินว่า การอัดเงินเข้าไปในชุมชนส่งผลให้นักการเมือง รู้สึกเดือดเนื้อ ร้อนใจ

ผมเดือดเนื้อร้อนใจว่า สิ่งที่ทำอยู่ ทำให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจมันยากลำบากมากและไม่เป็นผลดีต่อการเมือง ผมไม่ได้กลัวเลยว่า เขาทำไปแล้วจะได้คะแนน ผมเดือดเนื้อร้อนใจว่ามันจะเกิดช่องว่างอย่างรุนแรงระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง

Q : ประเมินว่า สิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้อุดช่องว่างตรงนั้นได้

ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ มันก็ยาก มาตรการบางอย่างที่เป็นนโยบายที่มีผล เช่น ประกันรายได้ โฉนดชุมชน ไม่ยอมทำเพียงเพราะเหมือนกับพรรคการเมือง แต่คุณพร้อมที่จะเสียภาษีเป็นหมื่นล้าน เช่น ช้อปช่วยชาติ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่พอเวลาจะช่วยชาวบ้าน คุณบอกว่าจะเอาเงินจากไหน

Q : การถมเงินไปที่หมู่บ้าน-ประชารัฐ-คอนเน็กชั่นทุนใหญ่เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรคทหารหรือไม่

ผมไม่ได้สนใจ ผมสนใจเรื่องธรรมาภิบาลและความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่า ผมไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่า ทุนใหญ่เป็นผู้ร้าย แต่รัฐบาลต้องฟังให้ครบถ้วน ฟังด้านเดียวไม่เป็นประโยชน์สูงสุดและจะเกิดช่องว่างและนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ถ้าหวังผลทางการเมือง เรื่องทุน ก็ต้องไปถามว่าแล้วธรรมาภิบาลอยู่ที่ไหน

ผมไม่เคยนิยมความคิดที่ว่า รัฐบาล ต้องลงมาเล่นเป็นผู้ประกอบการ หรือมาเลือกผู้ประกอบการ เพราะมันจะเกิดปัญหาตามมา บริหารเศรษฐกิจภาพรวมคิดแบบนี้ไม่ได้ ไม่ได้ดูว่าเงินไปกองอยู่ที่ไหน ไม่ได้ดูว่าเกิดโครงสร้างการผูกขาดจากรัฐโดยปริยาย

Q : บทบาท กปปส.กับ ปชป.จะคู่ขนานหรือบรรจบกัน

สิ่งที่ตรงกันระหว่าง กปปส.กับ ปชป. คือ การปฏิรูป และต่อต้านระบอบทักษิณ กปปส.เป็นอิสระ ปชป.ยืนอยู่ที่เดิม ในเชิงอุดมการณ์ ภารกิจเรา คือ การปฏิรูปและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ประเทศ

Q : มีพื้นที่กลางหรือไม่ ถ้าไม่เอาพรรคทหาร ไม่ใช่สองพรรคใหญ่

ให้ประชาชนให้คำตอบไม่ดีกว่าหรือ จะเป็นพรรคใหม่ พรรคทหาร พท. หรือ ปชป. ต้องบอกกับประชาชนก่อนว่าต้องการพาบ้านเมืองไปตรงไหน อย่างไร เมื่อประชาชนให้คำตอบแล้ว เลือกตั้งแล้วค่อยมาคุยกัน ไม่ใช่จะมาพูดกันเอง แล้วจะเอาประชาชนไปไว้ตรงไหน