Politimate เกมจับคู่ “ผู้ว่าฯ กทม.”

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรอบ 9 ปี ปลุกให้คนกรุงกลับมามีความหวังอีกครั้ง

อาจเป็นเพราะนโยบายสวย ๆ ของบรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ ที่ชูแคมเปญการแก้ปัญหาอันปวดใจของคนเมือง ทั้งปัญหารถติด ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาส่วย แผนการพัฒนาเมืองในมุมต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้คนกรุงใจชื้น อยากเปลี่ยนแปลง

ทว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มีมากถึง 31 คน

แค่เฉพาะตัวเต็งที่สปอตไลต์จับจ้อง ก็มีตั้ง 5-6 คน ที่มักประจันหน้ากันตามเวทีดีเบตต่าง ๆ

แล้วผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนไหน จะมีนโยบาย “แมตช์” หรือ “ถูกใจ” ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค. 65)

เหตุนี้ สถาบันพระปกเกล้า ร่วมมือกับพันธมิตร คิดค้นนวัตกรรมการเมือง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เช็กตัวเองว่านโยบายที่เราต้องการ ไปตรงกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนไหน

Politimate เป็นเว็บแอปพลิเคชั่น สำหรับคนที่ไม่รู้จะเลือกใคร หรือมีข้อมูลน้อย

ยังไม่รู้ว่า “ใจ” ตรงกับผู้สมัครคนไหน ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้จะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกนโยบายต่าง ๆ แล้วประมวลผลเป็นเปอร์เซ็นต์ว่า นโยบายที่เลือกตรงกับนโยบายของผู้สมัครคนใด

“สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า หัวเรือใหญ่โปรเจ็กต์ ขยายความ-เบื้องหลังว่า Politimate คือ เกมจับคู่ผู้ว่าฯ มี 20 คำถาม เหมือนเป็นคำถาม battle ที่ถอดจากยุทธศาสตร์ของ กทม. 7 ด้าน บวกกับนโยบายที่ผู้สมัคร
มีการพูดถึงกัน จากนั้นมาคัดกรองให้เป็นชุดคำถามที่สามารถมาประกบ battle กันได้ ให้เลือกกัน 1 ต่อ 1

เช่น คำถาม “ผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นเมืองท่องเที่ยว ด้านศิลปวัฒนธรรม” จะประกบคู่กับคำถาม “สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น จัดระเบียบสตรีตฟู้ด และตลาดนัด” แล้วให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือก

“ความสนุกของมันคือ ไม่ใช่แค่จับคู่แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. โดยที่เราไปดูนโยบายของแต่ละคน เมื่อตอบคำถามแล้วเราตรงกับเขาไหม…ไม่ แต่เราเหนือกว่านั้น เอาสิ่งนี้ไปให้ผู้สมัครเล่นก่อน เช่น ให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เล่น ซึ่งทุก ๆ คนเล่นมาก่อน 
แล้วเอาข้อมูลคำตอบมาเก็บเอาไว้ เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาเล่นเกมนี้ก็จะไป match กับสิ่งที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ตอบคำถาม หรือแมตช์กับนโยบายสวย ๆ ที่เขาแถลง หรือประกาศออกมาเป็นชุดนโยบาย”

“ซึ่งทุกคนก็ตอบมาหมด มีแต่ 4-5 คนที่เป็นผู้สมัครโนเนมเท่านั้น ที่ยังไม่ตอบคำถามมาให้”

สติธรบอกว่า “การเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ผู้สมัคร มีผู้เลือกตั้ง มีวันเลือกตั้ง มีคูหา มีการนับคะแนน มีการประกาศผล ได้นักการเมืองมาทำงานแทนแล้วจบ”

“แต่จะทำอย่างไรให้การเมืองการเลือกตั้ง กทม. อยู่กับเราเป็นวัฏจักร เป็นวงจร ไม่ใช่แค่ช่วงเวลา 60 วันเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะมีนวัตกรรมให้ใช้ประโยชน์เป็นช่วง ๆ เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่
พื้นฐานที่สำคัญของการตัดสินใจคือข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็น”