ภารกิจประยุทธ์ สุดยอดอาเซียน-สหรัฐ วันที่สอง ดึงบริษัทยักษ์ลงทุนไทย 

ภารกิจประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ
ภารกิจประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ วันที่สอง

ภารกิจประยุทธ์ สุดยอดอาเซียน-สหรัฐ วันที่สอง ดึง บริษัทยักษ์ใหญ่มะกัน ลงทุนไทย 

ภารกิจประยุทธ์ บนเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม เป็นวันที่สอง ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทย ประยุทธ์ นำทีมประเทศไทย ดึงดูด ซีอีโอ บริษัทใหญ่อเมริกา ทั้ง Chevron-AirBnB-Marriott-PhRMA-Boeing-FedEx – Tesla ลงทุนในไทย-พลิกเศรษฐกิจหลังโควิด-19 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงท่ามกลางผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ พร้อมจับมือกันก้าวผ่านเข้าสู่ยุคใหม่

วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ห้อง George Washington โรงแรม St. Regis กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบหารือระหว่างอาหารเช้ากับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ (Breakfast Roundatable) ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจอาเซียน – สหรัฐฯ (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และ National Center for APEC (NCAPEC) ทะลายการกีดกันทางการค้า สร้างภูมิภาคที่เปิดกว้าง

ทั้งนี้ บริษัทเอกชนสหรัฐฯ ที่ได้เข้าร่วมด้วยมีดังนี้ ประธานและ CEO สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC), นาย Charles Freeman รองประธานอาวุโสด้านเอเชีย หอการค้าสหรัฐฯ (USCC), นาย Alex Parle รองประธานบริหาร National Center for APEC (NCAPEC), Chevron, ConocoPhillips, AirBnB, Marriott, Koch Industries, Lockheed Martin, Organon, PhRMA, Tyson Foods, Boeing, FedEx และ Tesla

ภารกิจประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ
ประยุทธ์พบคณะนักธุรกิจสหรัฐ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้เข้าร่วมการหารือและขอบคุณ USABC USCC และ NCAPEC ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในครั้งนี้ การพบกันในวันนี้เป็นเหมือนการได้พบกับเพื่อนเก่า โดยเฉพาะ USABC ที่ได้พบหารือด้วยเป็นประจำทุกปี รวมทั้ง USCC ที่ได้พบกันทุกครั้งที่ได้เดินทางมาสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้พบกับ NCAPEC โดยเฉพาะในห้วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างภูมิภาคที่เปิดกว้าง เชื่อมต่อกัน และมีความสมดุลอย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการและนโยบายที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และหารือถึงโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน โดยขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการไม่ให้โควิด-19 มาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิต อีกทั้งต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนจากวิกฤตินี้ เพื่อเดินหน้าสร้างประเทศไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย โดยมีการฟื้นตัว เติบโตประมาณร้อยละ 1.6 ซึ่งภาคเอกชนนักธุรกิจสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญ ขอบคุณความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และเข้ามาลงทุนในไทยเป็นลำดับต้น ๆ รวมถึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล การแพทย์ BCG อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นต้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศ Super Power แต่พร้อมใช้ Soft Power สนับสนุนร่วมมือกับเอกชนสหรัฐฯ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การเร่งสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกและภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนป้องกันการหยุดชะงักและสร้างภูมิต้านทานสำหรับวิกฤติต่าง ๆ ในอนาคต รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยไทยพร้อมเป็นส่วนสำคัญและศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาค และจะร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐในการเชื่อมโยงฐานการผลิตของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งไทยพร้อมต้อนรับการลงทุน ทั้งในการขยายการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย รวมถึงเป็นฐานเชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

2.การเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG และให้ความสำคัญกับการดูแลฐานทรัพยากร เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึงประมาณร้อยละ 21 ของ GDP โดยรัฐบาลไทยขอเชิญชวนให้มาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ทันสมัยและการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น

ในด้านสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายพลังงานแห่งชาติ 2565 และแนวทาง 4D1E พร้อมมุ่งมั่นในการพัฒนาการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 50 ของพลังงานที่ผลิตทั้งหมดในประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมข้อริเริ่ม Clean Energy Demand Initiative กับภาคเอกชนสหรัฐฯ และหวังว่าข้อริเริ่มนี้จะผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับบริษัทสหรัฐฯ ในด้านพลังงานสะอาดได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV โดยรัฐบาลผลักดันนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยต้องการร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทั้งการพัฒนาโครงข่ายด้านโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและศูนย์บริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง

3.การเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ไทยพร้อมร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ให้ความสำคัญ ภายใต้แนวคิด BCG ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการจัดทำเอกสารระดับผู้นำ “Bangkok Goals on BCG Economy” โดยจะวางรากฐานระยะยาวให้เอเปคร่วมมือกันจัดการกับวิกฤตภูมิอากาศ เพิ่มความพยายามเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เสริมสร้างการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และมุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยมีแผนจัดการหารือโต๊ะกลมในกรอบเอเปคเพื่อระดมความเห็นเรื่องหุ้นส่วนเหล่านี้ในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ที่ไทยผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และการลดคาร์บอนและพลังงานสะอาด โดยการประชุมของ ABAC ที่ NCAPEC มีส่วนร่วม เป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจของเอเปค ซึ่งภายใต้กลไกดังกล่าว ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อน FTAAP ในยุคหลังโควิด-19 ทั้งนี้ ไทยพร้อมจะแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดการดำเนินการในเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมกันระหว่างสองฝ่ายในปีการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ และในอนาคต

โดยในส่วนของภาคเอกชนต่างชื่นชมบทบาทของนายกรัฐมนตรี นโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติที่นายกรัฐมนตรีผลักดัน เชื่อมั่นต่อโอกาส การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน แม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่ความร่วมมือกันจะทำให้แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น รวมทั้ง เชื่อมั่นว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค ซึ่งทุกปัจจัยจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นฟูให้ดียิ่งขึ้น

จับมือก้าวผ่านสู่ยุคใหม่

ประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ กล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ สหรัฐอเมริกา
ประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ กล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ สหรัฐอเมริกา

ต่อมา เวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน  สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างอาหารกลางวัน (Working Lunch) ระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส (The Honorable Kamala Devi Harris) รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐอเมริกา

นายธนกร สรุปสาระสำคัญจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณรองประธานาธิบดีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น งานเลี้ยงอาหารกลางวันในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการหารือกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องกับรองประธานาธิบดีว่า “ประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 จะถูกจารึกขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” โดยอาเซียน-สหรัฐฯ ต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อก้าวผ่านความท้าทายใหม่ในหลายประการ

การรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-19 และการส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขในระยะยาว เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า สหรัฐฯ สามารถขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการวิจัย การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น การขยายฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขและเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับภูมิภาค โดยไทยมี “ศูนย์จีโนมิกส์” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้น

การพัฒนาทุนมนุษย์ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับภูมิภาค โดยเฉพาะในยุค 4IR ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกมิติ โดยสหรัฐฯ สามารถเข้ามาลงทุนและช่วยพัฒนา รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ MSMEs ในอาเซียนได้ ในขณะเดียวกันไทยก็มีพื้นที่ Thailand Digital Valley ใน EECi ด้วยความร่วมมือทางทะเล จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยมหาสมุทรแปซิฟิก

การบริหารจัดการสถานการณ์ทางทะเลให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และตั้งอยู่บนกฎกติกา จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน ไทยจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาคมาโดยตลอด โดยเฉพาะการต่อต้านการประมง IUU

นอกจากนี้ ไทยจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง IUU ให้แก่อาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืนของภูมิภาค และช่วยฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้แก่มหาสมุทร

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือเหล่านี้ล้วนเป็นความร่วมมือที่สร้างสรรค์ โดยจะนำมาซึ่งการพัฒนาและความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาค จึงหวังว่า อาเซียนและสหรัฐฯ จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ก้าวสู่ยุคใหม่อย่างมั่นคงต่อไป

ขับเคลื่อนอาเซียนสีเขียว

ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงอาเซียนสีเขียว
ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงอาเซียนสีเขียว

หลังจากนั้น เวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และและผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ ได้แก่ นายจอห์น เคอร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน

นายธนกร สรุปสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันของอาเซียนกับสหรัฐฯ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องร่วมกันทำให้สำเร็จเพื่อโลกใบนี้และอนาคตของลูกหลานของทุกคน โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การมีสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน

โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงถึงการสนับสนุนความมุ่งมั่นของภูมิภาค และของโลกในเรื่องดังกล่าว ไทยได้ประกาศเป้าหมายในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งจะพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังทั้งในระดับ ประเทศ ภูมิภาค และโลก เพื่อให้สามารถดำเนินการและบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยยินดีที่ได้รับทราบเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจะขยายความร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอความร่วมมือใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า การกักเก็บคาร์บอนและนามาใช้ประโยชน์ พลังงานอัจฉริยะ และเมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งสหรัฐฯ มีศักยภาพที่จะเข้ามาขยายการลงทุนและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาดังกล่าว โดยไทยมี EEC ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ เข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ซึ่งรวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ไทยมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนFให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมทั้ง มุ่งมั่นปรับปรุงความปลอดภัยด้านคมนาคมสร้างถนนที่มีคุณภาพสูง

2.การสนับสนุนด้านการเงิน ให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกองทุนหรือกลไกทางการเงินสีเขียวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งสหรัฐฯ มีแผนการเงินระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิอากาศที่จะสนับสนุนการสร้าง “อาเซียนสีเขียว” ได้ อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน และตราสารหนี้สีเขียวของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย ซึ่งมีการออกทั้งตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน

3.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยสนับสนุนให้ภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน และประชาชนร่วมมือกันปรับกระบวนทัศน์และพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ โดยไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างสมดุล และเป็นหนทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและ ผลักดันประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐานของการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืนแบบองค์รวม ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และสามารถต่อยอดในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้าได้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ป่าไม้ การปลูกพืชมีค่าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า “เราหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว” ซึ่งความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว การหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ และความร่วมมือร่วมใจแบบไม่แบ่งฝักฝ่าย จะเป็นหลักประกันสำคัญถึงความอยู่รอดของโลกและคนรุ่นหลังต่อไป

 เดินหน้าเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน

ประยุทธ์หารือไบเดน
ประยุทธ์หารือไบเดน

นายกฯ พร้อมผู้นำอาเซียน หารือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หารือ ร่วมเสริมสร้างภูมิภาคที่สงบสุข ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

ก่อนเดินทางกลับ เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ

นายธนกร สรุปสาระสำคัญ ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ประยุทธ์หารือไบเดน
ประยุทธ์หารือไบเดน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมฯ ควรร่วมกัน “มองไปข้างหน้า” และเดินหน้าไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้าง “ภูมิทัศน์ใหม่” ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ดังนี้

หนึ่ง “ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตลอดจนข้อริเริ่มอื่น ๆ อาทิ AUKUS และกลุ่มภาคี Quad จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

นายกรัฐมนตรีหวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข

สอง “ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง” นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFC โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้

นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ เร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และในระยะยาว เชื่อมั่นว่าอาเซียนมีศักยภาพในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ ไทยมีเขต EEC ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถให้กับภูมิภาคด้วย

สาม “ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น” โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN.CONNECT.BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่ COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งหากอาเซียนกับสหรัฐฯ เพิ่มพูนความร่วมมือในการลงทุน และแบ่งปันเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ  โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และพลังงานสะอาด ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทยก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐฯ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้

รับรองถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน-สหรัฐ

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค. 2565

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และ การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

1.การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่าง ๆ

2.การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน

3.การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล

4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม

5.การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค

6.การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน

7.การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

8.ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ