“มาร์ค” จวกคสช.เพิ่มล็อกทางการเมือง เตือนอย่าซ้ำรอยระบอบทักษิณ ทำเพื่อพวกพ้อง

แฟ้มภาพ

“มาร์ค” เผยฝ่าย กม.ปชป.กำลังพิจารณาคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ขัด รธน.หรือไม่ ชี้หากพบปัญหายื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่ เตือนผู้มีอำนาจอย่าเดินซ้ำรอยระบอบทักษิณ ใช้อำนาจรัฐเพื่อพวกพ้อง หวั่นกระทบประเทศระยะยาว-ประชาธิปไตยติดหล่ม

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคพิจารณาข้อกฎหมายว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่ามีเนื้อหาใดที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะทราบผลหลังปีใหม่ว่าจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ทั้งนี้ การจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผลข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายยื่นได้ ซึ่งเท่าที่เห็นคำสั่ง คสช.แล้วเป็นคำสั่งที่ยาวเป็นพิเศษและเนื้อหาก็ขัดกันในตัว มีความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ฝ่ายกฎหมายกำลังดูในรายละเอียดถึงผลที่เกิดขึ้น ถ้าเข้าเงื่อนไขที่ขัดรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นไปได้ที่พรรคจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องดูว่ากระทบสิทธิของบุคคลหรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวคนที่ได้รับผลกระทบต้องเป็นผู้ยื่น อย่างไรก็ตาม การจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่ความต้องการส่วนตัว ไม่ยื่นพร่ำเพรื่อหรือยื่นเพื่อให้มีคดี โดยจะดูข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ศาลพิจารณาได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า พรรค ปชป.ไม่มีปัญหาที่จะดำเนินการตามกฎหมาย กติกาเขียนอย่างไรก็พยายามปฏิบัติ และยังไม่เห็นอุปสรรค มีแต่พรรคตั้งใหม่ที่บ่น เพราะกระทบจากการที่ คสช.ไม่ปลดล็อก อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่ง คสช. ครั้งนี้ไม่ใช่ปลดล็อกแต่เป็นการเพิ่มล็อก ทำให้ช้าไปอีก 3 เดือนจนเป็นปัญหากับพรรคใหม่ ตนไม่ติดใจหากจะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น เพราะเป็นประชาธิปไตยยอมรับการแข่งขันตลอดเวลา แต่ขอให้แข่งขันด้วยการสร้างศรัทธาไม่ใช่เอาเครื่องมือต่างๆ มาทำลายคนอื่น เพราะคำสั่ง คสช.ที่ออกมาเหมือนไม่เข้าใจโรดแมปของตัวเอง ทั้งๆ ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ จากนั้นเหลือเวลา 150 วัน ต้องจัดการเลือกตั้งจึงรีบผลักดันให้ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้ก่อน เพื่อให้มีเวลาปรับตัวให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งได้ เป็นสิ่งที่คิดอย่างดี และรอบคอบแล้ว แต่คำสั่งนี้เหมือนไม่เข้าใจตัวเอง เท่ากับต้องทำหลายอย่างซ้อนกัน จึงเป็นการแก้ปัญหาให้กับบางคนถูกจุดมากกว่าการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด

“ถ้าคิดใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ในทางการเมือง ก็เดินกลับสู่ยุคระบอบทักษิณ จะหวังอะไรกับการปฏิรูปและธรรมาภิบาล ถ้ามีปัญหาพรรคใหม่ก็หาทางแก้ไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ใช้อำนาจรัฐที่เบ็ดเสร็จพิเศษไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ บ้านเมืองเสียหาย ส่วนรวมเสียหาย บรรทัดฐานสำหรับอนาคตก็เสียหาย คนทำต้องรับผิดชอบ หากยึดหลักธรรมาภิบาลต้องโปร่งใสตรงไปตรงมา รับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ลองไปดูว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเข้าเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ควรทำในเรื่องใหญ่ๆ ทำแล้วไม่ต้องเปลี่ยนซ้ำแล้วซ้ำ อีกและไม่เอื้อประโยชน์ใคร เรื่องได้เปรียบเสียเปรียบพรรคประชาธิปัตย์ไม่กังวล เพราะสู้ในสถานการณ์เสียเปรียบมาหลายรูปแบบ จึงไม่โวยวายหรือร้องขอ แต่ที่พูดต้องการรักษาหลักการบ้านเมือง ถ้าเสียเปรียบจากหลักการที่ถูกต้องพรรคยินดี แต่ถ้าไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมาภิบาลก็ต้องคัดค้านไม่ว่าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าคำสั่งดังกล่าวมี ผลทำให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้โดยไม่ต้องลาออกจากพรรคเดิมเพียงแค่ไม่ยืนยันการเป็นสมาชิก เสมือนเป็นการเซตซีโร ส.ส. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้คงสะดวกขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครอยากอยู่พรรคใหม่ก็ไปลาออก แต่กรณีนี้อาจจะช่วยคนที่ไม่กล้าสู้หน้าหรือไม่กล้าลาออกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้อำนาจรัฐจนทำให้การเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรม ประเทศชาติจะเสียหาย ติดหล่มกับประชาธิปไตยที่เดินหน้าไม่ได้ ที่ผ่านมาเราคาดหวังมาตลอดว่า ภายใต้การปฏิรูปประเทศเราจะได้ ระบบการเมืองที่ดี สภาและรัฐบาลที่ดี ถ้าไม่สามารถนับหนึ่งจากการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมได้ก็ไม่ถึงเป้าหมาย จึงขอว่าอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์ส่วนพวกพ้อง ขอให้คิดถึงระยะยาว เพราะที่ประเทศมีปัญหามาตลอดเนื่องจากไม่คิดถึงหลักการและธรรมาภิบาล

 

ที่มา : มติชนออนไลน์