30 ประเทศห้ามส่งออกอาหาร ครัวไทยครัวโลก อยู่ตรงไหน

จาตุรนต์ ฉายแสง
จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง แนะรัฐบาลเปิดการส่งออกอาหาร นำเงินเข้าประเทศ ไม่ควรกักตุน เพราะจะทำให้ไทยเสียโอกาส ช่วงที่โลกกำลังขาดแคลน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 30 ประเทศห้ามส่งออกอาหาร 36 ประเทศเรียกร้องให้เปิดตลาด ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน ทั้งนี้ นโยบายที่ผิดนี้ทำให้ประเทศไทยกำลังเสียโอกาสในการผลิตอาหารที่โลกกำลังขาดแคลน

และประเทศไทยเองก็กำลังจะมีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนเข้ามาเป็นผู้บริโภค ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการทำรายได้และที่สำคัญคือทำให้เกษตรกรต้องเดือดร้อนเนื่องจากต้นทุนสูง อาจต้องขาดทุนและเป็นหนี้ หลายส่วนต้องหยุดการผลิตหรือหยุดทำมาหากินกันไปเลย เช่น ชาวประมง เป็นต้น

นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซียยูเครน ขณะนี้มีมาตรการกักตุนอาหารหรือห้ามส่งออกที่ขยายวงไปแล้วถึง 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็นสถานการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตราคาอาหารเมื่อปี 2007-2008 นักวิเคราะห์เชื่อว่ามาตรการกักตุนอาหารจะยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี 2022 นี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ให้ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลง โดยเฉพาะพลเมืองในประเทศกลุ่มเปราะบาง

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ 36 ประเทศร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติเปิดตลาดอาหารและสินค้าเกษตรเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการจำกัดที่ไม่เป็นธรรมเช่นการห้ามส่งออกอาหารและปุ๋ย ซึ่งจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ซ้ำเติมปัญหาความอดอยาก ยากจนและการขาดอาหาร จากการประชุม ‘Roadmap for Global Food Security-Call to Action’

คำถามคือประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในสองกระแสนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยส่งสัญญาณที่ผิดเป็นระยะ ๆ ที่ห้ามส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารและเน้นการควบคุมราคาพืชผลของเกษตรกรและอาหาร แทนที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตมาก ๆ และส่งออกมาก ๆ ที่เป็นปัญหามากเช่นกันคือไม่หาทางลดต้นทุนการผลิตเช่นปุ๋ย รวมทั้งไม่ได้หาทางให้มีการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ ไม่ได้หาทางช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตต่อไปได้

“นโยบายที่ผิดนี้ทำให้ประเทศไทยกำลังเสียโอกาสในการผลิตอาหารที่โลกกำลังขาดแคลน และประเทศไทยเองก็กำลังจะมีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนเข้ามาเป็นผู้บริโภค ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการทำรายได้และที่สำคัญคือทำให้เกษตรกรต้องเดือดร้อนเนื่องจากต้นทุนสูง อาจต้องขาดทุนและเป็นหนี้ หลายส่วนต้องหยุดการผลิตหรือหยุดทำมาหากินกันไปเลยเช่นชาวประมงเป็นต้น” นายจาตุรนต์ ระบุ

นายจาตุรนต์ระบุต่อว่า สิ่งที่กำลังเกิดกับประเทศไทยตรงข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็น รัฐบาลต้องรีบทำความเข้าใจกับปัญหานี้แล้วเปลี่ยนนโยบายเสียใหม่โดยเร็วที่สุดดังนี้ 1.ประกาศนโยบายเปิดตลาด หลีกเลี่ยงการจำกัดการส่งออก ส่งเสริมให้ประเทศไทยผลิตอาหารให้มากขึ้นเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก

2.หาทางลดต้นทุนการผลิต เช่นอุดหนุนค่าปุ๋ยและน้ำมันแก่เกษตรกร ลดการผูกขาดการนำเข้าปุ๋ย ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ภายในประเทศโดยเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดกลาง 3.หาทางดูแลการทำประมงให้อยู่รอดได้เพื่อรักษาแหล่งอาหารและวัถุดิบอาหารสัตว์

4.ทบทวนและแก้ไขนโยบายอาหารสัตว์ปี 64-66ที่จะเปิดให้นำเข้ากากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนกับปี 61-63 เสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยยกเลิกกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลี ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ยกเลิกการกำหนดโควต้าหรือเพิ่มโควต้าการนำเข้ากากถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ ยกเว้นภาษีหรือลดภาษีนำเข้าให้ต่ำลงมาก ๆ รวมทั้งยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมลงมาก ๆ

การทบทวนนโยบายการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์นี้นี้เพื่อให้มีการนำเข้ามากขึ้นและลดต้นทุนอาหารสัตว์ลง ซึ่งจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนโดยเร็วเพื่อภาคเอกชนผู้นำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ผู้เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนผู้ที่ทำธุรกิจจะได้วางแผนได้ถูกต้องทันการณ์ มิฉะนั้นจะไม่มีสินค้าให้นำเข้าและทำให้การเลี้ยงสัตว์ในประเทศต้องหยุดชะงักและเสียโอกาส


“การเร่งกำหนดนโยบายเปิดตลาด ส่งเสริมการผลิตและการส่งออกอาหารจะทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ภายใต้วิกฤตอาหารโลกไปด้วย หากแต่จะสามารถเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่เลี้ยงคนไทยเองและนักท่องเที่ยวหลายล้านคนที่จะเข้ามาและยังสามารถส่งออกอาหารไปช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหารในโลกและยังสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมากด้วย” นายจาตุรนต์ ระบุ