อาคมโชว์ตัวเลข จัดเก็บรายได้ 7 เดือน ทะลุ 1.27 ล้านล้าน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อาคม แจง ขยานเพดานหนี้สาธารณะ เปิดพื้นที่ทางการคลัง-กู้เพิ่ม โชว์ตัวเลข ปี’65 จัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรก ทะลุ 1.27 ล้านล้านบาท ลุ้น 5 เดือนหลังสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่รัฐสภา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวชี้แจงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ว่า มี 2 ประเด็น 1.ประเด็นรายจ่าย และ 2.ประเด็นรายได้

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับประเด็นรายได้ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี’65 ที่ประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท เทียบประมาณการจัดเก็บรายได้ 3 ปีที่ผ่านมา ปี 59-62 มากกว่าประมาณการ ส่วนที่ต่ำกว่าประมาณการก็มีเหตุผลในการจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจขยายตัว เรื่องของการจัดเก็บรายได้ก็จะได้ตามไปด้วย แต่เมื่อใดที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง รายได้ก็ชะลอตัวด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้นการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า หรือไม่ได้เพิ่มขึ้นก็มีเหตุผล ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 57 – ปัจจุบัน ในช่วงการจัดเก็บรายได้ลดลงก็จะมีช่วงปี’57 และ ปี’60 แต่แนวโน้มแม้จะเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ แต่ในแง่ปีต่อปีเก็บได้เพิ่มขึ้น 4 ปี คือ ปี’57 ปี’60 ปี’63 และ ปี’64

“ก่อนปี’57 มีเหตุผลให้การจัดเก็บลดลง 4 % ประเด็นสำคัญ คือ มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี’55 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สามารถเทียบเคียงกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ ซึ่งอัตราภาษีนิติบุคคลเดิมอยู่ที่ 30 % ลงมาเหลือ 23 % และ ปี’56 ลดลงมาเหลือ 20 % เท่ากับประเทศสิงคโปร์ ทำให้การจัดเก็บรายได้ในปี’57 ลดลง 4 % แต่ในปี’60 เนื่องจากปี’59 มีรายได้พิเศษเข้ามาในเรื่องของผลประโยชน์ เทคโนโลยี 4 G ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาเป็นพิเศษ” นายอาคมกล่าว

นายอาคกล่าวว่า ส่วนปี’63 กับปี’64 การจัดเก็บลดลงเนื่องจากสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะต้องปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะจบลงใน 1 ปี แต่ยืดเยื้อมาถึงปี’64 แต่เหตุผลที่สำคัญ ปี’63 นอกจากมาตรการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ยังมีมาตรการลดภาษี การช่วยเหลือภาคธุรกิจต่าง ๆ การช่วยเหลือภาคประชาชน เช่น การขยายเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี’63 และปี’64 และการลดภาระหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจาก 3 % เป็น 1.5 % ในปี’63

รวมถึงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ จาก 3 % เป็น 2 % หรือการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการนำเข้าและยกเว้นภาษีเงินได้จากการนำเข้าจากยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาโควิด และมาตรการจูงใจให้ประชาชนทำประกันสุขภาพ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนและการส่งเสริมการออมระยะยาว เป็นเหตุผลทำให้รายได้ลดลงในปี’63 ปี’64 แน่นอนว่า รายได้ที่ลดลงส่งผลให้การจัดทำงบประมาณส่วนที่ขาดดุลต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล

นายอาคมกล่าวว่า ในปี’65 จากการรรายงานผลการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ข้อมูลล่าสุด 7 เดือนแรก ปีงบประมาณ 65 (ต.ค. 64-เม.ย. 65) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ หักเรื่องการคืนภาษีและรายได้จัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บได้ 1.277 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 45,804 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.7 % และสูงกว่าปีที่แล้ว 4.5 %

ซึ่งจากการคาดการณ์ของหน่วยจัดเก็บกระทรวงการคลังคาดว่า 5 เดือนหลัง หรือ สิ้นปีงบประมาณ 65 รายได้การจัดเก็บภาษีจะเป็นไปตามประมาณการงบประมาณ อาจจะสูงกว่าไม่มากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รอบแรก 3 บาทต่อลิตร รอบสอง 5 บาทต่อลิตรเป็นระยะเวลา 2 เดือน

นายอาคมกล่าวว่า อย่างไรก็ตามในปี’65 อาจจะมีประเด็นว่า เนื่องจากเราอยู่ในสภาวะได้รับผลกระทบจากราคาอาหาร ราคาพลังงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน นักวิเคราะห์ทั้งหลายอาจจะมองว่า เราอาจจะได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจอาจจะไม่ได้โตอย่างที่คาดไว้

แต่หากพิจารณาจากดัชนีชี้วัดหลายตัว เฉพาะการส่งออก เรายังทำได้ดี ปี’64 ขยายตัวเกือบ 20 % ปี’65 ตั้งแต่ ม.ค.อยู่ที่ 12-25 % ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าในปี’66 รายได้ส่วนหนึ่งที่จะได้กลับมา คือ เรื่องของการเปิดประเทศ การรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งจะทำให้ฐานรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ มาใช้จ่ายในการลงทุน จึงคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท

นายอาคมยังชี้แจงการจัดทำงบประมาณขาดดุลในปี’57-ปี’64 เป็นเวลานาน ซึ่งไม่เป็นผลดีในเรื่องของความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายการคลัง โดยเฉพาะสถานการณ์หลังโควิด-19 การดำเนินนโยบายการคลังก็ต้องเข้าสู่โหมดปกติ

โดยเฉพาะการรักษาวินัยการเงินการคลังไว้ให้ได้ ใช้คำว่า ความยั่งยืนทางการคลัง ในการใช้จ่าย หรือ การลงทุน ไม่ว่าภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน ให้มองเรื่องของการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงการไม่ลงทุนทางเศรษฐกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องมองในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เราจะต้องมองอนาคต

“การเปิดช่องสัดส่วนงบประมาณในปี’63 รายจ่ายงบกลาง และการใช้จ่ายเงินกู้ของรัฐบาลต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี ปรับลดจากเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังกำหนดไว้ เป็นไปตามกฎหมาย มีการปรับลดโดยขยายกรอบของเพดานบนการใช้งบฯกลางให้มากขึ้น เพื่อที่จะรับเงินโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเข้าสู่งบฯกลางเพื่อใช้จ่ายแก้ไขปัญหาโควิด

ส่วนการชำระคืนเงินต้น การลดเพดานข้างบนจาก 4 % เหลือ 3.5 % เพื่อเปิดช่องให้มีสภาพคล่องในการใช้เงินกู้” นายอาคมกล่าวและว่า การปรับเกณฑ์งบฯกลางและการชำระคืนเงินต้น ประกาศแรก ปรับเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 63 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ปรับกลับมาเกณฑ์เดิม เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง

นายอาคมกล่าวว่า ส่วนการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60 % เป็น 70 % เพื่อเปิดพื้นที่ทางการคลังในกรณีจำเป็น มีขีดความสามารถในการกู้เงินเพิ่มได้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น หนี้สาธารณะในปัจจุบัน ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ 60.58 % ต่อจีดีพี ถ้าเราเอาเงินกู้โควิด-19 ออกไป สัดส่วนหนี้สาธารณะจะยังอยู่ที่ 52-55 % ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม จะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แนวนโยบายในการดำเนินการคลังในอนาคตต้องมองในเรื่องความยั่งยืนทางการคลังเป็นหลัก

“กรณีรายจ่ายในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างสูงขึ้น เช่น รายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุน ซึ่งเรามีลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาจำนวนมาก 179 โครงการ 2.6 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้ใช้งบประมาณประจำปี แต่เป็นงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ และงบฯลงทุนของเอกชน โดยความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP)” นายอาคมกล่าวทิ้งท้าย