รีดภาษีบาปเติมเงินเข้ารัฐ พลิกธุรกิจใต้ดินโปะหนี้ 10 ล้านล้าน

นำ
รายงานพิเศษ

รัฐบาลต้องเผชิญกับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” จากโควิด-19 ถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เงินเฟ้อ ข้าวของแพง เงินในกระเป๋าผู้คนขาดหาย

รัฐบาลจึงเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้ว่าจะมี “ภาษีตัวใหม่” เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ลดหย่อน-ผ่อนจ่ายในช่วงการระบาดของโควิด-19

ความหวังใหม่ของรัฐบาล ดูจะอยู่ที่การ “รีดภาษีบาป” หรือรายได้ที่มาจาก “ธุรกิจใต้ดิน” ให้ขึ้นมาอยู่บนดิน โดยการฟื้น “หวยบนดิน” สลาก 2 ตัว 3 ตัว ในยุครัฐบาลทักษิณ

หลังจาก “สลากดิจิทัล” ได้รับเสียงตอบรับจาก “นักเสี่ยงโชค” ล้นหลาม

“ไม่อยากให้เรียกหวยบนดิน และชื่ออย่างเป็นทางการที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะยังเป็นโครงการระยะกลางถึงระยะยาว 6-9 เดือนข้างหน้าถึงจะตกผลึกมากกว่านี้ก่อน” นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ประธานคณะอนุกรรมการการศึกษาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคาที่กำหนดระบุ

โดยช่องทางหลักในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”

“ขั้นตอนถัดไปในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม ไม่ต้องแก้กฎหมาย ผลิตภัณฑ์ใหม่จะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฉบับปัจจุบันทุกประการ ยืนยันไม่ใช่สลากกินรวบ เหมือนรัฐบาลสมัยก่อน”

นอกจาก “ผลิตภัณฑ์ใหม่” แล้ว ยังมีกัญชา-กัญชง ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ รวมถึงฉบับของ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ กับคณะ พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ

รายได้ที่รัฐจะได้จากร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชงฉบับนี้ จะมาจาก “ค่าธรรมเนียม” อาทิ อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอ อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุด และค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปลูก ฉบับละ 50,000 บาท ใบอนุญาตผลิต (สกัด) ฉบับละ 50,000 บาท ใบอนุญาตนำเข้า ฉบับละ 100,000 บาท ใบอนุญาตส่งออก ฉบับละ 10,000 บาท

ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกเฉพาะคราว ฉบับละ 20,000 บาท ใบอนุญาตจำหน่าย ฉบับละ 5,000 บาท การต่อใบอนุญาตเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น ค่าคำขออนุญาตหรือคำขออื่น ๆ คำขอละ 7,000 บาท

ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รายละ 100,000 บาท ค่าตรวจสถานประกอบการ ครั้งละ 50,000 บาท

กระท่อม-ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชกระท่อม พ.ศ. … โดยที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบ ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565

รายได้ที่รัฐจะได้รับจากการปลดล็อก “ใบกระท่อม” มาจาก “ค่าธรรมเนียม” เช่นเดียวกัน ดังนี้ อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าใบกระท่อม ฉบับละ 5,000 บาท ใบอนุญาตส่งออกใบกระท่อม ฉบับละ 5,000 บาท ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 1,000 บาท การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น

รวมถึงสุราก้าวหน้า-ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของพรรคก้าวไกล ซึ่งสภารับหลักการเช่นกัน

แม้ว่าจะเป็น “สุราก้าวหน้า” จะเป็น “ข้อยกเว้น” หลังจากกรมสรรพสามิต “ค้านสุดตัว” เพราะกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน

ทว่ากรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมีข้อเสนอแนะ เรื่องคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตและโรงอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตสุรา

“เพื่อกระทรวงการคลังที่จะหารายได้จากการออกใบอนุญาตและการเก็บภาษีให้มากขึ้น”

ขณะที่ฐานะทางการคลัง ปีงบประมาณ 2560 รายได้ 2,330,787 ล้านบาท รายจ่าย 2,864,993 ล้านบาท ดุลเงินงบประมาณ ติดลบ 534,206 ล้านบาท ดุลเงินนอกงบประมาณ 63,742 ล้านบาท ดุลเงินสด ติดลบ 470,463 ล้านบาท

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 552,921 ล้านบาท ผลกระทบต่อเงินคงคลัง 82,458 ล้านบาท ฐานะเงินคงคลังสิ้นงบประมาณ 523,757 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2561 รายได้ 2,555,157 ล้านบาท รายจ่าย 2,645,400 ล้านบาท ดุลเงินงบประมาณ ติดลบ 90,243 ล้านบาท ดุลเงินนอกงบประมาณ ติดลบ 300,436 ล้านบาท ดุลเงินสด ติดลบ 390,679 ล้านบาท

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 500,358 ล้านบาท ผลกระทบต่อเงินคงคลัง 109,678 ล้านบาท ฐานะเงินคงคลังสิ้นปีงบประมาณ 633,436 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2562 รายได้ 2,601,803 ล้านบาท รายจ่าย 2,667,717 ล้านบาท ดุลเงิน
งบประมาณ ติดลบ 65,913 ล้านบาท ดุลเงินนอกงบประมาณ 403,545 ล้านบาท ดุลเงินสด ติดลบ 469,459 ล้านบาท

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 348,978 ล้านบาท ผลกระทบต่อเงินคงคลัง ติดลบ 120,481 ล้านบาท ฐานะเงินคงคลังสิ้นปีงบประมาณ 512,955 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2563 รายได้ 2,367,520 ล้านบาท รายจ่าย 2,818,874 ล้านบาท ดุลเงินงบประมาณ ติดลบ 451,354 ล้านบาท ดุลเงินนอกงบประมาณ ติดลบ 273,611 ล้านบาท ดุลเงินสด ติดลบ 724,965 ล้านบาท

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 784,115 ล้านบาท ผลกระทบต่อเงินคงคลัง 59,149 ล้านบาท ฐานะเงินคงคลังสิ้นปีงบประมาณ 572,104 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2564 รายได้ 2,502,531 ล้านบาท รายจ่าย 2,889,127 ล้านบาท ดุลเงินงบประมาณ ติดลบ 386,596 ล้านบาท ดุลเงินนอกงบประมาณ ติดลบ 333,153 ล้านบาท ดุลเงินสด ติดลบ 719,749 ล้านบาท

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 736,392 ล้านบาท ผลกระทบต่อเงินคงคลัง 16,642 ล้านบาท ฐานะเงินคงคลังสิ้นปีงบประมาณ 588,746 ล้านบาท

ส่วนหนี้สาธารณะล่าสุดเฉียด 10 ล้านล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 9.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.58