ไทยสร้างไทย แนะรัฐบาล ปรับสูตรคำนวณราคาน้ำมัน เพราะไม่เป็นธรรมต่อคนไทย

ไทยสร้างไทย ออกแถลงการณ์ แนะรัฐบาลปรับสูตรคำนวณราคาน้ำมัน เลิกอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ชี้ เป็นความโชคร้ายของประชานที่ถูกบริษัทรายใหญ่เอาเปรียบ – รัฐไม่ใส่ใจ

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 พรรคไทยสร้างไทย ออกแถลงการณ์พรรคไทยสร้างไทย เรื่อง แนวทางการช่วยเหลือประชาชนในวิกฤตราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงมาโดยตลอดและในปัจจุบันเกิดจากโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมต่อคนไทย เอื้อประโยชน์ให้บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ได้กำไรเกินควร เป็นโชคร้ายของประชาชนที่ถูกเอาเปรียบทั้งจากบริษัทรายใหญ่และภาครัฐที่ไม่ใส่ใจ

ทำให้ผู้บริโภคอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบต้องแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่มีอยู่จริงมาโดยตลอด แม้ว่ารัฐบาลจะได้มีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพและลดภาระราคาน้ำมันแพงออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยใช้วิธีทางการบริหารขอความร่วมมือโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ นำส่งกำไรส่วนรวมกว่า 8,000 ล้านบาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.) โดยราว 7,000 ล้านบาท ส่งเข้ากองทุนฯ เสริมสภาพคล่อง

ขณะที่อีก 1,000 ล้านบาท จะนำมาลดราคาเบนซิน 1 บาท ต่อลิตร นั้น มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด จึงขอเรียกร้องให้รัฐดูแลลดการเอาเปรียบและช่วยเหลือประชาชนในทันที

ประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม คือ 1.ราคาหน้าโรงกลั่นของไทย : ไม่สะท้อนกับต้นทุนการผลิตที่เป็นจริง เพราะการกำหนดค่าการกลั่นของไทยใช้สูตรการคำนวณที่คิดจากราคาหน้าโรงกลั่นของสิงคโปร์ โดยรวมค่าขนส่งจากสิงคโปร์มายังประเทศไทย เป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายสมมติซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเกินจริงอันเกิดจากสูตรการคำนวณดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากตัวเลขความผันผวนของราคาหน้าโรงกลั่นในช่วงระหว่างปี 2563 ถึง 2565 ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 8-10 เท่า จากปี 2563 อยู่ที่ 0.70 สตางค์/ลิตร ปี 2564 อยู่ที่ 0.89 สตางค์/ลิตร มาปี 2565 ขึ้นไปอยู่ที่ 5.86 บาท/ลิตร

ส่วนค่าการตลาดน้ำมัน : หากดูตัวเลขจะเห็นได้ว่า เจ้าของปั้มรายย่อยได้ประโยชน์เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับบริษัทโรงกลั่นน้ำมันและบริษัทน้ำมันรายใหญ่

พรรคไทยสร้างไทย จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นของไทยเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง อย่าเอาสูตรทางคณิตศาสตร์ที่บิดเบี้ยวนี้มาเปิดโอกาสให้ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ตักตวงผลประโยชน์กัน ในขณะที่ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะได้เดินหน้าเจรจาและขอความร่วมมือโรงกลั่นกับโรงแยกก๊าซ เพื่อเก็บกำไรเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ทำเพียงแค่นี้ไม่เพียงพอ เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นอกจากนี้ หากการแก้ไขปรับสูตรการคำนวณ

ไม่สามารถกระทำโดยเร็วได้ รัฐก็ต้องมีมาตรการชั่วคราวมาเยียวยาสถานการณ์ในเรื่องนี้ เช่น พิจารณาออกแนวทางการเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) จากรายได้และกำไรของบริษัทที่ทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

2.กรณีน้ำมันสูตรผสมสำเร็จรูปในแก๊สโซฮอล์ E20 และไบโอดีเซล ที่ผสมเอทานอลและน้ำมันปาล์ม ซึ่งเอทานอลและน้ำมันปาล์มในประเทศไทยต่างก็มีราคาสูงกว่าราคาอ้างอิงของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างมาก ทำให้ราคาน้ำมันดังกล่าวมีราคาสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันที่ไม่ผสม ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาซ้อนปัญหาเป็นงูกินหาง สร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมหาศาล

ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยแยกประเด็นข้อกังวลที่ว่า หากไม่มีการผสมเอทานอลและน้ำมันปาล์มแล้วจะไปกระทบกับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องออกจากโครงสร้างน้ำมัน โดยรัฐ สามารถกำหนดกลไกการช่วยเหลือและดูแลกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการเหล่านั้นได้อยู่แล้ว เช่น ด้วยวิธีการประกันราคาพืชผล เป็นต้น

3. กรณีเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมในการจัดสรรก๊าซหุงต้มจากแหล่งผลิตภายในประเทศ เรามีแหล่งผลิต LPG ภายในประเทศ อาทิ แหล่งบงกต แหล่งเอราวัณ แหล่งลานกระบือ แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการให้ประชาชนบริโภคก๊าซในราคาที่เป็นธรรมได้ ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตก๊าซในประเทศได้ถึง 3.3 ล้านตัน ต่อปี (ข้อมูลปี 2564)

แต่แทนที่จะจัดสรรก๊าซที่ผลิตภายในประเทศนี้ให้ภาคประชาชนเป็นหลักก่อน กลับเอาไปขายให้กับเหล่าผู้ประกอบธุรกิจโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งปริมาณการใช้ก๊าซส่วนนี้มีทั้งหมดประมาณ 2.7 ล้านตัน ต่อปี ทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคของภาคประชาชน ทั้งที่มีการใช้เพียง 2 ล้านตัน ต่อปี ซึ่งถ้าหากจัดสรรก๊าซ LPG ที่ผลิตภายในประเทศให้ภาคประชาชนก่อน ก็จะลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนอย่างมาก

ภายใต้โครงสร้างการจัดสรรก๊าซที่บิดเบี้ยวแบบนี้ ประชาชนจึงอยู่ในภาวะจำยอมต้องใช้ก๊าซที่โดนสูตรการคำนวณแบบราคาสมมติว่ามีการนำเข้าและการขนส่งจากเมือง Ras Tanura ประเทศซาอุดิอาระเบีย มายังประเทศไทย พูดง่ายๆ ก็คือ เอาของถูกไปให้เหล่าผู้ประกอบธุรกิจโรงงานปิโตรเคมี ส่วนของแพงมาให้ภาคประชาชนรับกรรมไป

ดังนั้น รัฐบาลต้องแก้ไขการบริหารจัดการ LPG ที่ผลิตในประเทศเสียใหม่ โดยให้ความสำคัญกับภาคประชาชนซึ่งเป็นการบริโภคในครัวเรือนรายเล็กๆ ก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนโรงงานปิโตรเคมีนั้น หาก LPG ที่ผลิตในไทยไม่เพียงพอ ก็ควรให้ไปซื้อจากบริษัทโรงกลั่นน้ำมันแทน ซึ่งสามารถต่อรองกันในเรื่องราคาด้วยอำนาจและความสัมพันธ์ทางธุรกิจได้อยู่แล้ว

พรรคไทยสร้างไทย เห็นว่า หากรัฐยังคงใช้โครงสร้างราคาน้ำมันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากสูตรการคำนวณที่ล้วนแต่สมมติขึ้นมาทั้งสิ้น จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ได้กำไรเกินควร และยังทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องรับภาระเกินความจำเป็น

ทำให้รัฐต้องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เงินเพื่อพยุงราคาน้ำมัน เป็นการสร้างภาระให้แก่ลูกหลานในอนาคต รัฐต้องรีบแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมันที่กล่าวมาข้างต้นอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนตัวเล็กที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้