“ยิ่งลักษณ์”อยู่อังกฤษในสถานะอะไร? อัยการไขหลักเกณฑ์ลี้ภัย ขอคุ้มครองด้านมนุษยธรรม 5 ปี-อยู่ยาว

ตามที่มีการเผยแพร่ภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตามสื่อต่างๆ และในโลกออนไลน์ ว่า ได้ไปปรากฏตัวที่กรุงลอนดอน ของประเทศอังกฤษ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้ประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะยื่นคำขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษมีความชัดเจนแจ่มชัดยิ่งขึ้นและเป็นเรื่องที่น่าติดตามขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่มีความคลุมเครือมาระยะหนึ่ง และหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำขอลี้ภัยต่อทางการของประเทศอังกฤษจริงจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างนั้น

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจะยื่นคำขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษว่าจะต้องมีเหตุผลสำคัญว่าไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศของตนได้เพราะเกรงกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้ง ข่มเหง รังแก ทำร้าย หรือถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นกรณีในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้ผู้ยื่นคำขอลี้ภัยอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกกลั่นแกล้ง ข่มเหง หรือถูกดำเนินคดี อันมีเหตุเนื่องมาจากสังคม วัฒนธรรม ศาสนา หรือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ เป็นต้น

“ผู้มีความประสงค์ขอลี้ภัยสามารถยื่นคำขอลี้ภัยได้ทันทีที่เดินทางมาถึงประเทศอังกฤษ โดยจะต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่อังกฤษเพื่อสอบถามถึงเหตุผลในการที่ขอลี้ภัย เช่น ถ้าเดินทางกลับไปประเทศของตนแล้ว ผู้ยื่นคำขอลี้ภัยจะถูกกลั่นแกล้ง ข่มเหง หรือถูกดำเนินคดีอย่างไร ทำไมถึงเกรงกลัวที่จะเดินทางกลับไปประเทศของตน และเจ้าหน้าที่จะพิจารณาตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งผู้ยื่นคำขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษมีสิทธินำนักกฎหมาย เช่น ทนายความเข้าไปพร้อมตนในการสัมภาษณ์ด้วยได้ และในการยื่นคำขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษต้องมีหลักฐานแสดงถึงสถานที่ที่จะใช้เป็นที่พักอาศัยในประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งอาจเป็นที่พักอาศัยของตนเองหรือเป็นของบุคคลอื่นที่ยินยอมให้พักอาศัยก็ได้ ผู้ยื่นคำขอลี้ภัยสามารถที่จะระบุในคำขอลี้ภัยของตนเพื่อขอลี้ภัยให้คู่สมรสและบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยก็ได้ หากคู่สมรสและบุตรอยู่กับผู้ยื่นคำขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษในขณะยื่นคำขอลี้ภัย หรือคู่สมรสและบุตรจะเลือกที่จะยื่นคำขอลี้ภัยต่างหากก็ได้ ในกรณีที่คำขอลี้ภัยได้รับการปฏิเสธจากกระทรวงมหาดไทยของประเทศอังกฤษ ผู้ยื่นคำขอลี้ภัยสามารถยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของกระทรวงมหาดไทยต่อศาลอังกฤษได้” อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบาย

ดร.ธนกฤตกล่าวว่า หากได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในประเทศอังกฤษได้ ผู้ยื่นคำขอลี้ภัย รวมทั้งคู่สมรสและบุตรจะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากพ้นระยะเวลา 5 ปีแล้ว หากผู้ลี้ภัยยังสามารถแสดงให้เห็นว่าตนเองยังคงมีความเกรงกลัวที่จะต้องถูกกลั่นแกล้ง ข่มเหง หรือถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมหากเดินทางกลับไปประเทศของตนอยู่อีก ผู้ลี้ภัยก็สามารถยื่นคำขอมีถิ่นพำนักในประเทศอังกฤษได้

“อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ยื่นคำขอลี้ภัยคนใดจะไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศอังกฤษเนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประเทศอังกฤษกำหนดไว้ ผู้ยื่นคำขอลี้ภัยคนนั้นรวมทั้งคู่สมรสและบุตรก็อาจได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยในประเทศอังกฤษด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมเพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง เป็นระยะเวลา 5 ปี และเมื่อพ้น 5 ปี แล้วก็สามารถยื่นคำขอมีถิ่นพำนักในประเทศอังกฤษได้เช่นเดียวกัน” อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์