ทีมกฎหมายปชป. ชี้ชัด คำสั่ง คสช. ขัดรธน. ลุยยื่นผู้ตรวจฯ-ศาลรัฐธรรมนูญ

ทีมกฎหมายปชป. ชี้ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 มีเหตุให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เหตุสร้างภาระให้ประชาชนเกินจำเป็น เพราะต้องอาศัยหน่วยงานราชการกว่า 14 หน่วยงาน ยืนยันคุณสมบัติ เผย 2ช่องทาง ยื่นผู้ตรวจการในนามพรรค –ยื่นส่วนบุคคลต่อศาลรธน.โดยตรง

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 8 มกราคม นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์แถลงภายหลังการประชุมทีมกฎหมายว่า ทีมกฎหมายมีความเห็นเบื้องต้น ให้ควรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้าคสช ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพบประเด็นว่า 1. แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะรับรองอำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไว้ แต่ไม่สามารถใช้ออกคำสั่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติได้ และไม่ได้ใช้เพื่อการปฏิรูปและรักษาความสงบตามเงื่อนไขที่มาตรา 44 กำหนดไว้ 2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ยังเข้าข่ายสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับสมาชิกพรรคการเมือง ที่ต้องทำหนังสือต่อหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน พร้อมต้องรับรองว่า มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้สมาชิกพรรคการเมือง ต้องไปขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ(สตช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ศาลยุติธรรม ศาลล้มละลาย และอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 14 หน่วยงาน และเป็นไปไม่ได้ที่ คสช. และหน่วยงานเหล่านี้ จะอำนวยความสะดวกรับรองให้สมาชิกพรรคการเมือง ทั้งหมดกว่า 3 ล้านคน และถ้าไม่สามารถยืนยันได้ในกรอบเวลา ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า 3. การออกคำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยังเข้าข่ายไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขไว้ ถือว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ 4. แม้คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ฉบับนี้ มีนัยยะ ต้องการให้สมาชิกพรรคการเมือง มีเวลาทบทวนตัวเอง แต่ในขณะที่พรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมเพื่อกำหนดนโยบายหรือตัวผู้บริหารพรรคได้ จึงไม่มีเหตุที่สมาชิกพรรคการเมืองต้องมาทบทวนตัวเอง และ 5.เนื้อหาสาระในคำสั่งฉบับนี้ เข้าข่าย เลือกปฏิบัติ ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองใหม่กับพรรคการเมืองเก่า

“ดังนั้นในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้จะนำข้อสรุปของทีมกฎหมาย เข้าหารือกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อตัดสินใจ ว่าจะยื่น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือไม่ โดยเบื้องต้นแล้วคิดไว้ 2 ช่องทาง คือ สามารถยื่นในนามพรรคผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามช่องทางปกติ และสามารถยื่นส่วนบุคคลต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ในกรณีของสมาชิก พรรคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะกระทบคนหมู่มาก และส่วนตัวแล้วคิดว่าจะใช้สิทธิ์ส่วนบุคคลยื่นโดยตรงด้วย”นายวิรัตน์ กล่าว

ที่มา มติชนออนไลน์