“วิษณุ”เผยย้ำเงื่อนไขออก ม.44 กับ ครม. กันขอใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ เตรียมออก พ.ร.บ.รองรับหลัง คสช.พ้นอำนาจ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 10 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการหลักการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาว่า ได้ชี้แจงเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา เหตุเพราะมีหน่วยงานของหลายกระทรวง เสนอเพื่อขอให้ใช้คำสั่งมาตรา 44 จำนวนมาก หากไม่วางหลักเกณฑ์ไว้ ก็จะทำให้คำสั่งออกมามากเกินไป จึงต้องวางหลักเกณฑ์ว่าเรื่องใดบ้างที่จะใช้มาตรา 44 เพื่อเก็บเอาไว้ออกคำสั่งในเรื่องที่สำคัญจริงๆ

“หลักเกณฑ์นี้ใช้กันมานานแล้ว แต่เป็นหลักเกณฑ์ที่รู้กันอยู่ในใจ ครั้งนี้จึงต้องมาย้ำให้เข้าใจ เพราะ คสช.ก็มีการเปลี่ยนคนมาอยู่เรื่อยๆ บางคนก็ไม่รู้ว่านโยบายเดิมเป็นอย่างไร และ คสช.ก็จะได้ช่วยกันดูด้วยว่าเรื่องที่เสนอมาให้ออก ม.44 นั้นเข้าเกณฑ์หรือไม่” นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวคิดที่จะเปลี่ยนคำสั่ง คสช.ออกเป็น พ.ร.บ. หลัง คสช.พ้นสภาพการบริหารงาน นายวิษณุกล่าวว่า ยังมีแนวคิดดังกล่าวอยู่ ซึ่งหลายกระทรวงก็ทำมาแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้เข้าสภา ก่อนหน้านี้ คสช.เคยให้นโยบายไปแล้วว่า สุดท้ายแล้วก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา เรื่องไหนที่จะต้องเปลี่ยนจะมีการเขียนระบุไว้ในคำสั่งชัดเจน เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่ คสช.จะพ้นไปหลังจากการเลือกตั้ง คำสั่งใดที่ยังไม่แปลงสภาพไปเป็นกฎหมายลูกแบบปกติก็ต้องพิจารณายกเลิก เราต้องขู่แบบนี้ ไม่เช่นนั้นกระทรวงเขาจะไม่ยอมทำ และจะสนุกกับอำนาจตามคำสั่งนี้ไปเรื่อย จึงต้องตั้งป้อมสกัดไม่ให้ออกมาตรา 44 ถ้าไม่จำเป็น ต้องมีข้อทดสอบว่าจำเป็นคืออย่างไร และให้ไปแปลงสภาพเป็นกฎหมาย สุดท้ายคือยกเลิกหมด หากถึงตอนนั้นเมื่อเขายกเลิกหมด แล้วไม่มีเครื่องมือทำงานก็อย่ามาโทษกัน

เมื่อถามว่าการยกเลิกจะยกเลิกโดยอัตโนมัติ หรือต้องออกกฎหมายยกเลิก นายวิษณุกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ถ้า คสช.ยังอยู่ สามารถออกคำสั่งมายกเลิกคำสั่งตัวเองได้ แต่เมื่อ คสช.พ้นไป ก็ต้องยกเลิกโดยพระราชบัญญัติ ยกเว้นว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งในทางบริหาร เช่น การย้ายคน ออกเป็นมติ ครม.ได้ แต่ถ้าคำสั่งนั้นมีผลเป็นกฎหมาย ก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ คือต้องเข้าสภา ซึ่งมีความเป็นไปได้เหมือนกันที่อาจจะออก พ.ร.บ.กลางฉบับหนึ่งเพื่อยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ต่อไปนี้ ทีเดียวไปเลย ขณะที่คำสั่งตามมาตรา 44 ก็จะหมดไปโดยปริยาย เมื่อ คสช.หมดอำนาจในการออกมาตรา 44 ก็ถือว่าหมดและไม่มีใครออกได้อีก ตรงนี้เราได้มีการสำรวจไว้หมดแล้ว ทำบัญชีไว้หมดแล้วว่าอะไรที่เลิกอัตโนมัติ อะไรที่ออกคำสั่ง คสช.มาเลิก อะไรที่อาศัยมติครม.เลิกได้ และอะไรที่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.มายกเลิก ทุกครั้งที่มีการออกมาตรา 44 ก็จะมีการคิดเผื่อล่วงหน้าไว้เสมอว่า สุดท้ายจะไปจบลงที่ตรงไหน ทั้งนี้ คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกไปแล้วมีประมาณ 50 ฉบับ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์