คสช.คิดข้ามชอตเลือกตั้ง ชงจัดรัฐบาล “เพื่อนบิ๊กตู่” พ้นกับดัก 2 พรรคใหญ่

กลไก-กติกาการเลือกตั้งใหม่ “คู่แข่ง” ทางการเมือง บนสังเวียนอำนาจ ต่างนำมาวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งไว้ใช้แก้เกม-ชิงความได้เปรียบเพื่อกลับเข้าสู่วงโคจรอำนาจ จาก “นักเลือกตั้ง” และกุนซือ-เสนาธิการรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ขุนพล 2 พรรคใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) บางคนออกหน้า-ออกตัว “สลายพฤติกรรม” บนเวทีวิชาการวงเปิดแจ้ง-ปิดลับ มีนักวิชาการ “หัวก้าวหน้า” เป็น conductor จับเข่า 2 พรรคใหญ่ให้ได้นั่งพูดคุยประสานักเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียง “กองเชียร์” ที่อยากเห็น ปชป.-พท.จับมือกัน (เฉพาะกิจ) คว่ำ “พรรคทหาร”

“มือกฎหมาย” สังกัดพรรคการเมืองน้อยใหญ่ สุ่มประเมินสถานการณ์ภายใต้คำสั่งเหล็กห้ามเคลื่อนไหว ทว่าไม่ได้ห้ามคิด ว่า หากรัฐบาล-คสช. ใช้บริการ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน บวกกับพรรคขนาดกลาง-เล็ก ยังไงก็มีคะแนนไม่ถึง 375 เสียง

ดัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช. คัมแบ็ก เป็น “นายกฯคนนอก”

อย่างไรก็ตาม หากฟ้าเป็นใจ “เกมเลือกข้าง” พลิกผัน “เข้าทาง” พล.อ.ประยุทธ์ รวมเสียง (แตก) ได้ “ข้ามแดนซักฟอก” ก็อาจจะเกิด “ระเบิดเวลา” เป็น “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองให้รัฐบาลใหม่ “อายุสั้น” เพราะถูกคมเขี้ยวนักการเมือง 2 พรรคการเมืองใหญ่จนมิดเขี้ยว

ทางเดียวที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะเถลิงบัลลังก์ “นายกฯคนนอก” ได้อย่างผ่าเผย-ลดความหวาดระแวงจากอุบัติเหตุการเมืองในภายภาคหน้า คือ “พรรค-นอมินีทหาร” มีแต้ม “ชนะขาด-ทิ้งห่าง” พรรคใหญ่ 2 พรรค ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ดั่งคำเชื้อชวนคนรุ่นใหม่ให้ออกมาพาเหรดตั้งพรรคการเมือง ของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจ เพื่อรวมเสียงเล็ก-เสียงน้อยและรวบนักการเมือง-คนใหญ่คนโตในท้องถิ่น จัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อนประยุทธ์” ไม่ง้อ 2 พรรคใหญ่ !

แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาล เปิดวอร์รูมวิเคราะห์ประชาธิปไตยแบบข้ามชอตว่า การเมืองเมืองไทยเป็นระบบศักดินา ทุกจังหวัดมีเจ้าพ่อ ทุกจังหวัดมีขุนพลอยู่ นี่คือโครงสร้างการเมืองเมืองไทย

“ประชาธิปไตยสมัยก่อนที่สวิตเซอร์แลนด์ ในหมู่บ้านทุกคนยกมือโหวต พอคนเยอะก็ต้องมีผู้แทนฯ มายุคสมัยนี้ คุณมีแพลตฟอร์ม (ชี้ไปที่มือถือ) เวลาโหวตเข้ามาในนี้ (มือถือ) ตรงเลยนะ ทุกเรื่อง แล้วอย่างนี้ผู้แทนฯจำเป็นเหรอ”

“ถ้าผมดีไซน์แพลตฟอร์มได้ ทุก issue ที่จะออกมาเป็นนโยบาย โหวตมา… เพราะฉะนั้นโครงสร้าง democracy เปลี่ยนนะ วันหนึ่งมันจะเป็นอย่างนี้นะ ตอนนี้มันยังไม่เกิด แต่รับประกันได้เลย ตอนนี้มันเริ่มแล้ว มีอะไรโหวตกัน”

สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล-คสช.ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาล-big data เพื่อนำข้อมูลพฤติกรรมของประชาชนมาออกแบบนโยบายโดนใจ-ตรงเป้า ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

แหล่งข่าวคนเดิมเปรียบเทียบประชาธิปไตยแบบผู้แทนฯ ในอนาคตจะถูก disrupt (ทำลายล้าง) เหมือนกับระบบการเงินในปัจจุบัน อย่าง bit coin ซึ่งตอนนี้อาจจะยังมองไม่ออก-คาดการณ์ไม่ได้ ว่าสุดท้ายแล้วมันจะไปหยุดอยู่ที่ตรงไหน แต่เขาเชื่อว่า ในวันข้างหน้าคนรุ่นใหม่จะเห็นว่าสถาบัน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

“คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าไม่เหมือนกัน คนรุ่นเราจำเป็นต้องมีผู้แทนฯดูแล แต่คนรุ่นใหม่มองว่า no need (ไม่จำเป็น) เพราะฉะนั้นตอนนี้จะไปทิ้งก็ไม่ได้ จะไป support เต็มที่ก็ไม่ได้ หน้าที่คุณคือ ต้องตามมัน”


เป็นประชาธิปไตยในแง่มุมแห่งอนาคตที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งหัวคะแนน-ผู้แทนฯ พรรคการเมืองอีกต่อไป