“บิ๊กตู่” หารือทวิภาคี “หลี่ เค่อเฉียง” ชวนนักลงทุนจีนลงทุนในอีอีซี-นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยเพิ่ม

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 เวลา 19.30 น. ณ สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา (Peace Palace) กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง (Mr.Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ร่วมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Mr.Wang Yi, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน นาย He Lifeng, ประธานคณะกรรมาธิการการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (Chairman of the National Development and Reform Commission) และนาย Zhong Shan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน (Minister of Commerce) ร่วมหารือด้วย ทั้งนี้ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาของจีนในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะส่งผลต่อพัฒนาการต่างๆ ในภูมิภาค เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของผู้นำจีนชุดปัจจุบัน จีนจะพัฒนาเป็นประเทศ “สังคมนิยมสมัยใหม่” ได้อย่างแน่นอน ซึ่งไทยพร้อมกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน บนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งไทยยังสนใจที่จะเรียนรู้ความสำเร็จในการดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศของจีนโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากภายในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งจีนยังมีบทบาทแข็งขันในการขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง MLC ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

นายกรัฐมนตรีไทยและจีน ยังชื่นชมความร่วมมือเศรษฐกิจไทย – จีน เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความมั่นใจมุ่งมั่นที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าทวิภาคี 120,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยไทยพร้อมจัดการประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 ในปีนี้ และพร้อมต้อนรับนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีนและคณะภาคเอกชนจีนจำนวนหลายร้อยรายจะเดินทางมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาทางธุรกิจ “Thailand – China: Strategic Partnership through Belt and Road Initiative and the EEC” และการเยี่ยมชมท่าอากาศยานอู่ตะเภาและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ซึ่งวิสาหกิจจีนหลายรายแสดงความ สนใจที่จะลงทุนในพื้นที่EEC โดยเฉพาะวิสาหกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวถึงความร่วมมือรถไฟไทย – จีน โดยได้มีสารแสดงความยินดีในโอกาสที่มีพิธีเริ่มการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ว่า โครงการรถไฟไทย-จีน เป็นสัญลักษณ์สำคัญของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและจีน และเชื่อว่าความสำเร็จของการเริ่มต้นโครงการฯ จะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในด้านต่างๆ อีกมากมาย ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนของทั้งสองประเทศร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีจีนยังกล่าวยืนยันที่จะสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยโดยเฉพาะข้าวและยางพารา ตามที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเคยตกลงกันไว้ พร้อมมุ่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยให้มากขึ้น


นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจีนได้เปิดสำนักงานความร่วมมือด้านนวัตกรรมของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ที่กรุงเทพ เชื่อว่าไทยกับจีนจะมีความร่วมมือด้านนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศและยกระดับอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งการส่งเสริมการฝึกอบรมบุคลากรอาชีวะ และพัฒนาฝีมือแรงงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้มีบุคลากรและแรงงานไทยทักษะความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังได้ให้สิทธิพิเศษสำหรับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในไทยด้วย