
เพราะการศึกษาถือเป็นบันไดขั้นสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญของการพัฒนาประเทศให้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ด้วยความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยกลายเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษา สุดท้ายจึงอาจเกิดเป็นผลกระทบด้านสังคมและชีวิตเป็นวงกว้างตามมา
เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่การเรียนรู้ตามวัยอย่างเหมาะสม และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสครั้งที่สอง ทำให้หลายภาคส่วนอาสาเข้ามาเสริมพลังและผลักดันเด็กและเยาวชนได้เรียนหนังสืออีกครั้ง หนึ่งในนั้นมี บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ที่ได้ดำเนินโครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและอนาคตของเยาวชนไทยอีกทางหนึ่ง
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
จากความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาตลอด 22 ปี ตั้งแต่ปี 2544 บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด จึงจัดงานสัมมนา ‘22 ปี โครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า ส่งต่อแนวคิด สร้างคน สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด’ เพื่อส่งต่อแนวคิด ถ่ายทอดบทเรียนการทำงานเพื่อสังคม โดยช่วงต้นของงานสำคัญครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ โครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย เผยถึงลักษณะพิเศษของโครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า ว่า สิ่งสำคัญและเจตนารมณ์ตั้งแต่เริ่มแรกของโครงการฯ คือ ปณิธานและความตั้งใจจริงของคุณศุภชัยและคุณสงวนศรี ที่อยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน อยากตอบแทนบ้านเมือง ผ่านการสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสร้างคุณประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่มองไกลไปข้างหน้า เวลาที่ผ่านมา 22 ปี ได้บทเรียนที่มีค่าให้กับหน่วยงานให้ทุนการศึกษาอื่นๆ อย่างยิ่ง
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของโครงการฯ คือ การวางเป้าหมายชัดเจน โดยสนับสนุนให้นักเรียนผู้ได้รับทุนการศึกษา มีโอกาสได้รับการอบรมสั่งสอนและได้พบสิ่งดีงามของความเป็นไทย ไปจนถึงด้านศาสนา วิธีการใช้ชีวิต นอกจากนั้นยังมีเรื่องการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีการติดตามและรวบรวมข้อมูลของนักเรียนทุนถึงปัญหา ความต้องการการช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขาก้าวพ้นช่วงเวลาในแต่ละปีไปจนเรียนจบ พร้อมเผชิญหน้ากับชีวิตเมื่อเรียนจบ และก้าวเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ มีคุณภาพของประเทศต่อไป
“22 ปี เป็นเวลาที่ยาวนานมาก บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กิจกรรมตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบันเองก็มีการปรับเปลี่ยนตามบริบทสังคม เพื่อให้ลูกหลานได้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง เป็นการลงทุนลงแรงและความคิดเยอะมาก สิ่งนี้เองทำให้โครงการฯ ไม่เหมือนหน่วยงานให้ทุนอื่น”
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวด้วยว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จอีกอย่างของโครงการฯ คือ หลังจากนักเรียนผู้ได้รับทุนสำเร็จการศึกษาแล้ว เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะรวมกลุ่มเป็นชมรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม บ้านเมือง และการกุศลต่างๆ ซึ่งตนมองว่าเป็นผลมาจากการอบรมบ่มนิสัยว่า เมื่อเป็นนักเรียนทุนและเยาวชนไทยแล้ว เมื่อเรียนจบแล้ว เมื่อเติบใหญ่แล้ว เขาต้องรับผิดชอบบ้านเมือง ทำให้ลูกหลานเกิดความตระหนักขึ้นมาว่า ต้องรับผิดชอบเพื่อบ้านเมือง เป็นการตอบแทนโอกาสที่ได้รับมา
พร้อมกันนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม ยังได้ขยายนิยามของคำว่า ‘อบรมสั่งสอน’ ไว้ด้วยว่า จริงๆ แล้วคำว่า ‘อบรมสั่งสอน’ คือการบ่งบอกถึงหน้าที่ของคนเป็นครูว่าต้องอบรมทั้งเรื่องการใช้ชีวิต และสั่งสอนความรู้ ดังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่เคยตรัสไว้ว่า นิยามของคำว่าอบรมคือ การฝึกฝนจิตใจให้ติดเป็นนิสัย ไม่ใช่สอนหนังสืออย่างเดียว และกำหนดเป้าหมายไว้ด้วยว่า ลูกศิษย์ต้องเป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนกตัญญู ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการฯ ด้วย
การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชนไทยทุกคนควรได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ ชายแดน การให้ทุนนี้จึงเปรียบเป็นการยื่นโอกาสให้พวกเขาได้เข้าถึงการศึกษาจนเรียนจบ
นอกจากเรื่องความรู้แล้ว ‘ความซื่อสัตย์และกตัญญู’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของคุณธรรมข้ออื่นๆ ทั้งยังเป็นเครื่องที่ร้อยและกรองคนในแต่ละเจเนอเรชันให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปด้วยความอบอุ่น มั่นคง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความอกตัญญูขึ้น ความต่อเนื่องตรงนี้ก็จะขาดไปทันที เพราะฉะนั้นจึงอยากฝากถึงนักเรียนทุนที่เรียนจบไปแล้วและกำลังเรียนอยู่ ต้องไม่ลืมคำว่า กตัญญูและซื่อสัตย์
“ทุนการศึกษาเป็นการเกื้อกูลกัน แต่อย่าให้เฉพาะทุน ให้ความดีด้วย กล่าวคือ เด็กไทยควรจะได้เรียน 3 อย่าง คือ เรียนความรู้ เรียนทำงานเป็น เรียนความดี ถ้าครูและโรงเรียนสอนแต่ความรู้ แล้วไม่ฝึกฝนให้เขาทำงาน อย่ายึดโยงวิธีรวยเร็ว กล่าวคือต้องฝึกให้เด็กทำงานตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เด็กมีสัมมาอาชีพ เรียนรู้ว่าการทำงานกับเพื่อน เขาต้องปรับตัวอย่างไร เขาจะรู้ว่าความสำเร็จคืออะไร และเขาจะรู้ว่าความล้มเหลวคืออะไร ถือเป็นบทเรียนทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญมากๆ คือ ให้ความรู้ ให้ทำงานเป็น และให้ความดี”
ช่วงท้าย ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม ยังฝากแง่คิดให้กลุ่มนักเรียนทุน ตลอดทั้งเยาวชนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ ไปจนถึงคนที่เรียนจบออกไปทำงานแล้วด้วยว่า เมื่อเรียนจบไปแล้ว ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องมีวินัยทางการเงิน อย่าใช้เงินเกินตัว เก็บออมเยอะๆ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด ยิ่งกว่านั้นถ้าสามารถมีความพอเพียง ยิ่งส่งผลดีต่อชีวิต ลองศึกษาหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตก็ได้
นอกจากนั้น ต้องหมั่นฝึกตนให้เป็นคนคิดบวก สร้างสรรค์สิ่งดีๆ อย่าคิดทำลาย ต้องก้าวทันต่อนวัตกรรมและความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้ชีวิตทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข้างหน้ามีอะไรอีกมากมายกำลังรออยู่ ต้องฝึกตนเองให้มองทุกอย่างแล้วรับมือได้ อย่าเพิ่งท้อถอยสิ้นหวัง ซึ่งตนหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ได้
“ขอชื่นชม คุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย คุณสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย และทีมงานทุกคน ที่ได้สร้างโครงการกองทุนนี้ขึ้น เป็นโครงการกองทุนที่มีปณิธานชัดเจน มีเป้าหมายชัดเจน มีการหล่อหลอมความรู้และคุณธรรมตามไปด้วย นอกจากนั้นยังมองนักเรียนทุน 3,000 คนเหมือนลูก เป็นห่วงเป็นใยตลอดเวลา ก็หวังว่าจะเป็นตัวอย่างของการให้ทุนที่ดีงามของประเทศเราต่อไป” องคมนตรีและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์โครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า กล่าวส่งท้าย