โครงการทุนการศึกษา “ชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้า”  จาก 22 ปี ของการทำเพื่อสังคมสู่การสร้าง Social Empowerment เพื่อประเทศ

“การทำงานเพื่อสังคมที่ให้โอกาสทางการศึกษาจะยั่งยืนได้ มิใช่เพียงการสนับสนุนทุนทรัพย์ เพียงอย่างเดียว แต่เรายังต้องใส่ใจในทุกกระบวนการแห่งการเรียนรู้ ตั้งแต่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ที่เหมาะสมกับยุคสมัย การยกระดับด้านจิตใจ

ทั้งจริยธรรมและคุณธรรม เพื่อให้เขาเติบโตมา  เป็นพลเมืองคุณภาพที่พร้อมสร้างคุณประโยชน์ กลับคืนสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เหมือนดั่ง ที่ตนเองได้รับโอกาสมา” 

คำสำคัญที่สงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย กล่าวสรุปถึงหัวใจสำคัญของการทำงานโครงการทุนการศึกษา บริษัท  กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ที่หลายคนบอกว่า การทำงานเพื่อสังคมด้านการศึกษาสำหรับเอกชนที่จะลงทุนลงแรงในทุกด้าน เป็นสิ่งที่หาได้ยากแล้วในสังคมไทย  นับเป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่ชาร์ปกรุงไทย การไฟฟ้าทำงานเพื่อสังคมด้วยการให้โอกาสทาง

การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศถึงสองพันกว่าคน โดยที่ไม่เคยบอกให้สังคมรู้ว่าเป็นผลงานของตนเอง 

ก่อให้เกิดคนดี พลเมืองคุณภาพขึ้นในทุกวงการ ไม่ว่าจะ ทหาร ตำรวจ ครู หมอ พยาบาล ข้าราชการฝ่ายต่างๆ เกษตรกรรุ่นใหม่ วิศวะ นักวิจัย นักบริหาร ที่ทำหน้าที่ดูแลทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน รวมถึงในภาคเอกชนเองที่มี

ศิษย์เก่าโครงการทุนฯ เข้าไปทำงานในหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศของเราให้ก้าวเดินได้อย่างมั่นคง ท่ามการการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21ภาพความสำเร็จของโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด  สะท้อนปณิธานอันแรงกล้า ของคุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย และคุณสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย ผู้บริหารโครงการทุนฯ ที่อยากตอบแทนบ้านเมือง ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินผ่านการให้ทุนการศึกษาแก่ ผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่มโดยไม่มีเงื่อนไข  “เราไม่เคยคิดว่ามันยาก เพราะเราไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนคืน เราไม่ได้ทำงานเพื่อให้ได้ชื่อทางธุรกิจ เราทำเพื่ออยากจะให้โอกาสและสร้างคนคืนประเทศ” ศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ได้กล่าวประโยคที่สะท้อนปณิธานสำคัญ 

ก้าวต่อไปของโครงการทุนฯ หลังจากนี้ คือ  การส่งต่อแนวคิด Role Model ภูมิทัศน์ใหม่แห่งการให้ทุนการศึกษาที่สร้างคนคุณภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมให้นักเรียนทุนและศิษย์เก่านักเรียนทุนได้ทำงานด้านการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่าย และสานต่องานที่เป็นรูปธรรมและสามารถสร้างการทำงานด้านสังคม ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จัดเวทีรวมพลังส่งต่อแนวคิดสร้าง “คน”  สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด “ประสานประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม  ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วมันจะกลายเป็นพลังทวีคูณ” ปัจฉิมบทที่ สงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย ได้ทิ้งท้ายไว้ในหนังสือ 22 ปี โครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า ส่งต่อแนวคิด สร้างคน สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด น่าจะเป็นบทสรุปก้าวสำคัญของความร่วมมือที่เกิดขึ้น ที่จะนำผลลัพธ์ ของการทำงานเพื่อสังคมด้านการให้โอกาสทางการศึกษา และการรวมตัวกันระหว่างภาคีเครือข่ายสำคัญของประเทศ ที่จะร่วมกันทำงานส่งเสริมศักยภาพของการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดและสร้างโมเดลตัวอย่างของการทำงานเพื่อสังคม  โดยมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งต่อแนวคิด สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดขึ้น ซึ่งได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดงาน พร้อมผู้บริหารโครงการทุนกรุงไทยการไฟฟ้า และคณะกรรมการ ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรสำคัญด้านการพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนระดับประเทศเข้าร่วมงาน สาระสำคัญของกิจกรรมในครั้งนั้น นอกจากการเสนอผลลัพธ์งานวิจัยโครงการทุนการศึกษาฯ 

โดย ผศ.ดร.สราวุธ เวชกิจ หัวหน้าทีมวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังเป็นการร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาที่ตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิตของ ผู้เรียน ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่เท่าทันสถานการณ์โลก สถานการณ์ประเทศ ผลักดันศิษย์เก่าที่เคยได้รับทุนกรุงไทยการไฟฟ้าและกลับไปพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดได้มี

เครือข่ายร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น เชื่อมต่อสังคม ให้เกิดเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่  สำหรับบทเรียนสำคัญที่ได้จากผลลัพธ์งานวิจัยฯ  พบว่าการจะทำงานด้านการให้ทุนการศึกษา ให้ประสบความสำเร็จ นอกจากความมุ่งมั่นของผู้บริหาร และ

งบประมาณที่ต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแล้ว การทำงานต้องมีระบบการจัดการที่ดี โดยเฉพาะการจัดการข้อมูลผู้รับทุน ทั้งยังต้องมีกระบวนการทำกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับทุนต่อเนื่อง มีการติดตามและประเมินผล ถึงจะได้ผลสัมฤทธิ์

ที่เยาวชนได้ศึกษาต่อเนื่องจนถึงปริญญาตรี มีงานทำ กลับไปพัฒนาท้องถิ่น ที่สำคัญ คือ กระบวนการการปลูกฝังคุณธรรม

และแนวคิดที่สร้างสรรค์สังคม ซึ่งเห็นได้จาก DNA ของผู้ที่ได้รับทุน คือ พวกเขาต้องการคืนประโยชน์สู่สังคมรอบข้างในวันที่พวกเขามีอาชีพและศึกษาจบ เหมือนที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังทัศนคติของการให้จากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างรับทุน 

โมเดลดังกล่าวนี้ สามารถนำไปศึกษาเปรียบเทียบความเป็นไปได้และพัฒนารูปแบบการสร้างและให้โอกาสทางการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยได้ในอนาคต ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หนึ่งในภาคีเครือข่ายสำคัญของกรุงไทยการไฟฟ้า ได้รับไม้ต่อนำผลลัพธ์งานวิจัยชิ้นนี้ไปขยายผลในฐานข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์แก่นักการศึกษาและผู้ที่สนใจนำไปใช้วิเคราะห์ ใช้ประโยชน์ต่อไป 

Social Empower เสริมสร้างพลังทางสังคม หากย้อนดูการทำงานเพื่อสังคมของกรุงไทยการไฟฟ้า จะพบว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชนที่จะเป็นกำลังของประเทศ ในปี 2566 การทำงานในรูปแบบ Social Empowerment เสริมสร้างพลังทางสังคมของกรุงไทยการไฟฟ้าจึงเป็นก้าวที่น่าสนใจ เพราะได้เชื่อมภาคีเครือข่ายสำคัญ ที่จะพัฒนานิเวศการเรียนรู้ไว้ทั้งระบบ ตั้งแต่ตัวนักเรียนทุน ผู้ที่มีบทบาทต่อห่วงโซ่การเรียนรู้ที่สำคัญอย่าง บุคลากรครู จนถึงปลายน้ำคือสังคมโดยรอบโดยทำงานร่วมกับภาคีสำคัญอย่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ผลิตโครงการก่อการครูเกิดโมเดลของบุคลากรด้านการศึกษา ส่งต่อจากผู้สอนสู่ความร่วมมือของชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ เกิดเป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สำคัญ เชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ให้สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนและท้องถิ่นได้ เกิดเป็นโหนดการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง กรุงไทยการไฟฟ้าได้สนับสนุนโหนดการเรียนรู้ภาคอีสานที่มีความเข้มแข็งทั้งครูผู้สอน ผู้เรียนคือเยาวชนและชุมชน ได้แก่ นิเวศการเรียนรู้กาฬสินธุ์ และนิเวศการเรียนรู้มหา’ลัยไทบ้าน (จังหวัดขอนแก่นและเลย)และนิเวศการเรียนรู้อุดรธานีซึ่งมีเป้าหมาย 3 ระดับ ได้แก่ เป้าหมายระดับบุคคล คือบุคลากรทางการศึกษาได้รับการส่งเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน ผู้เรียนเองเกิดการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการคิดที่เชื่อมโยงความหลากหลายระหว่างผู้เรียนกับท้องถิ่นได้ เป้าหมายระดับเครือข่าย เกิดการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ของตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตนเอง เป้าหมายระดับประเทศ เกิดกลไกขับเคลื่อนการศึกษาระหว่างโรงเรียนกับชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง โดยสนับสนุนงบประมาณให้กับการพัฒนาโหนด พัฒนาเวทีเยาวชนสร้างสรรค์ (creative youth) ในพื้นที่ และติดตามถอดบทเรียนนำมาเป็นนวัตกรรมของเยาวชนในพื้นที่ 

สำหรับแผนงานในระยะถัดไปโครงการทุนกรุงไทยการไฟฟ้า จะสนับสนุนให้กลุ่มนักเรียนทุนทั้งที่เป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันในส่วนที่อยู่ในคณะด้านการศึกษาเข้าไปมีบทบาทในการทำงานกับโครงการก่อการครูในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองเพื่อเป็นการคืนคุณค่าแก่ท้องถิ่น การทำงานในส่วนนี้จะสอดคล้องกับการทำงานที่โครงการทุนฯ มีแผนงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนศิษย์เก่าที่มีความเข้มแข็งสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง อาทิ ศิษย์เก่าเป็นผู้นำวิสาหกิจสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน ทำการเกษตรสมัยใหม่ส่งออกต่างประเทศ จึงดึงเครือข่ายอย่าง สสส. หอการค้าจังหวัด ชุมชน สร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ ลดปัญหาคนรุ่นใหม่ทิ้งท้องถิ่นเข้าสู่เมือง ศิษย์เก่าที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมด้านสุขภาพในพื้นที่ให้กับท้องถิ่นของตนเอง 

โดยมีเครือข่ายร่วมกันสนับสนุน เป็นต้น 

แนวคิดและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เหล่านี้ที่เกิดจากการสร้างพลังทางสังคม โดยมีภาคเอกชนที่ทำงานด้านนี้มายาวนานกว่าสองทศวรรษ เป็นหมุดหมายที่สะท้อนว่าสังคมควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐที่ควรเร่งสร้างยุทธศาสตร์สำคัญและเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาคนของประเทศด้านการศึกษา โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดให้กับทั้งผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อเชื่อมการเรียนรู้ที่มีให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์โลกและสังคมอย่างแท้จริง

การทำงานที่จะสร้างคน เพื่อคืนสู่สังคม สร้างนิเวศการศึกษาที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำได้ด้วยบุคคลหรือองค์กรใดเพียงองค์กรเดียว เส้นทางที่ยาวนานของภาคเอกชนที่่ทำงานด้านนี้อย่างทุ่มเททั้งงบประมาณ บุคลากรและกระบวนการจัดการที่ทำอย่างมีระบบจนเกิดผลลัพธ์คนคุณภาพให้กับประเทศทุกวงการ น่าจะทำให้สังคมได้เห็นภาพและยอมรับว่า หากจะทำงานด้านนี้ต้องมุ่งมั่นและผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ที่ไม่หยุดนิ่งในการเปิดโอกาสให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่การลงทุนงบประมาณจำนวนมหาศาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจและต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน คนละไม้คนละมือ ทั้งเรื่องแนวคิด เรื่องนวัตกรรม เรื่องการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการที่เราต้องเเสริมสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ฐานราก ไปจนถึงทุกห่วงโซ่ของสังคม นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้การศึกษาของเราตอบโจทย์เยาวชนคนไทย

ทุกคน ไม่เฉพาะคนส่วนน้อยที่ถูกเลือกอีกต่อไป