รู้จัก Bioeconomy อนาคตใหม่ขับเคลื่อนโลก

Bioeconomy คืออะไร เศรษฐกิจชีวภาพ

นานนับหลายทศวรรษ ที่โลกขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ดั้งเดิมและพลังงานฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลพิษ ตลอดจนวิกฤตต่าง ๆ มากมายของโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง “เศรษฐกิจชีวภาพ” (bioeconomy) จึงเป็นความรู้แขนงใหม่ที่แทบทุกประเทศ ดึงมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการใส่เทคโนโลยีลงไปในผลผลิตทางการเกษตร เพื่อแปรรูป เพิ่มมูลค่า หรือตลอดจนการใช้ทรัพยากรในรูปแบบ zero waste เศรษฐกิจชีวภาพ กำลังก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญของอนาคต

“ไทยแลนด์ 4.0” เป็นกลไก 1 ใน 5 ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ระบุไว้ใน “เศรษฐกิจกระแสใหม่” (new economy) ระบบเศรษฐกิจที่จะยกประเทศไทย จากประเทศรับจ้างผลิต สู่ประเทศที่ผลิตนวัตกรรมด้วยตนเอง

สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการทูตวิทยาศาสตร์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้จับมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พาภาคเอกชน นักวิจัย และนักศึกษาวิจัย เดินทางศึกษางานด้านเศรษฐกิจชีวภาพ และเข้าร่วมงาน Global Bioeconomy Summit 2018 ณ เยอรมนี ซึ่งถือเป็นประเทศที่เดินเครื่องขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม และเศรษฐกิจชีวภาพ ไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมหนักที่เป็นภาคส่วนที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างดี

“เยอรมนี” ฮับ Bioeconomy

ภายใต้แผน “National Research Strategy Bioeconomy 2030” และ “National Policy Strategy on Bioeconomy” เยอรมนีได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจชีวภาพของโลกอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นศูนย์รวมของสถาบันวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ทั้งของภาครัฐและเอกชนระดับโลกหลายแห่ง เช่น สถาบันวิจัย “Forschungszentrum Julich” ที่ทำงานวิจัยหลัก ๆ 3 ส่วน คือ พลังงาน นวัตกรรม และไบโอ “Berlin Adlershof Science City” คอมมิวนิตี้ขนาดใหญ่ในเมืองหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีกว่า 1,000 แห่ง รวมไปถึง “BiotechPark Berlin-Buch” สวนเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ประกอบด้วยหลายบริษัท และมีการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในห้องแล็บ รวมถึงมี “BioBank” ธนาคารชีวภาพ ซึ่งเก็บตัวอย่างเซลล์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ทั้งในห้องเย็นและบันทึกลงดาต้าเบส เพื่อลดต้นทุนในการศึกษาและการทำวิจัย

Anja Karliczek รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและวิจัย แห่งเยอรมนี กล่าวในเวที Global Economy Summit 2018 ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน ระบุด้วยความมั่นใจเชื่อว่า เศรษฐกิจชีวภาพ คืออนาคตของโลก คือการผสานชีวิตและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง เป็นศาสตร์ที่จะเพิ่มมูลค่าและเพิ่มจำนวนสินค้าทางการเกษตร สร้างโปรดักต์ใหม่ ๆ ที่ช่วยยกระดับชีวิตมนุษย์ ตลอดจนเป็นความมั่นคงของอาหารโลก ดังนั้น วันนี้ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันแบ่งปันความรู้ ร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา

EECI อนาคต “สมอง” ไทย

เมื่อโลกเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน รัฐบาลไทยก็มองเห็นความสำคัญของงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงมีการกำหนด “กรอบแนวคิดการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” หรือ “EECI” โดยมีเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นหนึ่งในสาขาความรู้สำคัญ เพื่อเป็น “innovation hub” นิคมวิจัยที่ประกอบหลัก ๆ3 ส่วนคือ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสายงานกิจการพิเศษ สวทช. ซึ่งดูแลกรอบแนวคิด EECI ระบุว่า ปัจจุบันไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีงานวิจัย แต่ส่วนใหญ่งานวิจัยในไทยคืองานวิจัยที่ขึ้นหิ้ง อยู่ในแล็บเท่านั้น ไม่สามารถต่อยอดทางการค้า หรือขยายผลสู่อุตสาหกรรมได้ เอกชนจึงมักซื้องานวิจัยที่ขยายผลจากต่างชาติ EECI จึงเป็นกุญแจสำคัญ เป็นพื้นที่ขยายผลวิจัย “จากหิ้งสู่ห้าง” ที่รัฐจะลงทุนให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้

“ปัจจุบันก็เริ่มมีบริษัททั้งไทยและต่างชาติสนใจในการลงทุน มีคุย ๆ กันอยู่ อย่างเช่น มหาวิทยาลัย Tokyo Institute of Technology จากญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีแล็บอยู่ที่ สวทช. และเริ่มมาเซอร์เวย์ EECI ซึ่งการลงทุนด้านการวิจัย เขาต้องการมันสมองจากคนไทยด้วย อย่างนักลงทุนจากเยอรมนี (ด้านงานวิจัย) ก็ให้ความสนใจเช่นกัน แต่จะให้เขาเข้ามา ต้องให้เขาเห็นโอกาสทางธุรกิจก่อน”

“เอกชน” ยังต้องการรัฐหนุน

ด้าน Prof.Dr.Ulrich Schurr ผู้อำนวยการวิจัยด้านไบโอและธรณีวิทยาจากสถาบันวิจัย Julich ของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนมองประเทศไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่อีกมาก แตกต่างจากเยอรมนีที่ปัจจุบัน การพัฒนามักเป็นการต่อยอดเศรษฐกิจเก่าสู่เศรษฐกิจใหม่ การพัฒนาในประเทศไทยจึงน่าตื่นเต้น และถ้าเป็นไปได้ Julich ก็อยากมีบทบาทในการพัฒนาของไทย แต่เรื่องการลงทุนสถาบันวิจัย ดูจะเป็นก้าวที่ใหญ่เกินไปในวันนี้ จึงควรเริ่มต้นด้วยความร่วมมือด้านวิจัย เหมือนที่เคยทำกันมาให้มากขึ้น

ขณะที่เสียงของนักลงทุนไทยสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล รัฐบาลไทยต้องมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงหน่วยงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศเข้าหากัน ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รวมไปถึงบริษัทเอกชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและร่วมมือภายในและนอกประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐทำงานในรูปแบบบูรณาการให้เข้มข้นกว่าเดิม เพราะยุคนวัตกรรม ไม่ว่ากระทรวงไหนต่างมีพันธกิจในการขับเคลื่อนประเทศภายใต้ technology base ทั้งสิ้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ภาคเอกชนจะมีความล้ำหน้าภาครัฐไปบ้างในบางส่วน แต่ก็มีในภาคส่วนที่เอกชน “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” เช่นกัน