เปิดใจ “นิวเจนแอร์ไลน์” หวนคืน เจ้าตลาด “ชาร์เตอร์ไฟลต์”

สัมภาษณ์พิเศษ

ในปี 2560 ที่ผ่านมา สายการบิน “นิวเจน” หรือ New Gen Airways ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ด้วยการเพิ่มการให้บริการในรูปแบบเที่ยวบินประจำ หรือ schedule flight จากเดิมที่ให้บริการเฉพาะเช่าเหมาลำ หรือ ชาร์เตอร์ไฟลต์เป็นหลัก เพื่อขยายฐานการให้บริการแต่ยังไม่ทันที่จะบุกเปิดเส้นทางเที่ยวบินประจำอย่างเป็นจริงเป็นจังตามแผนที่วางไว้ก็ต้องพับแผนไปก่อน เพราะหลังจากที่ทดลองเปิดให้บริการเที่ยวประจำเส้นทางในประเทศโดยใช้ฐานการบินที่สนามบินโคราช (นครราชสีมา) สู่ดอนเมือง (กรุงเทพฯ), เชียงใหม่ และภูเก็ต ก็พบว่าไม่ใช้ทางถนัดของตัวเอง จึงต้องตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินประจำดังกล่าวไป

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “เจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่ สายการบินนิวเจน ผู้บริหารสายการบิน New Gen Airways ถึงทิศทางและแผนงานของสายการบินนิวเจน นับจากนี้เป็นต้นไปไว้ดังนี้

Q : ทำไมยกเลิกเที่ยวบินประจำเส้นทางในประเทศที่บินจากฮับโคราช

เราตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินประจำภายในประเทศทั้ง 3 เส้นทางคือ โคราช-ดอนเมือง (กรุงเทพฯ), โคราช-เชียงใหม่ และโคราช-ภูเก็ต ไปเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะเราพบว่า ทั้ง 3 เส้นทางได้รับการตอบรับดีเฉพาะในช่วงที่เป็นเทศกาลเท่านั้น แต่ในภาวะปกติยังมีจำนวนนักเดินทางไม่เพียงพอกับการให้บริการ หรือมีแต่ประมาณ 40% ของจำนวนที่นั่งที่เราให้บริการอยู่ เพราะถ้าจะให้คุ้มกับต้นทุนทั้งหมดเราต้องขายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 70% เราก็เลยบอกทางผู้ใหญ่ทางจังหวัดว่า เส้นทางโคราชนั้นเหมาะกับสายการบินที่ให้บริการด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก หรือ

เครื่องบินใบพัด ที่มีจำนวนที่นั่งประมาณ 70-80 ที่นั่งมากกว่า แต่เครื่องที่ทางสายการบินนิวเจนนำไปบินให้บริการนั้นเป็นโบอิ้ง 737 จำนวน 168 ที่นั่ง มันใหญ่เกินดีมานด์ตลาด

Q : สรุปตอนนี้นิวเจนถอยมาสู่ในจุดที่เป็นชาร์เตอร์ไฟลต์เหมือนเดิม

ใช่ครับ นิวเจน แอร์ไลน์จะกลับมายืนอยู่ในโพซิชั่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชาร์เตอร์ไฟลต์ เพราะมองว่าตลาดชาร์เตอร์ไฟลต์ยังมีอีกมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นตลาดจีนซึ่งเราถนัดอยู่แล้ว หรือประเทศอื่น ๆ ที่เขาติดต่อเรามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่มาเก๊า ฮ่องกง ฯลฯ

แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาของเราในขณะนี้คือ เราไม่สามารถขยายได้เยอะ เพราะเครื่องบินที่เรามีอยู่ไม่พอที่จะให้บริการ เฉพาะตลาดจีนตลาดเดียวตอนนี้เครื่องบินที่เรามีอยู่ 12 ลำ ก็ไม่พอที่จะให้บริการแล้ว ดังนั้น ตลาดอื่น ๆ ที่อยู่ในแผนจะขยายแล้วนั้นต้องรอเครื่องบินลำใหม่ที่อยู่ในแผนการเพิ่มเครื่องบินใหม่ทุก ๆ ปี ปีละ 4 ลำ เข้ามาก่อน

Q : แผนรับมอบเครื่องบินใหม่ปีนี้เป็นอย่างไร

ตามแผนเราจะรับเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินปีละ 4 ลำ โดยมีแผนรับมอบไตรมาสละ 1 ลำ แต่สำหรับปีนี้เราผิดแผนหมดเลย เพราะว่าตลาดความต้องการเครื่องบินใหม่มีสูงมาก การเป็นสายการบินขนาดเล็ก อำนาจต่อรองน้อยให้เสียเปรียบด้านการแข่งขัน ทำให้ในครึ่งปีแรกของปีนี้เราไม่สามารถรับเครื่องบินใหม่ได้ตามแผน

อีกปัญหาหนึ่งคือ ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์เครื่องบินใหม่ขาดตลาด เพราะบริษัทผลิตเครื่องบินทั้งแอร์บัสและโบอิ้งส่งมอบให้ลูกค้าได้ไม่ทันกำหนด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ ซึ่งเขาเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันให้ประหยัดมากขึ้น พอไปทำการบินแล้วมีปัญหา ก็ต้องกลับมาแก้ไข ซึ่งก็น่าจะใช้เวลาหลายเดือนในการปรับ พอบริษัทผลิตเครื่องบินส่งมอบ

เครื่องบินบินใหม่ สายการบินที่จะต้องส่งคืนเครื่องมือ 2 ก็ต้องขอต่อสัญญา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเราน่าจะได้เครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมในช่วงครึ่งปีหลังแน่นอน

Q : ตอนนี้ “นิวเจน” ให้บริการชาร์เตอร์ไฟลต์อยู่กี่เส้นทาง

ปัจจุบันเราให้บริการอยู่ประมาณ 30-32 เส้นทางบิน โดย 110% เป็นเที่ยวบินในรูปแบบชาร์เตอร์ไฟลต์ทั้งหมด และกำลังจะเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ก็จะรวมเป็น 32-34 เส้นทางบิน โดยในจำนวนนี้เกือบ 100% เป็นเส้นทางสู่เมืองต่าง ๆ ของประเทศจีน มีอื่น ๆ บ้างเช่น เมืองมะริด ประเทศเมียนมา หรือเมืองกายา ประเทศอินเดีย ที่นิวเจนทำการบินตามซีซันนิ่ง (ตุลาคม-มีนาคม)

แต่หากในครึ่งปีหลังนี้เราได้เครื่องบินใหม่เพิ่มเราก็เตรียมเพิ่มเส้นทางใหม่อีก 2 เส้นทาง สู่ 2 เมืองของจีน ซึ่งขณะนี้เรากำลังคุยเรื่องใบอนุญาตการบินอยู่

Q : วางเป้าหมายขยายเส้นทางบินใหม่สำหรับปีนี้ไว้อย่างไร

ตอนนี้เส้นทางบินที่เราวางไว้มีหลาย 10 เส้นทาง โดยเครื่องบินใหม่ 1 ลำ น่าจะทำให้เราเพิ่มเส้นทางบินใหม่ได้ 3-4 เส้นทางบิน แน่นอนว่า เป้าหมายของเราในปีนี้คือ การบินเข้าญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฯลฯ ซึ่งจะช้าหรือเร็วนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานการบินพลเรือนของแต่ละประเทศที่ให้ใบอนุญาตด้วยเช่นกัน

จริง ๆ ใบอนุญาตการบินของเราเป็นเที่ยวบินประจำ หรือ schedule flight อยู่แล้ว แต่เราบินเป็นชาร์เตอร์ไฟลต์แบบประจำ แต่จากแนวโน้มของตลาดที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางแบบเที่ยวด้วยตัวเอง หรือ FIT มากขึ้น ตามแผนเราก็จะค่อย ๆ ขยับสู่การขายตั๋วให้กลุ่มนักท่องเที่ยว FIT ด้วย เช่น ใน 1 เที่ยวบินอาจเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบชาร์เตอร์ไฟลต์สัก 75% ที่เหลืออีก 25% เป็นขายตั๋วโดยสารทั่วไป เป็นต้น

แม้ว่าปัจจุบันเที่ยวบินเราจะเป็นชาร์เตอร์ไฟลต์ 100% แต่ที่ผ่านมาเราพยายามออกแบบระบบขายตั๋วออนไลน์อยู่ เมื่อเสร็จเราก็จะขายตั๋วออนไลน์ได้ด้วย ถึงเวลานั้นเราก็พร้อมปรับเป็นสายการบินลูกผสม หรือ hybrid airline ต่อไป ซึ่งอาจจะเห็นในช่วงปีหลังนี้