นับหนึ่งประมูลคลื่น 1800 MHz รัฐลุ้นเงินเข้าคลังกว่าแสนล้าน

เมื่อ 7 พ.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785MHz / 1835-1880 MHz เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการเคาะราคาประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่อยู่ภายใต้สัมปทาน “ดีแทค” จำนวน 45 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ในวันที่ 15 ก.ย. 2561

ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท

สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้จะกำหนดเงื่อนไขในการนำคลื่นออกประมูล ซึ่งมติที่ประชุม กสทช.เมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติให้สำนักงาน กสทช.จัดประมูลขึ้นในวันที่ 4 ส.ค. 2561 โดยแบ่งการประมูลออกเป็น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 37,457 ล้านบาท ซึ่งผู้เข้าประมูลแต่ละรายจะประมูลได้เพียงแค่ 1 ใบอนุญาต ส่วนจำนวนไลเซนส์ที่จะนำออกประมูลนั้น จะใช้กฎ N-1 คือจะมีน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 จำนวน ดังนั้นจะนำออกประมูลครบทั้ง 3 ใบอนุญาตก็ต่อเมี่อมีผู้ยื่นขอเข้าประมูล 4 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างแห่งชาติ

กรณีที่มีใบอนุญาตที่เหลือ คือมีผู้ยื่นขอประมูลไม่ถึง 4 ราย คณะกรรมการจะดำเนินการเพื่ออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ชุดดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่การประมูลครั้งนี้สิ้นสุด

ห้าม “แจส โมบาย” เข้าประมูล

คุณสมบัติของผู้จะขอรับใบอนุญาตคือ ต้องเป็นบริษัท หรือบริษัทมหาชนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่ใช่คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวมถึงไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม และประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง)

ที่สำคัญคือ ต้องไม่มีความเกี่ยวโยงกับผู้ขอรับใบอนุญาตรายอื่น และต้องไม่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประมูลคลื่นที่ กสทช.ได้จัดขึ้นก่อนนี้ ซึ่งหมายถึงการทิ้งการประมูลของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ โดยต้องไม่มีกรรมการ กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการดำเนินการ ไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือไม่มีความเกี่ยวโยงกัน

15 มิ.ย .วางเงิน 1,880 ล้าน

สำหรับการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อแสดงเจตจำนงเข้าร่วมประมูล บริษัทที่สนใจจะต้องยื่นคำขอในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 โดยต้องกรอกเอกสารยืนยันคุณสมบัติพร้อมชำระค่าพิจารณาคำขอใบอนุญาต 5 แสนบาท เป็นเงินสดหรือเช็ค รวมถึงวางหลักประกันการประมูลอีก 1,880 ล้านบาท

จากนั้นคณะกรรมการจะตรวจสอบคุณสมบัติ และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าประมูล ซึ่งกรอบเวลาที่บอร์ด กสทช. มีมติไว้คือ ภายใน 2 ก.ค. 2561

กรณีมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว กสทช.จะขยายเวลาการขอรับใบอนุญาตเพิ่มอีก 30 วัน นับแต่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล ซึ่งหากครบกำหนดเวลาที่ขยายแล้ว ยังไม่มีผู้เข้าประมูลอีก สำนักงาน กสทช.จะประมูลต่อไป โดยผู้เข้าประมูลจะต้องเคาะราคาเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง

ยึดวิธีประมูลแบบเดิม

รูปแบบประมูลจะใช้วิธีเดิมเหมือนประมูลคลื่นที่ กสทช.จัดก่อนหน้านี้ คือ Simultaneous Ascending Bid Auction ซึ่งจะนำใบอนุญาตที่จะเปิดประมูลมาเคาะราคาพร้อมกัน และดำเนินการประมูลหลายรอบ โดยราคาแต่ละรอบจะเพิ่มรอบละ 75 ล้านบาท ใช้เวลาประมูลแต่ละรอบ 15 นาที และประมวลผลอีก 5 นาที ทำให้ใน 1 ชั่วโมงจะมีการเคาะราคา 3 รอบ

และผู้เข้าประมูลแต่ละรายมีสิทธิไม่เสนอราคา 3 ครั้ง โดยยังไม่ถูกตัดสิทธิ์การเข้าประมูล ยกเว้นในการเปิดประมูลเคาะราคาครั้งแรกที่ห้ามใช้สิทธิ์ การประมูลจะสิ้นสุดเมื่อไม่มีผู้เสนอราคาในการประมูลรอบแรก หรือรอบต่อ ๆ ไป ไม่มีผู้เสนอราคาเพิ่มอีก และไม่มีผู้ที่มีสิทธิ waiver เหลืออยู่

แบ่งจ่าย 3 งวด ครั้งแรกภายใน 90 วัน

เมื่อสิ้นสุดการประมูล คณะกรรมการจะประกาศรับรองผลการประมูลเป็นทางการภายใน 7 วัน และผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินค่าประมูลงวดแรก 50% ภายใน 90 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นทางการว่าเป็นผู้ชนะประมูลจาก กสทช. พร้อมวางแบงก์การันตีเงินประมูลส่วนที่เหลืองวดที่ 2 จะชำระอีก 25% พร้อมแบงก์การันตีในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน นับแต่ครบ 2 ปีที่ได้รับใบอนุญาต ส่วนงวดสุดท้ายจะชำระอีก 25% เมื่อครบกำหนด 3 ปีนับแต่ได้รับใบอนุญาต

ทิ้งประมูลจ่ายไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้าน

ขณะเดียวกัน เงื่อนไขประมูลยังกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องวางโครงข่ายให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 40% ของประชากรภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี มิฉะนั้นจะถูกปรับ 0.05% ของราคาประมูลตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และในกรณีที่ผู้ชนะประมูลไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนได้รับใบอนุญาตให้ถือว่าสละสิทธิ์ที่จะได้รับไลเซนส์ จะถูกริบหลักประกันประมูล 1,880 ล้านบาท และต้องชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 5,620 ล้านบาท

ต่อรองขอ ม.44 ผ่อนชำระค่างวดเก่า

แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีความพยายามจาก “เอไอเอส-ทรู” ที่จะต่อรองขอให้มีคำสั่ง คสช. โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายที่จะครบกำหนดในปี 2563 โดยทั้ง 2 บริษัทยินยอมจ่ายดอกเบี้ยให้รัฐ ราว 2% เพื่อให้แบ่งชำระจ่ายออกเป็น 3 งวดแทน

“ทั้ง 2 บริษัทยื่นข้อเสนอว่า หากผ่อนผันให้ จะเข้าประมูลคลื่น1800MHz ไม่เช่นนั้นอาจไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะมีภาระต้องจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz อยู่จำนวนมาก ทั้งยังต่อรอง กสทช.ให้ขยับเวลาประมูลออกไปอีก 45 วัน ให้ทั้ง 2 บริษัทเตรียมเอกสารและเงินวางประกันได้ทัน โดยเฉพาะทรูยืนยันว่า ต้องมีประกาศ คสช. และเลื่อนประมูลก่อนถึงจะเข้า

หาก คสช. ตัดสินใจจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 ก็จะต้องให้บอร์ด กสทช. ลงมติเรื่องกรอบเวลาประมูลใหม่”

การที่ทั้ง 2 บริษัทเข้าประมูลจะมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ กสทช. สามารถนำส่งเงินค่าประมูลเข้าเป็นรายได้แผ่นดินได้มากขึ้น จากก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังมีหนังสือกำชับให้รีบนำส่งเพราะจำเป็นต้องใช้ตามแผนงบฯ รายจ่ายประจำปี

“ตอนนี้มีความเป็นได้ที่มีแค่ “ดีแทค” เพียงรายเดียวที่จำเป็นต้องเข้าประมูล ขณะเดียวกันต่อให้ทาง “เอไอเอส” เข้าประมูล จำนวนไลเซนส์ที่จะนำออกประมูลก็จะมีเพียง 1 ใบอนุญาตอยู่ดี แต่ถ้า “ทรู” เข้าด้วยจะมีการประมูล 2 ใบอนุญาต สร้างรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้น”

อ่อยแก้เกณฑ์ประมูล

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. กล่าวในการแถลงมติบอร์ด กสทช.(25 เม.ย. 2561) ระบุว่า ถ้าในวันยื่นคำขอเข้าประมูล 15 มิ.ย. 2561 ไม่มีผู้แสดงความจำนงจะเข้าประมูลเลย จะมีการเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ในการประมูล อาทิ การแบ่งคลื่นแต่ละใบอนุญาตให้เล็กลงเหลือไลเซนส์ละ 5 MHz แล้วเฉลี่ยราคาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งจะทำให้คลื่นออกประมูล 9 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาทต่อไลเซนส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการแต่ละรายยืดหยุ่นในการเลือกจำนวนคลื่นที่ต้องการได้มากขึ้น

TDRI ติงเกณฑ์ประมูล

ด้าน “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขที่แย่มาก เพราะเอาเงื่อนไขการประมูลมาผูกกับการประมูลครั้งก่อนโดยไม่ได้แจ้งให้สาธารณะทราบก่อนที่จะเริ่มมีการประมูลเมื่อ 2 ปี ทำให้เกิดการกำหนดราคาที่ไม่เป็นกลางในการแข่งขัน แต่ กสทช.จะแก้ไขก็เสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง


“กลายเป็นว่า เมื่อมีผู้ชนะการประมูลแล้วจึงมีการล็อบบี้ออกมาประกาศว่าจะใช้ราคานี้เป็นราคาเริ่มต้นของครั้งต่อไป ทำให้การกำหนดเงื่อนไขการประมูลถูกกำหนดโดยผู้ชนะประมูลครั้งก่อน ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยิ่งในการประมูลรอบนี้”