ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอไอ คือเทคโนโลยีที่ถูกวางไว้ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบ เพราะว่าทุกอย่างรอบตัวของเอไอนั้น มีแต่ความอัจฉริยะ รู้ทุกอย่างล่วงหน้า คาดเดาเรื่องราวได้แม่นยำ ทำความเข้าใจ ประมวลผลภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างเชิงลึก จับน้ำเสียง ความรู้สึก หน้าตา กริยาต่างๆ แล้วให้ผลวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อนอย่างน่าอัศจรรย์
เอไอ ไม่ได้มีความหมายแค่หุ่นยนต์ แต่เอไอ คือ ซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมความฉลาดที่หลากหลาย ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หลากหลายประเภท
อนาคต เอไอจะแฝงอยู่ในสิ่งต่างๆ รอบตัว ทำให้ฉลาดล้ำลึกเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน หลายร้อยหลายพันเท่า รวมไปถึงอาจอยู่ในโครงร่างของหุ่นยนต์ในแบบต่างๆ เดินปะปนอยู่กับคนโดยที่เราแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ
อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ‘อัลฟา โกะ” คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดย กูเกิล โค่นเซียนหมากล้อมจากจีนไป 3 เกมรวด ซึ่งตอกย้ำถึงเทคโนโลยีที่จะพัฒนาไปไกลมากจริงๆ
อย่างที่เราคุ้นเคยกับ สิริ (SIRI) โปรแกรมที่บริษัท แอ๊ปเปิ้ล พัฒนาขึ้นลงในไอโฟน สามารถสนทนา โต้ตอบ ขอคำแนะนำ ให้ค้นหาข้อมูลที่เราต้องการ หรือเสิร์ชเอ็นจิ้นของกูเกิล ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ก็คือหนึ่งในคุณสมบัติของเอไอเช่นกัน ครื่องเคราต่างๆ ของรถยนต์ที่วันนี้มีเอไอแฝงอยู่ในรถรุ่นราคาแพงๆ และจะมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ กลายเป็น รถยนต์ไร้คนขับ ที่แน่นอนว่าหัวใจสำคัญคือ เอไอ นี่เอง
อเมซอน ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของโลก ก็พัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบ Deep Learning ภายใต้ชื่อ Amazon Rekognition เมื่อปีที่แล้ว และกำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองอย่างมากขึ้นในปีนี้ ด้วยการพัฒนาให้ Amazon Rekognition สามารถเริ่มวิเคราะห์ใบหน้าของมนุษย์ได้ จดจำได้ว่า ใบหน้านั้นๆ เป็นของคนดังในวงการต่างๆ หรือไม่
ความสามารถดังกล่าวเกิดจากการที่ทางอเมซอน นำภาพคนดังจากแวดวงต่างๆ ตั้งแต่การเมือง กีฬา ธุรกิจ บันเทิงและสื่อให้กับ Amazon Rekognition ได้ดูเป็นจำนวนมาก ทำให้ Amazon Rekognition สามารถบอกได้ว่า คนดังเหล่านั้น คือ ใคร พร้อมลิงก์ข้อมูลจากดาราเหล่านั้น ไปยังหน้าเพจของเว็บ IMDB รวมถึงการตรวจจับได้ถึงอารมณ์ของคนๆ นั้น ล่วงรู้ไปถึง อายุ เพศ ฯลฯ และไม่ใช่แค่บอกว่าคนนั้นเป็นใคร แต่บอกได้ว่า เขากำลังยิ้ม ทักทาย หรือโบกมือ
และไอเอ ที่แฝงอยู่ใน “แชทบอท” นั้นก็ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเพียงข้อความพื้นฐานอย่าง “สวัสดีค่ะ” หรือ “สบายดีไหมครับ” แต่สามารถเป็นผู้ช่วยในการซื้อของออนไลน์ สั่งอาหารต่างๆ ได้
การ์ทเนอร์ ระบุว่า ภายในปี 2561 การปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของคนเราจะเกิดขึ้นผ่าน “การสนทนา” กับอุปกรณ์อัจฉริยะเป็นสัดส่วนถึง 30%
บริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่งหันมาใช้แพลตฟอร์มเอไอในการสร้างแชทบ็อทอย่างเฉลียวฉลาด สามารถทำความเข้าใจในทุกเรื่องราว ช่วยลูกค้าทำกิจกรรมต่างๆ เป็นกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลสำคัญของบริษัททั่วโลก
ส่วนเอไอในร่างของหุ่นยนต์ คือ เป็นตลาดใหญ่ มีเม็ดเงินสะพัดในอุตสาหกรมนี้มหาศาล หลายประเทศมหาอำนาจของโลกทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ทุ่มเม็ดเงิน วิจัย และพัฒนาเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำโลกของปัญญาประดิษฐ์
“ดูไบ” เป็นอีกประเทศที่กำลังมุ่งมั่นนำเอไอเข้ามาใช้ในบริการทางสังคม หุ่นยนต์ตำรวจในดูไบสามารถรายงานเหตุการณ์ผ่านวิดีโอจากสถานที่ต่างๆ ไปยังศูนย์บัญชาการ, รายงานเหตุอาชญกรรมไปยังตำรวจ ออกใบสั่ง ตรวจจับใบหน้าผู้ต้องสงสัยที่คิดจะก่อเหตุต่างๆ สื่อสารได้มากถึง 9 ภาษา ดูไบจะนำหุ่นยนต์ตำรวจนี้ประจำตามแหล่งท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้า ดูไบ ตั้งเป้าว่าปี 2573 หุ่นยนต์ตำรวจจะมีสัดส่วน 25% ของกองกำลังตำรวจจริงๆ ในประเทศดูไบ และเฟสถัดไป เจ้าโรโบคอปนี้จะเป็นพนักงานประจำสถานีตำรวจในดูไบด้วย
จริงๆ แล้ว วิวัฒนาการของเอไอ ในร่างหุ่นยนต์ “อีลอน มัสก์” หรือแม้แต่ “สตีเฟ่น ฮอว์คกิ้น” รวมถึงคนอื่นๆ เคยหยิบยกประเด็นที่น่าเป็นห่วง ชี้ให้เห็นว่ามี “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้น เพราะหุ่นยนต์ คือ หุ่นยนต์ไม่ใช่มนุษย์ การ error ย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งหุ่นยนต์ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำร้าย ทำอันตรายต่อคน หรือแม้แต่กระทั่งฆ่าคน
สนับสนุนทุกความคิดสร้างสรรค์ โดย “กลุ่มบริษัทสามารถ”