3 หนุ่ม “ศรีตรัง” ทายาทหมื่นล้าน “จะทำธุรกิจยางหัวใจต้องแข็งแรง”

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ในตอนแรก คำว่า “3 หนุ่ม 3 มุม” ถูกพูดขึ้นมาเล่น ๆ เพียงเพราะทราบว่า ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล ประธานกรรมการ/ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีตรัง กรุ๊ป มีลูกชาย 3 คน

แต่เมื่อได้เจอได้พูดคุยกับ 3 พี่น้อง จูเนียร์-วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล, เบ๊บ-วิชญ์พล สินเจริญกุล และ บูม-วิทย์นาถ สินเจริญกุล ก็สามารถสรุปได้ว่า คำว่า “3 หนุ่ม 3 มุม” นั้นเหมาะสมและอธิบายความเป็นพวกเขาได้ดีแล้ว เพราะพวกเขาต่างกันทั้งหน้าตา บุคลิก การพูดจา ไลฟ์สไตล์ และการทำงาน

ศรีตรัง เป็นบริษัทอุตสาหกรรมยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก ทำธุรกิจส่งออกยางแปรรูป และมีบริษัทผลิตถุงมือยางของตัวเอง ปีล่าสุดมีรายได้ 8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะถึงแสนล้านในปีนี้

บริษัทศรีตรังก่อตั้งมาแล้ว 30 ปี โดยปู่ ตกมาสู่รุ่นพ่อ และปัจจุบัน จูเนียร์ เบ๊บ และบูม รุ่นหลาน หรือเจเนอเรชั่นที่ 3 ได้เข้ามาทำงานในบริษัท เรียนรู้งานเรียนรู้ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมยาง เตรียมพร้อมสืบทอดธุรกิจจากพ่อ

หนุ่ม ๆ ครอบครัวสินเจริญกุลเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กที่หาดใหญ่ ในบ้านที่อยู่ในรั้วเดียวกันกับออฟฟิศบริษัทศรีตรัง ก่อนจะโดนส่งไปเรียนโรงเรียนประจำระบบอังกฤษที่ภูเก็ต แล้วไปเรียนต่อที่อังกฤษ ตามแผนที่พ่อและแม่ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนอังกฤษวางไว้

จูเนียร์ พี่ชายคนโต อายุ 33 เรียนจบปริญญาตรี วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเรดดิง ประเทศอังกฤษ และปริญญาโท บริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการตลาด ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ เคยทำงานธนาคารก่อนจะเข้ามาทำงานศรีตรัง ในตำแหน่งกรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ผู้บริหารหนุ่มคนนี้บอกว่าตัวเองมีไลฟ์สไตล์เรียบ ๆ หลังเลิกงานก็ออกกำลังกาย เสาร์อาทิตย์ไปตีกอล์ฟบ้าง และมีกีฬาอย่างหนึ่งที่ชอบเล่นมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยที่อังกฤษคือ ฮอกกี้ เคยเป็นถึงนักกีฬาทีมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว

เบ๊บ คนกลาง อายุ 30 จบปริญญาตรี บริหารธุรกิจ อินเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เคยทำงานฝ่ายขายที่บริษัทอื่น ก่อนจะเข้ามาทำงานศรีตรังในฝ่ายการตลาดและนักลงทุนสัมพันธ์ คนนี้บอกว่าหลงเสน่ห์การทำงานที่ต้องติดตามข่าวสารความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กลายเป็นว่าเวลาทำงานกับเวลาว่างก็ทำกิจกรรมอย่างเดียวกันคือตามข่าว ตามราคาซื้อขาย ส่วนความชอบที่มีมาตั้งแต่เด็กคือยากเป็นนักฟุตบอล แต่พอทำงานมีเวลาว่างไม่ตรงกับทีมจึงไม่ค่อยได้เล่น และหันมาออกกำลังกายโดยการเข้าฟิตเนสแทน

บูม น้องเล็ก อายุ 27 จบปริญญาตรีด้านการออกแบบ จากวิทยาลัยราฟเฟิลส์ ประเทศอังกฤษ เข้ามาทำงานในตำแหน่ง Strategic Branding Executive คนนี้มีอารมณ์ศิลปินสูง ในเวลาว่างชอบเล่นดนตรี ทำสวน เวลาเดินไปทำงานและเดินกลับที่พักจะพกอาหารเม็ดติดตัวทุกวันเพื่อให้อาหารหมาแมวข้างถนน นอกจากนั้นเขายังทำงานดีไซน์ของตัวเอง กำลังซุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงและตั้งใจจะวางขายจริงจัง

ทั้งสามพี่น้องบอกว่า พ่อแม่ไม่ได้บังคับหรือบอกให้เข้ามาทำงานในธุรกิจของ ครอบครัว แต่พวกเขาคิดเองว่าควรจะมาช่วย เพราะบริษัทโตขึ้นเยอะ แล้วพวกเขาก็ได้นำแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรเยอะ จากการบริหารรุ่นพ่อที่เป็นแบบเถ้าแก่ มีมือซ้ายมือขวา มีคนทำงานไม่กี่คน สอนงานทุกอย่างทำงานแบบครอบจักรวาล ปรับมาสู่รูปแบบองค์กรที่มีระบบ มีตำแหน่งมีสโคปงานชัดเจน และรับคนรุ่นใหม่เข้ามา อีกทั้งช่วยกันสร้างแบรนด์ของตัวเอง

แม้ว่าตอนแรก ๆ พ่อจะยังไม่ค่อยเชื่อว่ารูปแบบใหม่จะดี แต่พวกเขาก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรรูปแบบใหม่และคนรุ่นใหม่ก็ทำงาน ได้ดีไม่แพ้สไตล์การทำงานของรุ่นพ่อ

“ในฝั่งถุงมือยาง แต่ก่อนบริษัทเน้นเราบีทูบี เอ็กซ์พอร์ตเป็นคอนเทนเนอร์ ผมอยู่มา 2 ปี ผมก็คุยกับเบ๊บว่าเราน่าจะตั้งทีมแบรนดิ้งขึ้นมา” บูมเล่า

“เถียงกับคุณพ่อห้ารอบ เถียงแทบตาย คุณพ่อไม่เชื่อเรื่องแบรนดิ้ง ผมต้องทำพรีเซนเทชั่น เขาให้ยกตัวอย่าง เราก็หาตัวอย่างบริษัทที่มีกับไม่มีแบรนดิ้ง ก็ยกตัวอย่าง อินเทล สตาร์บัคส์ ไป” เบ๊บช่วยเสริม

“พอตั้งทีมแบรนดิ้งแล้ว ถุงมือเรามีโพซิชั่นชัดเจน มีการรีแบรนด์ จากเมื่อก่อนที่มันไม่มีชื่อ ทุกคนเรียกถุงมือกล่องม่วง ตอนนี้มันมีแบรนด์ชัดเจนขึ้น การจะเอาถุงมือไปเจาะตลาดรีเทลก็เป็นนโยบายจากฝ่ายแบรนดิ้ง” บูมเล่าต่อ

เอาอนาคตของบริษัทใหญ่ระดับโลกรายได้เกือบแสนล้านวางใส่มือลูก ๆ ขนาดนี้ ถามว่าคุณพ่อสอนหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษไหม

จูเนียร์บอกว่า “พ่อผมไม่ได้สอนอะไรมากมาย แกแค่บอกว่าห้ามซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ (หัวเราะทั้งห้อง) กับสอนเลข พ่อชอบคิดเลขมาก ๆ พักเที่ยงก็จะมาสอนเลข”

ส่วนเบ๊บบอกว่า “สำหรับผมพ่อสอนเยอะ เพราะว่าตอนเริ่มทำงานในบริษัทพ่อทำงานตำแหน่งเดียวกับผม แกจะสอนว่า เวลามองข่าวมองอะไรต้องมองให้ซ้อนห้าชั้น เขาบอกว่าคนรวยจากของพวกนี้มันมีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ มันทำให้เราคิดมองเข้าไปลึก ๆ แล้วมาแชร์กัน เขาสอนให้วิเคราะห์”

น้องเล็กตอบซื่อ ๆ ว่า “ของผมนี่ไม่เคยสอน ตอนเด็ก ๆ ผมก็ไม่ค่อยได้เจอ เพราะผมไปเรียนตั้งแต่เด็ก เวลากลับมาก็ไม่ค่อยได้กลับไปหาดใหญ่ มาเจอบ่อยขึ้นก็ตอนทำงานนี่แหละ แต่เขาก็ไม่ได้สอน (ทำให้ดูหรือเปล่า ?) ก็ไม่ได้ทำให้ดูนะครับ” หัวเราะกันทั้งห้อง

“คุณพ่อทำยางกลางน้ำเป็นหลัก เขาก็เลยไม่ได้สอนบูม” เบ๊บผู้ได้รับคำสอนมาเยอะอธิบายแทนคุณพ่อ

“ใช่ครับ เขาโยนให้ไปอยู่กับหัวหน้าเซล ก็ไปเรียนรู้เอง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาชอบย้ำคือคำว่า บารมี ต้องมีถึงจะคุมคนได้ แต่เขาไม่ได้สอนว่าจะทำยังไงให้มี” บูมเล่าต่อ

เข้ามาทำงานกันไม่กี่ปี และพ่อไม่ได้สอนอะไรมาก แต่ก็ดูเข้าอกเข้าใจธุรกิจ ทำงานเก่งตั้งแต่อายุน้อย เหมือนว่ามีความสนใจมาตั้งแต่เด็ก แต่ความจริงแล้วทั้งสามคนบอกว่า เพิ่งจะมาศึกษาเอาตอนที่เข้ามาทำงานนี่เอง ตอนเด็กแทบไม่ได้คลุกคลี

“ตอนเด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่าธุรกิจของพ่อเราทำอะไร รู้แต่ว่ายาง นึกว่าปลูกยางแล้วกรีดยางขาย เห็นคุณพ่อทำก็แค่ดูราคาซื้อ-ขาย ตอนนั้นไม่เข้าใจ ตอนนี้เข้าใจแล้ว รู้แค่ว่าเป็นเทรดดิ้ง จนไปเห็นโรงงานถึงเข้าใจว่ายางเป็นยังไง กว่าจะได้เห็นยางก็ตอนเข้ามาทำงานแล้ว” คนกลางบอก

“ตอนเด็กผมไปโรงานบ่อย ไปฝึกงานในโรงงานถุงมือยาง นับถุงมือชั่ง ใส่กล่อง แพ็ค และผมเคยไปบริษัทออกแบบวิศวกรรม ช่วยเขาออกแบบเครื่องจักรที่เราใช้ในโรงงาน” พี่ชายคนโตที่ได้คลุกคลีกับธุรกิจยางมากกว่าน้องบอก

“ถ้าไปก็ไปโรงงานถุงมือยาง เห็นถุงมือแล้วกลัว นึกว่าเป็นมือผี (หัวเราะทุกคน) ตอนเด็กผมชอบไปวิ่งเล่นในออฟฟิศ เพราะว่าบ้านกับออฟฟิศอยู่ในรั้วเดียวกัน พอมาทำงาน พี่พนักงานรุ่นใหญ่ ๆ เขาก็บอกว่าเห็นเราตั้งแต่เป็นเด็กวิ่งเล่นอยู่” น้องเล็กเล่าบ้าง

เนื่องจากไม่รู้ว่าธุรกิจของพ่อทำอะไร ในวัยเด็กของทั้งสามหนุ่มจึงไม่รู้สึกถึงความรวย ไม่รู้สึกว่าตัวเองต่างจากเพื่อนคนอื่น

“ตอนนั้นมันไม่รู้สึกอะไร” จูเนียร์ว่า

“ศรีตรังมันตั้งมา 30 ปี เมื่อก่อนมันยังไม่ใหญ่อย่างนี้ ตอนเด็กมันไม่คิดอะไร เราอยู่หาดใหญ่ เป็นโรงเรียนต่างจังหวัด แล้วก็ไปอยู่โรงเรียนประจำที่ภูเก็ต” เบ๊บบอก

“ส่วนมากเราจะอยู่โรงเรียนประจำ ก็ได้เงินพอใช้พอดีเทอม ตอนผมอยู่โรงเรียนประจำที่อังกฤษเงินไม่พอใช้ ต้องหาเงินเพิ่มเองโดยการเอาของไปขายให้เพื่อน” บูมเล่าต่อ

“เงินไม่พอใช้เพราะแกไม่ยอมกินอาหารโรงอาหาร” พี่คนกลางแหย่น้อง

“ก็กินอาหารในโรงอาหารแล้ว แต่ผมเป็นคนชอบกินโค้กมาก โค้กที่นั่นมันแพง เงินก็เลยไม่พอใช้” น้องเล็กแก้ตัวอย่างน่าเอ็นดู

ถามถึงชีวิตนักเรียนโรงเรียนประจำที่อังกฤษ บูม ซึ่งใช้ชีวิตอยู่อังกฤษนานกว่าพี่ ๆ ตอบว่า “จริง ๆ ผมว่าสนุก มันอยู่กับเพื่อนทุกวัน ก็ทำอะไรแปลก ๆ เยอะ ฮาล์ฟเทอมปิดหนึ่งอาทิตย์ ก็เข้าลอนดอนไปหาโรงแรมนอน ใช้เงินกันแบบเด็ก ๆ มีเงินนิดเดียวก็กินนิดเดียว”

“เด็กโรงเรียนประจำจะสนิทกับเพื่อนมาก ตอนนี้ลำบากก็พึ่งกันได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร” เบ๊บเสริม

เล่าเรื่องสนุกกันพอสมควร ย้อนกลับไปถามว่าเห็นความสนุกอะไรในธุรกิจยางบ้าง

“เห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” เบ๊บรีบตอบ

“ต้องคิดตลอดเวลา มีปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” จูเนียร์พูดต่อ

“ใช่ คุณพ่อบอกว่าจะทำธุรกิจยางหัวใจต้องแข็งแรง เราต้องอย่าโชว์ออกหน้า เวลาเจอลูกค้า เจอแบงก์ เขาจะจับเราได้ ผมไปสิงคโปร์กับพ่อบ่อย ไปหาลูกค้า เจอลูกค้า” เบ๊บนึกคำสอนเด็ดของคุณพ่อขึ้นมาได้ ทำเอาทุกคนร้องโห… ฮือฮากันทั้งห้อง

“จะทำธุรกิจยางหัวใจต้องแข็งแรง” จบด้วยคำพูดสุดคมของ ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล ผู้พาศรีตรังผงาดขึ้นสู่ตำแหน่งเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมยางพาราโลก ที่กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ได้ หัวใจคงแข็งแรงมากน่าดู ส่วนลูกชาย 3 หนุ่ม 3 มุม ยังจะต้องทดสอบสมรรถภาพหัวใจกันอีกยาว