GAME CHANGER PART II เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต

ในวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562 นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” หนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับแรกในประเทศไทย จะก้าวสู่ปีที่ 43 นับตั้งแต่ก่อตั้งวันที่ 29 พฤษภาคม 2518 ในชื่อ”รวมประชาชาติรายวัน” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “ประชาชาติธุรกิจ” ในปี 2521

ตั้งแต่นั้นมา “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ทำหน้าที่รายงานข่าวสารเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เปรียบเหมือนคู่คิด นักธุรกิจ บุคคลทั่วไป ตามสโลแกน “เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว”

ก้าวสู่ปีที่ 43 “ประชาชาติธุรกิจ” เดินหน้านำเสนอข่าวสารใน 3 ช่องทาง คือ 1.หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจราย 3 วัน มุ่งนำเสนอข่าวสารวิเคราะห์เจาะลึก เหมาะสำหรับนักธุรกิจ ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ที่ต้องการติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจ

2.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ นำเสนอข่าวสารด้านเศรษฐกิจมีข้อมูลประกอบครบครัน ในแต่ละวัน หาอ่านที่ไหนไม่ได้

3.การจัดงานสัมมนาเศรษฐกิจต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดดเด่นและแตกต่างจากเวทีสัมมนาอื่น ๆ ทุกงานที่จัดขึ้นล้วนแต่เป็นวิทยากรระดับซีอีโอ-ผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับ ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกช่วงเวลา และ digital disruption เป็นตัวเร่งให้การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจนนึกไม่ถึง แม้แต่ยักษ์ธุรกิจไม่สามารถยืนอยู่บนฐานที่มั่นตัวเอง เพราะมีคู่แข่งหน้าใหม่ที่คาดไม่ถึงแย่งลูกค้า ทำให้ธุรกิจทุกระดับต้องปรับตัว (transformation) อย่างไม่หยุดนิ่งรับความเปลี่ยนแปลง

แน่นอนว่าเมื่อ “พลิกเกม-Game Changer” คือ สิ่งที่อยู่ในความสนใจของภาคธุรกิจ ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 43 ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา Game Changer Part II เกมใหม่เปลี่ยนอนาคต ในวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2562 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ (ชั้น 2 ฝั่งโรงแรม) โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต)

พลิกเกมสร้างอนาคตประเทศไทย

เปิดเวทีด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยแล้ว “อีอีซี” ถือเป็นการ “เปลี่ยนเกม-Game Changer” ครั้งสำคัญ แผนปี 2562 ช่องรอยต่อ 2 รัฐบาล คือ ภารกิจการเคลียร์บัญชีลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ให้เป็นไปตามแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีของเขตอีอีซี ที่วางไว้ 6.5 แสนล้าน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, เมืองการบินอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล

“หากการลงทุนทั้งหมดนี้เริ่มขึ้น จะมีการลงทุนในอีอีซีเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้าน หรือ 0.8% ของ GDP ลงทุนผ่านบีโอไออีก 1 แสนล้าน สัดส่วน 0.8% ของ GDP นอกจากนั้นจะมีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และอื่น ๆ อีก 0.4% จะดัน GDP รวมของประเทศเพิ่มขึ้นได้ 2%”

มุมมองเปลี่ยน-เกมเปลี่ยน

คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank บรรยายพิเศษ Game Changer in Digital ERA สำหรับในอุตสาหกรรมธนาคารที่อยู่ในช่วงฝ่ากระแสดิจิทัลดิสรัปต์ ถ้าพูดถึงวันแรก เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ธนาคารก็ตกใจ เพราะบทบาทการเป็นตัวกลางของธนาคารกำลังถูกทำลาย มองแม้กระทั่งว่า “ฟินเทค” ตัวเล็ก ๆ เป็นศัตรู แต่ 1 ปีครึ่งผ่านไป จากการศึกษาเรียนรู้มุมมองก็เปลี่ยนไป มองฟินเทคพวกนี้เป็นพาร์ตเนอร์ เมื่อมุมมองเปลี่ยน เกมก็เปลี่ยน

“พอไมนด์เซตเปลี่ยน เราก็เปลี่ยนเกมเดิน ได้ฟินเทคมาเป็นพันธมิตร มีนวัตกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ มีองค์ความรู้มาต่อท่อให้ ท้ายสุดก็ไปผูกมิตรกับฟินเทคทั่วโลก”

“พิพิธ” มองว่า การเปลี่ยนเกมธุรกิจของธนาคาร ทำให้วันนี้โลก 2 โลกก้าวข้ามแดนมาร่วมมือกัน ทำงานด้วยกัน

ไม่ใช่แค่ฟินเทคกับสถาบันการเงินเท่านั้น อนาคตจะเกิดความร่วมมือแบบ cross indutry กลายเป็น new industry โดยมี “ดาต้า” เป็นตัวขับเคลื่อน และนี่คือการสร้างแวลูที่แท้จริง ที่จะเกิดขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจ และสังคมในยุคต่อไป

Game Changer ธุรกิจอสังหาฯ

คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ บรรยายพิเศษ Game Changer เปลี่ยนอนาคต

ศักราชปี 2562 “อนันดา” ครบรอบก่อตั้ง 20 ปี เรื่องใหม่มีทั้งต่อยอดลงทุนตามโมเดลธุรกิจ “ทฤษฎีระฆังคว่ำ” ว่าด้วยการเลือกเฟ้นทำเลในรัศมีไม่เกิน 300 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า แบ่งการพัฒนาคอนโดมิเนียมตามระยะทางใกล้-ไกล โดยใช้แบรนด์ไอดีโอ ราคา 1-2 แสนบาท/ตร.ม. กับเอลิโอ ราคา 8 หมื่น-1 แสนบาท/ตร.ม. เป็นแบรนด์ธงในการแข่งขัน

ในฐานะ Game Changer แถวหน้าวงการอสังหาฯ “โก้-ชานนท์” ประกาศวิสัยทัศน์เรื่องการเติบโตยั่งยืน บนความสำเร็จ 20 ปีที่ผ่านมา คีย์ซักเซสหลักนอกจากเป็นดีเวลอปเปอร์ไทยรายแรกที่ joint venture กับพันธมิตรญี่ปุ่น “กลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง” เมื่อปี 2556 แล้ว ล่าสุดมีมูลค่าร่วมทุน 128,000 ล้านบาท เพื่อ “รักษาตำแหน่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าโครงการร่วมทุนสูงที่สุดในประเทศไทย”

พลิกเกมก้าวข้ามสเต็ป

ต่อด้วย “คุณสมโภช อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ที่ข้ามสเต็ปจากบริษัทผู้ผลิตพลังงาน ด้วยการเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี ฝีมือคนไทย ภายใต้แบรนด์ ไมน์ โมบิลิตี้ “MINE Mobility”

งานมอเตอร์โชว์ปีที่ผ่าน เขาแนะนำรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ 3 รุ่น ได้แก่ คือ เอ็มพีวี อีวี, ซิตี้ อีวี และสปอร์ต อีวี หลายคนคิดว่าอีกนานกว่าจะเป็นจริง แต่งานมอเตอร์โชว์ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สมโภชเปิดรับจองรถยนต์ไฟฟ้า ไมน์ สปา วัน รถเอ็มพีวี ไซซ์ใหญ่ ตั้งราคาไว้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ผลิตและส่งมอบได้จริงราวต้นปี 2563 ฟันยอดจองไปกว่า 3 พันคัน

นอกจากนี้ยังประกาศลงทุนคู่ขนาน ทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า แบรนด์ “EA Anywhere” วางเป้าหมาย 1,000 จุดภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีติดตั้งไปแล้ว 300-400 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดขยายไปสู่เรือโดยสารไฟฟ้า-โรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่ห้างแต่ต้องแตกต่าง/มากกว่า

ในส่วนเดอะมอลล์ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งในวงการค้าปลีกไทย “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นผู้หนึ่งที่จะขึ้นเวทีสัมมนา ชี้ให้เห็นว่าการดิสรัปต์ที่เกิดขึ้นในธุรกิจต่าง ๆ มีผลให้โลกไม่มีพรมแดนด้านการค้า ทุกคนสามารถเข้าไปค้าขายได้ทุกที่ในโลก

“ศูนย์การค้ายังไปได้ แต่ต้องมีความแตกต่าง winning formula ต้องหาให้ได้ว่าอะไรจะเป็นตัวดึงให้คนอยากมา เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ คนก็ไม่ออกจากบ้าน ยกตัวอย่างที่เรากำลังเปลี่ยนเดอะมอลล์ ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ให้เป็น life store เพราะต้องการบอกลูกค้าว่า เราไม่ใช่แค่ดีพาร์ตเมนต์สโตร์อีกแล้ว”

“เมื่อก่อนเราพูดกันแต่โลเกชั่น เดี๋ยวนี้โลเกชั่นดี ๆ อย่างเดียวไม่พอ ต้องหา winning formula ให้ได้”

แน่นอนว่าทิศทางของกลุ่มเดอะมอลล์จะไม่ได้เป็นเพียงห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าอีกต่อไป

สนใจเข้าฟังงานสัมมนา ลงทะเบียนได้ที่ www:prachachat.net