GAME CHANGER PART II ยุทธชัย-ยกเครื่อง “อิตัลไทย” ธุรกิจครอบครัวสู่บริษัทข้ามชาติ

กว่า 60 ปีที่ “อิตัลไทย” เจ้าของธุรกิจขายเครื่องจักรกลหนักสำหรับงานอุตสาหกรรมและงานก่อสร้าง และธุรกิจรับเหมางานระบบวิศวกรรมที่เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ที่ยืนหยัดอยู่คู่กับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทย ภายใต้การนำทัพของ “ดร.ชัยยุทธ์ กรรณสูต”

กระทั่ง “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ทายาทรุ่น 3 ของ “อิตัลไทย” เข้ามาเป็นขุนพลรับช่วงบริหารธุรกิจหมื่นล้าน ต่อจาก คุณพ่ออดิศร จรณะจิตต์ (เสียชีวิตกะทันหัน) เมื่อปี 2546

จากวันนั้นถึงวันนี้ “ยุทธชัย” บอกว่า เขาได้เข้ามาบริหาร “อิตัลไทย” รวม 15 ปีเต็ม ๆ แล้ว เรียกว่าฝ่าฟันอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ทั้งเรื่องของคน เรียนรู้งานในทุกส่วน

“ยุทธชัย” บอกว่า งานหลัก ๆ ในช่วง 5-6 ปีแรกที่เข้ามารับช่วงบริหารงานคือ การเปลี่ยนแนวคิดคนให้สอดรับและก้าวทันกับงานในแต่ละส่วน เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนเก่าแก่ที่ทำงานมาตั้งแต่รุ่นพ่อ การปรับโครงสร้างธุรกิจ วางไดเร็กชั่น รีโพซิชันนิ่งแต่ละธุรกิจใหม่ รวมถึงวางคอร์ปอเรตแบรนด์แต่ละส่วนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เมื่อทีมเวิร์กเริ่มดี ไดเร็กชั่นชัดเจน จึงทำให้การบริหารเดินหน้าต่อได้ในช่วง 5-6 ปีหลังและยาวมาจนถึงทุกวันนี้

“ธุรกิจของกลุ่มอิตัลไทยที่คุณตาวางไว้เป็นธุรกิจที่ผูกติดกับการเติบโตของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อยู่ในเซอร์วิสอินดัสทรี ซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ปีไหนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสูง การลงทุนในประเทศไม่ต่อเนื่อง ก็ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจของเรา ผมจึงต้องมาจัดพอร์ตธุรกิจใหม่ เพื่อให้บาลานซ์ความเสี่ยงทางธุรกิจในภาพรวมด้วย”

ADVERTISMENT

มุ่งเป้า 4 กลุ่มธุรกิจใหญ่

ปัจจุบัน “กลุ่มอิตัลไทย” แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ขาใหญ่คือ 1.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมหนัก ประกอบด้วย ธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก บริหารงานโดยบริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด (ITI) เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายเครื่องจักรกลหนักแบรนด์ชั้นนำระดับโลก

ADVERTISMENT

และธุรกิจรับเหมางานวิศวกรรมและการก่อสร้างครบวงจร บริหารงานโดยบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด (ITE) ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบจำหน่ายและผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ พลังงานทดแทน ระบบสาธารณูปโภคในกลุ่มปิโตรเคมี รวมถึงการสร้างคลังสินค้าและโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กลุ่มธุรกิจที่ 2 คือธุรกิจบริการและไลฟ์สไตล์ ประกอบด้วยธุรกิจอุตสาหกรรมบริก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ธุรกิจโรงแรม หรือฮอสพิทาลิตี้ ภายใต้บริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป จำกัด ครอบคลุมทั้งการลงทุนและบริหารจัดการโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และสปาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ และศูนย์การค้า “ริเวอร์ซิตี้แบงค็อก” ซึ่งเป็นศูนย์การค้าคอนเซ็ปต์อาร์ตแอนด์แอนทีค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนธุรกิจไลฟ์สไตล์อยู่ภายใต้บริษัท อิตัลไทย ฮอสพิทาลิตี้ หรือ IHC ดำเนินธุรกิจด้านอาหาร เครื่องดื่ม (Horeca Solution Provider) สำหรับโรงแรมและร้านอาหาร

ต่อยอด ซัพพลายเชนครบวงจร

ทิศทางการขยายธุรกิจของ “อิตัลไทย” จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจหลักที่มีอยู่ ยกตัวอย่างในกลุ่มงานวางระบบต่าง ๆ ในส่วนของอิตัลไทยวิศวกรรมก็มี นโยบายขยายไปสู่งานโครงสร้างและงานทำถนน เพื่อให้ครบวงจรและสามารถบริหารจัดการต้นทุนและกำไรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ภาพที่เห็นชัดก็คือในกลุ่มธุรกิจฮอสพิทาลิตี้และอาหารจะมีการต่อยอดซัพพลายเชนให้ครบวงจรมากขึ้นในหลายมิติ อาทิ วางแผนลงทุนราว 200 ล้านบาท สำหรับเปิดโรงงานซักอบรีด บริเวณอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรองรับงานซักผ้าทั้งหมดของโรงแรมในเครือในกรุงเทพฯและพัทยา จังหวัดชลบุรี และอีกแห่งที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ที่ภูเก็ตยังมีโครงการศึกษาตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพราะปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตกำลังประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำจืดอย่างมาก

ขณะที่ในส่วนของธุรกิจอาหารมีโครงการลงทุนโรงงานเบเกอรี่ สำหรับป้อนให้กับโรงแรมและร้านอาหารในเครืออิตัลไทย

“การต่อยอดซัพพลายเชนเป็นอะไรที่ยากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้เราไม่มีสเกลที่ใหญ่พอ เมื่อวันนี้เรามีสเกล มีแบรนด์ที่ชัดเจน และมีธุรกิจที่เชื่อมโยงกันชัดเจนทุกอย่างก็เกิดขึ้น ซึ่งโจทย์สำคัญของการต่อยอดซัพพลายเชนเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าบริการของเราเพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนลดลง”

เรียกว่าต้องได้ประโยชน์ 2 ต่อจากการลงทุนต่อยอด

ปูพรมโรงแรมทั้งใน-ต่างประเทศ

และไม่เพียงแค่จะเข้ามาสานต่อและยกระดับภาพลักษณ์ของ “อิตัลไทย” ขึ้นสู่มาตรฐานอินเตอร์เท่านั้น แต่ “ยุทธชัย” ยังถือว่าเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจกลุ่มฮอสพิทาลิตี้ให้กับ “อิตัลไทย” สร้างแบรนดิ้งที่ชัดเจนและโดดเด่นขึ้นอีกด้วย

“ยุทธชัย” เล่าว่า ช่วงก่อนที่ตัวเองจะเข้ามาบริหาร กลุ่มอิตัลไทยมีโรงแรมอยู่ไม่ถึง 10 แห่ง ภายใต้บริษัทอมารี โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ที่ยังมีคนรู้จักไม่มากนัก แถมถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่เน้นราคา ซึ่งระยะยาวคงไปไม่รอด จึงเริ่มคิดใหม่ ดีไซน์ใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น “ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้” พร้อมวางโพซิชั่นแบรนด์ใหม่ และสร้างแบรนด์ที่หลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบันกลุ่ม “ออนิกซ์ฯ” มีแบรนด์หลัก ๆ อยู่ 4 แบรนด์ ได้แก่ 1.อมารี วางโพซิชันนิ่งระดับ 4-5 ดาว 2.โอโซ (OZO) แบรนด์ระดับ 4 ดาว 3.ชามา เป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ (ซื้อแบรนด์มาจากฮ่องกง) และ 4.ชามา ฮับ เป็นแบรนด์เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เช่นกัน แต่จะมีความบูทีคและทันสมัยกว่าแบรนด์ชามา

แบรนด์ที่เป็นหัวหอกขับเคลื่อนการเติบโตของกลุ่มออนิกซ์ฯ คือ “โอโซ” และ “ชามา” เนื่องจากเป็นเซ็กเมนต์ที่ใช้งบลงทุนต่อห้องไม่สูงนัก ทำให้สามารถคืนทุนได้เร็ว หรือประมาณ 5-6 ปี ส่วนแบรนด์ “อมารี” จะเน้นขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะลงทุนค่อนข้างสูงราว 5-6 ล้านบาทต่อห้อง

“ตอนนี้เรามีโรงแรมโอโซ ภูเก็ต ปีหน้าจะเปิดที่พัทยา ประมาณ 400 ห้อง อยู่บริเวณเดียวกับโรงแรมอมารีพัทยา และปีหน้าจะเริ่มสร้างที่มัลดีฟส์ ซึ่งก็น่าจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นสำหรับเรา”

“ยุทธชัย” บอกอีกว่า ปี 2562 นี้บริษัทมีแผนลงทุนครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนากลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นการพัฒนาและก่อสร้างโรงแรมอมารี พัทยา และโอโซ พัทยา รวมทั้งหมดราว 750 ห้อง มูลค่าลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท โดย ในส่วนของโรงแรมอมารีจะเปิดบริการในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนโรงแรมโอโซคาดว่าจะเปิดให้บริการราวต้นปี 2563

“ถือเป็นการเตรียมรองรับการขยายตัวของธุรกิจในพื้นที่อีอีซีและอู่ตะเภาด้วย”

ปิด”โอเรียนเต็ล”ยกเครื่องใหญ่

ขณะเดียวกันปีนี้ยังได้ลงทุนรีโนเวตโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ด้วยงบลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท ทำให้ปีนี้โรงแรมโอเรียนเต็ลต้องปิดให้บริการประมาณ 7 เดือน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังขยายตัวอย่างชัดเจน และคาดว่าจะยิ่งคึกคักมากยิ่งขึ้นในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

สำหรับแผนขยายโรงแรมปี 2563 ทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 10 แห่ง โดยมีแบรนด์ “โอโซ” เป็นหัวหอก อาทิ สมุย, ฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลเซีย, มัลดีฟส์ เป็นต้น เป้าหมายต้องการให้ครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวและเมืองเศรษฐกิจหลัก ๆ ของประเทศ

เช่นเดียวกับแบรนด์ “ชามา” ซึ่งเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ก็จะยังคงขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศจีน, ฮ่องกง, มาเลเซีย ฯลฯ รวมถึงในประเทศไทย

เป้าหมายคือจะเปิดบริการธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ให้ได้ครบ 99 แห่ง ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2567 จากปัจจุบันมีอยู่ราว 50 แห่ง

“ยุทธชัย” ฉายภาพถึงผลประกอบการของบริษัทว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา “อิตัลไทย” มีรายได้รวมราว 1.7 หมื่นล้านบาท แต่สำหรับปี 2562 คาดว่ารายได้รวมจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีการรีอินเวสต์โรงแรมอมารี พัทยาและโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก

ธุรกิจครอบครัวสู่บริษัทข้ามชาติ

ซีอีโอหนุ่มแห่ง “อิตัลไทย” บอกด้วยว่า กว่า “อิตัลไทย” จะก้าวมาถึงวันนี้ วันที่องค์กรมีโครงสร้าง มีโพซิชันนิ่งที่ชัดเจนและแข็งแกร่ง และการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล ถือว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่ปรับตัวและสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาเยอะมาก โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างไมนด์เซตใหม่ เพื่อให้มีแนวคิดและวิธีการทำงานก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน

หนึ่งในนโยบายที่ชัดเจนคือ การดึงชาวต่างชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาร่วมงานเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานแล้วในหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะในบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด (ITE ) ปัจจุบันมีพนักงานต่างชาติประมาณ 5% ทั้งชาวฟิลิปปินส์, อินเดีย เข้ามาทำงานในระดับเอ็นจิเนีย รวมทั้งชาวจีนเข้ามาดูแลด้านฝ่ายจัดซื้อ และบิสสิเนส ดีเวลอปเมนท์

“ตอนนี้วิธีคิดของอิตัลไทยเป็นเหมือนบริษัทข้ามชาติ เพียงแต่สเกลยังไม่ใหญ่เท่าบริษัทข้ามชาติอื่นๆ แต่ตั้งใจวางโครงสร้างและวิธีการเติบโตเหมือนบริษัทข้ามชาติ รวมทั้งพยายามทำคือดึงคนไทยที่อยู่บริษัทข้ามชาติกลับมาอยู่เมืองไทยเข้ามาร่วมงาน เพื่อให้ช่วยกันสร้างให้อิตัลไทยมีความแข็งแกร่ง ตอนนี้วิธีการทำงานของเราก็เปลี่ยนไปเยอะ โดยเฉพาะผู้บริหารในระดับแมเนจเม้นท์ต้องมีศักยภาพสื่อสารและพรีเซ็นงานเป็นภาษาอังกฤษด้วย” นายยุทธชัยกล่าว

“ผมไม่ใช่เจ้าของที่ทำงานแบบผิวเผิน ผมเป็นคนลงรายละเอียด ต้องทำทุกอย่างเอง เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากเบสิก และต้องเข้าใจธุรกิจก่อนลงมือทำ ผมจึงต้องลงมือทำเองทุกอย่าง พยายามที่จะใส่ดีเทลลงไปก่อน พอดีเทลจบก็ปล่อยให้ทีมงานทำต่อ เราก็คอยมอนิเตอร์ ถ้าได้ทีมที่เป็นเวฟเดียวกันงานก็จะเดินได้เร็ว”

พร้อมย้ำว่า นโยบายของ “อิตัลไทย” คือต้องการคุณภาพทั้ง “งานและบุคลากร” และด้วยธุรกิจกลุ่มอิตัลไทยมีความหลากหลายแตกต่างกันมาก ทำให้บุคลากรต้องมีความสามารถทำงานได้หลากหลายด้าน บวกกับโครงสร้างองค์กรมีขั้นตอนน้อย ทีมงานทุกคนสามารถเข้าถึงตัวเจ้าของได้โดยตรง ซึ่งเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ ทำให้ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมาได้

ดังนั้น “อิตัลไทย” แม้จะมาจากธุรกิจครอบครัวที่มีอายุกว่า 60 ปี ภายใต้นำทัพของ “ยุทธชัย จรณะจิตต์” รุ่นที่ 3 การขับเคลื่อนธุรกิจแบบมืออาชีพ จึงพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ