กมธ.ถกค่าโง่ทางด่วนหวั่นข้อมูลถูกสอดไส้ กำชับเช็กข้อมูลให้รอบด้าน

จากกรณีที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร สั่งยุติการประชุม เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก นพ.ระวี มาศฉมาดล รองประธานกมธ. หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แก้ไขมติที่ประชุมโดยพลการ จากเดิมที่ที่ประชุมมีมติเชิญตัวแทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประธานสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และตัวแทนบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) เพื่อพิจารณาปมขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี ให้กับบริษัททางด่วนรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย โฆษกกมธ. ระบุด้วยว่า ได้รับการยื่นหนังสือจากตัวแทนสหภาพการทางพิเศษ (กทพ.) เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม โดยเป็นคนละกลุ่มกับที่ที่ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ กมธ.ก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่ามีทั้งผู้สนับสนุนให้ตรวจสอบ และไม่ให้ตรวจสอบ กมธ.จึงขอให้ตัวแทนสหภาพ กทพ. กลับไปตกลงกันในรายละเอียดให้ชัดเจน ก่อนจะเชิญให้ข้อมูลกับที่ประชุม กมธ.อีกครั้ง

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 รายงานข่าวจาก กมธ.วิสามัญฯ แจ้งว่า สำหรับกรณีที่ตัวแทนสหภาพ กทพ. ยื่นหนังสือชี้แจงกรณีการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานกับบริษัททางด่วนรถไฟฟ้ากรุงเทพต่อนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน เนื่องจากข้อมูลที่สมาชิกสหภาพกลุ่มหนึ่งนำไปยื่นต่อ กมธ.มีความผิดพลาด หากนำไปใช้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลกระทบทางกฎหมายได้ และผู้บริหารของสหภาพ กทพ. ชุดปัจจุบันไม่ได้รับรองข้อมูลดังกล่าว และไม่สามารถร่วมรับผิดชอบด้วยได้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้การเมือง หรือผู้หวังผลประโยชน์แอบแฝงเข้าไปครอบงำ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับท่าทีของสหภาพ กทพ. มีความเห็นแตกต่างเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยากให้ขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM เพื่อยุติปัญหาข้อพิพาททั้งหมด และให้ BEM บริหารงานต่อไป เพราะหวั่นว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงขององค์กร เนื่องจากหากแพ้คดีอีก จะต้องรับภาระหนี้สินจำนวนมากนับแสนล้านบาท อาจจะกระทบต่อสวัสดิการของพนักงาน รวมทั้งไม่ไว้วางใจกลุ่มคนที่พยายามมีบทบาทเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ มีเจตนาแอบแฝงจะทำเรื่องดังกล่าวโดยหวังผลทางการเมือง รวมถึงหวังผลประโยชน์ในการเข้ามาดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและโยกย้ายบุคลากรพวกของตนหรือไม่

ขณะเดียวกัน มีพนักงานสหภาพ กทพ. บางส่วนที่ต้องการให้จ่ายเงินชดเชยก้อนแรกตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา พร้อมสู้ทุกข้อพิพาท แต่ต้องนำทางด่วนที่เป็นข้อพิพาทนี้กลับมาบริหารงานเอง ซึ่งจะมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะกรณีการจัดซื้อจัดจ้างหลายกรณีภายใน กทพ. ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นกรณีบัตรอีซี่พาส กล้องวงจรปิด หรือระบบคอมพิวเตอร์จัดเก็บข้อมูล ที่พบว่าสูงเกินกว่าราคาตลาด ซึ่งมีความพยายามรวบรวมข้อมูลส่งให้ ปปง. และ ป.ป.ช. ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเหล่านี้ว่ามีความผิดปกติอย่างใดหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากที่ กมธ.ได้รับข้อมูลดังกล่าว จะนำไปพิจารณา และทบทวนรายละเอียดที่ถูกเสนอมาพิจารณาอีกครั้ง ว่าถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ เนื่องจากหวั่นจะมีการสอดแทรกข้อมูล ทำให้เกิดความเสียหายได้