ผู้ว่าการ กฟผ. เก้าอี้นิ่ง ! ดึง “สายลม-แสงแดด” เติมเต็มไฟฟ้า

สถานการณ์ “ไฟ” ร้อนระอุอีกครั้งทันทีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ คิกออฟนโยบายและพลิกไส้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2018)

ภายใต้สถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมใหม่ พลิกผันให้การบริหารพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน-หมุนเวียน ต้องปรับกระบวนท่าอีกหลายตลบ

“วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดใจให้สัมภาษณ์ระหว่างนำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน ศึกษาดูงานด้านการจัดการพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศสเปน

Q : มติ กบง.พลิกแผนนำเข้า LNG สะเทือน กฟผ.อย่างไร

กรณีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ที่ยกเลิกการนำเข้า LNG ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี กฟผ.คาคว่า แม้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายกระทรวงพลังงาน แต่ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจและเชื่อใจต่อความตั้งใจจริงของฝ่ายนโยบายที่พิจารณาประโยชน์ในภาพรวมของประเทศชาติ และประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริม กฟผ.ให้เจริญก้าวหน้า เป็นเสาหลักด้านพลังงานหน่วยงานหนึ่งของประเทศได้

Q : เหตุการณ์นี้ทำให้เก้าอี้ผู้ว่าการสั่นคลอนไม่นิ่งหรือเปล่า

คิดว่ามั่นคงหรือเปล่า…เก้าอี้นี้ปกติก็ไม่ค่อยมั่นคงอยู่แล้ว แต่เราก็หวังว่า เราจะทำให้มันดีที่สุด

Q : แนวคิดการจัดการพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ที่ได้จากการดูงาน 2 ประเทศ เป็นอย่างไรบ้าง

เรามีการดูงาน 4 แห่ง จุดแรก โครงการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน หรือ La Plana Hybrid Prototype and Test Plant ประกอบด้วย พลังงานลม แสงอาทิตย์ ดีเซล และระบบกักเก็บพลังงาน “lithium ion battery” ซึ่งจะทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานในไทย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ลำตะคอง และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ และชัยบาดาล

จุดที่ 2 โรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to-Energy เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาทางท่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันก๊าซผลิตไฟฟ้า และใช้ไอร้อนที่ปล่อยจากกังหันก๊าซร่วมกับความร้อนจากการเผาขยะมาให้ความร้อนไปปั่นกังหันไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการสนับสนุนให้ชุมชนผลิตพลังงานได้เอง จากแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพของชุมชน

จุดที่ 3 สำคัญมาก เป็นโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับพลังน้ำ ซึ่งมีแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 840 แผง กำลังผลิต 220 กิโลวัตต์ บนพื้นที่ผิวน้ำของเขื่อน Alto Rabagao กำลังผลิต 72 เมกะวัตต์ โดยการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว เช่น สายส่งไฟฟ้า หม้อแปลง สถานีไฟฟ้า ช่วยให้ไม่ต้องลงทุนเพิ่มและยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้จะเป็นต้นแบบโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid ที่เขื่อนสิรินธร ของ กฟผ. และเขื่อนอื่น ๆ ตามแผน PDP 2018 ต่อไป

นอกจากนี้ กฟผ.มีแผนดำเนินการจัดตั้ง RE Control Center เพื่อคาดการณ์ความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน เพื่อวางแผนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหลักอย่างแม่นยำ

จุดที่ 4 จึงเป็นการดูงานที่โปรตุเกส คือ บริษัท EDP Renewables (EDPR) ภายใต้การดูแลของบริษัท EDP (Energias de Portugal-เทียบเท่า กฟผ. แต่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชน) มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมใหญ่อันดับ 4 ของโลก และเป็นศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบเรียลไทม์

และเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ EDP ซึ่งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซ ถ่านหิน CO2 และไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าที่ EDP เป็นเจ้าของทั้งในสเปนและโปรตุเกส

ที่น่าสนใจคือ EDP ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2573 จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ในสัดส่วน 90% เลิกใช้ถ่านหิน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 90% ครัวเรือนมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 4 ล้านครัวเรือน (ปัจจุบัน 100,000 ครัวเรือน) มีการใช้รถ EV 1 ล้านคัน (ปัจจุบันน้อยกว่า 10,000 คัน) และใช้ระบบ smart grid 100% (ปัจจุบันมี 2.4 ล้านครัวเรือนเป็น smart grid)

Q : การดูงาน 2 ประเทศ นำไปปรับใช้อย่างไรในประเทศไทย

ครั้งนี้เป็นการดูงานพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท มีการผสมผสานระหว่างแสงอาทิตย์ กังหันลม แบตเตอรี่ และดีเซล โรงไฟฟ้าขยะ ประเทศสเปน สามารถกำจัดขยะได้วันละ 30 ตัน/ชม. ผู้บริหารที่นั่นบอกว่า ช่วงปี 2533 ในเมืองประสบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน คือ ขาดพื้นที่ในการกำจัดขยะ และขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า การแก้ปัญหามีเป้าหมายเพื่อลดขยะ นำพลังงานจากขยะผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐของโปรตุเกสต้องการลดการปล่อย CO2 ที่มาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า แม้ว่าต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะค่อนข้างสูง แต่รัฐก็ให้ซื้อขายแบบ FIT หรือ feed-in-tariff เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงแดดสามารถดำเนินการได้อย่างคุ้มทุน

Q : ในอนาคตจะมีพลังงานทดแทนมากขึ้น กฟผ.เตรียมรับมืออย่างไร

กฟผ.ติดตามเทคโนโลยีควบคู่กับราคามาโดยตลอด และดูว่าเวลาใดจะเหมาะสมสำหรับการนำเข้ามาติดตั้งในไทย ซึ่งในช่วงแรกต้องมีการศึกษาทั้งด้านราคาและด้านเทคนิค ว่าจะมีความเสถียรกับระบบยังไง ถ้ามีปัญหาจะป้องกันและเตรียมแก้ไขยังไง

Q : ทำไมพลังงานทดแทนของยุโรปถึงประสบความสำเร็จได้

จะเห็นว่ายุโรปตอนเหนือมีกระแสลมที่ดี เหมาะสม แต่เมื่อเทียบกับไทย กระแสลมยังไม่แรงเหมือนที่นี่ จึงต้องหาด้วยว่าไทยเหมาะสมจะใช้พลังงานอะไรถ้าลมไม่เหมาะสม ซึ่งไทยมีแดดดีตลอดทั้งปี ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ โซลาร์เซลล์จึงเหมาะกับบ้านเรา แต่ต้องดูเรื่องราคาควบคู่กันไป และพื้นที่ในการติดตั้ง หากใช้พื้นที่มาก ๆ จะไปเบียดบังพื้นที่เกษตรกรรมหรือไม่

Q : แผน PDP โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสัดส่วนเป็นอย่างไร

ตามแผน PDP 2018 กฟผ.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำตามเขื่อนต่าง ๆ รวม 2,725 เมกะวัตต์ นำร่องโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2563

โครงการเขื่อนสิรินธรเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นระบบ Hydro-Floating Solar Hybrid ระบบนี้ช่วยลดการระเหยของน้ำ ลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์

Q : คิดว่าโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบไหนเหมาะสมกับไทย

ต้องดูแต่ละสถานที่ว่ามีเชื้อเพลิงแบบไหน ที่ไหน เหมาะกับเชื้อเพลิงใด ทั้งลม โซลาร์ ชีวมวล ชีวภาพ หรือผสมผสานกันหลายอย่าง ในส่วนของ กฟผ.กำลังศึกษาตามนโยบาย “1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้า” ดูว่าเมื่อ กฟผ.เข้าไป ควรจะมีโมเดลเป็นแบบไหน ซึ่ง กฟผ.มองเรื่องธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจรอง เรื่องชุมชนอยู่ได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องมาก่อน