“เจ้า” กับการเมืองไทย ก่อนและหลัง 2475

ปัญญาชนสยาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นิยามเรื่อง “เจ้า” ไว้ว่า “คนในราชสกุลที่มีศักดิ์ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ (ม.ร.ว.) ลงมานั้น ถือว่าตนเองมิใช่เจ้า จึงไม่อาจเอื้อมไปนับญาติกับเจ้า ถึงแม้ว่าเจ้านายบางพระองค์ท่านจะถ่อมพระองค์ เรียกน้อง เรียกพี่ หรืออื่นๆ ก็จะไม่นับตอบ จะถือตนว่า เป็นข้าตลอดไป นี่คือมารยาท”

หากใช้คำนิยามนี้ ม.จ.จุลเจิม ยุคล ผู้เป็นพระโอรสของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “พระองค์ชายเล็ก” กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา นั้นนับได้ว่าเป็น “เจ้า”

พระอัยกา-ปู่ของ “ม.จ.จุลเจิม” คือพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ องค์ต้นราชสกุล “ยุคล”

“พระองค์ชายเล็ก” นั้นเป็นศิลปินแห่งชาติ ทรงเป็นนักประพันธ์-ผู้สร้างภาพยนตร์

“พระองค์ชายเล็ก” ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “ไปเมืองนอก” จากบันทึกการไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตในอังกฤษ ในช่วงก่อนปี 2475

ฉบับพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ “พลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ” เมื่อปี 2541

นอกจากบทที่ว่า “การเมืองเรื่องยุ่ง” ยังมีบทที่ชื่อว่า “ข่าววิปโยคและกลับบ้าน”

ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “เป็นตอนที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่สุด โดยไม่ได้ตั้งใจจะรังเกียจหรือคัดค้านการมีประชาธิปไตยขึ้นในเมืองไทย…วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คนไทยทุกคนควรถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย”

เป็นคืนที่ “พระองค์ชายเล็ก” ได้ยินข่าวจากวิทยุ “เมืองไทยมีการปฏิวัติ-revolution”

คืนถัดมา มีข่าวตามมาอีกระลอก “เป็นข่าวที่น่าสยองขวัญที่สุด และรู้สึกเสียวสันหลังขึ้นมาทันที มีเนื้อหาทำนองว่า มีบุคคลคณะหนึ่ง รวมทั้งนายทหารชั้นใหญ่น้อยหลายคน ยึดพระราชวังเพื่อล้มล้างการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช”

หนังสือพิมพ์ที่อังกฤษเล่าว่า “มีทหารล้อมพระราชวัง มีเจ้าชาย-prince หลายพระองค์ถูกจับไปคุมขังโดยไม่รู้ชะตากรรม…ผู้ที่เขาเรียกว่า prince นั้นล้วนเป็นญาติของฉัน”

แต่ในที่สุดข่าวร้ายก็คลี่คลายไปในทางดี มีข่าวว่า รัฐบาลเดิมกับฝ่ายก่อการสามารถตกลงกันได้ โดยไม่มีภัยแก่พระราชวงศ์

“พระองค์ชายเล็ก” ตัดสินใจ กลับบ้าน ประเทศไทย

“ก่อนที่จะออกเดินทางจากประเทศอังกฤษ เหตุการณ์ที่ประทับใจฉัน ที่ฉันไม่มีวันลืมได้ก็คือ การได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแทบเบื้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเสด็จนิวัติไปประเทศอังกฤษเพื่อตรวจรักษาพระเนตร และสร้างความระทมใจให้แก่บรรดาชาวไทย ซึ่งมีความจงรักภักดี ต่อพระบรมจักรีวงศ์ ด้วยการสละราชสมบัติและไม่เสด็จกลับสู่ประเทศไทยอีกเลย”

“ฉันได้เฝ้าอยู่แทบพระบาท ฟังปัจฉิมโอวาทที่พระราชทานให้ฉันได้ยินกับหู ทรงให้คำแนะนำอันแสนจะมีประโยชน์ในเมื่อฉันกลับมาอยู่เมืองไทย”

พระราชโอวาทมีใจความที่ “พระองค์ชายเล็ก” บันทึกว่า…

“ทรงรับสั่งให้ฉัน รับทราบว่า จะต้องปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์และทำตัวให้มีประโยชน์แก่ประเทศชาติ จะต้องลืมสันดานเดิม ไม่ให้มีความเคียดแค้นเกิดขึ้นได้ และทำตนเป็นคนไทยที่มีประโยชน์ ทำตัวให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งฉันควรเรียนรู้อยู่แล้ว ด้วยอยู่ในประเทศอังกฤษอันเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยมาแต่เด็ก”

ฉันน้อมรับพระราชดำรัส กราบที่พระบาททั้งสองพระองค์ ในขณะที่ดวงจิตตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะต้องเป็นชาวประชาธิปไตย แม้ว่าประชาธิปไตยเป็นคนเดียวในประเทศไทยก็ตาม”

นี่คือบันทึกทัศนะบางส่วนจาก “เจ้า” ในสายราชสกุล “ยุคล” ตั้งแต่ยุคก่อนการเมืองประชาธิปไตย

17 กันยายน 2562 ศาลอาญา อ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ม.จ.จุลเจิม ยุคล เจ้าของผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Chulcherm Yugala” เป็นจำเลยในฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ศาลพิเคราะห์พยานชั้นไต่สวนโจทก์ แล้วเห็นว่า “ม.จ.จุลเจิม จำเลย วิจารณ์สร้างสรรค์ ไม่ต้องการให้โจทก์ละเมิดเบื้องสูง โดยเป็นเชิงเปรียบเทียบกับภารกิจคณะราษฎร 2475

…ซึ่งจำเลยเป็นเชื้อพระวงศ์ย่อมมีความจงรักภักดี อีกทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าโจทก์ได้ละเมิดเบื้องสูง ทำให้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา พรรคของโจทก์ได้คะแนนความไว้วางใจจากประชาชนถึง 6 ล้านกว่าเสียง จำนวน ส.ส.รวมกว่า 80 คน แสดงให้เห็นว่าข้อห่วงใยของจำเลยไม่ส่งผลกระทบต่อโจทก์ให้เสียหาย พิพากษายกฟ้อง”

อนึ่ง ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” โดยสำนักพิมพ์มติชน ไว้ว่า พระราชโอรส พระราชนัดดา ในรัชกาลที่ 1 ทรงทำงานให้แก่ประเทศชาติมาถึง 11 พระองค์ ทั้งต้นสกุล เช่น “อินทรางกูร-สุริยกุล-ทัพกุล-พึ่งบุญ-ดวงจักร-อิศรางกูร”

ในรัชกาลที่ 2 พระราชโอรสที่ทรงสามารถทำราชการมี 18 พระองค์ เช่น ต้นสกุล “เดชาติวงศ์-พนมวัน-กุญชร-วัชรีวงศ์-ชุมแสง-นิลรัตน์-อรุณวงศ์-ปราโมช-มาลากุล”

พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ที่เข้าทำการให้บ้านเมือง มี 9 พระองค์ เช่น ต้นสกุล “คเนจร-ลดาวัลย์-อุไรพงศ์-อรนพ-สุบรรณ-สิงหรา-ชมพูนุท”

พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และเป็นองค์ต้นสกุล มีบทบาทในวงราชการ 17 พระองค์ เช่น ต้นสกุล “นพวงศ์-สุประดิษฐ์-กฤษดากร-คัคณางค์-ทองแถม-ชุมพล-เทวกุล-ภาณุพันธุ์-สวัสดิกุล-ดิศกุล-โสณกุล-จิตรพงศ์-วัฒนวงศ์”

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือ “จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์” มีพระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ในมหาสาขาต่างๆ รวม 16 มหาสาขา ที่สืบราชสันตติวงศ์จาก “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 5”

ทรงพระราชทาน “ราชสกุล” ให้บรรดาพระราชโอรส 16 มหาสาขา ประกอบด้วย ต้นราชสกุล “กิติยากร-มหิดล-ยุคล-บริพัตร-รพีพัฒน์-จักรพงศ์-ประวิตร์-จิรประวัติ-อาภากร-เพ็ญพัฒน์-วุฒิไชย-สุริยง-รังสิต-จุฑาธุช-ฉัตรไชย”

รวมถึงมหาสาขา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชธิดา 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในพระนางเจ้าสุวัทนา (อภัยวงศ์) พระวรราชเทวี

ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา อย่างน้อย 4 คนในราชสกุล “โสณกุล-บริพัตร-เทวกุล และสวัสดิวัตน์” ที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่จากรัชกาลที่ 4 ปรากฏตัวอยู่ในแวดวงราชการ-การเมือง

ส่วนสายราชสกุลที่สืบราชสกุลจากพระราชโอรสของ “รัชกาลที่ 5” เช่นราชสกุล “ยุคล” ไม่ได้เข้าสู่วงการการเมืองโดยตรง แต่ปรากฏอยู่ใน “คดีการเมือง”