ผ่าลายแทงแก้รัฐธรรมนูญ’60 “พปชร.” เตะตัดขา-กัน “อภิสิทธิ์” กลับสภา

ทั้ง ๆ ที่ทุกฝ่ายรู้อยู่เต็มอกว่า การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นแค่ “จุดเริ่มต้น” คิกออฟกันแค่ในสภาผู้แทนราษฎร

แต่พรรคซีกรัฐบาล ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรคประชาธิปัตย์ ต่างเปิดศึกแย่งเก้าอี้ ประธาน กมธ. อย่างไม่ลดราวาศอก

พลันที่ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกโยนออกมาบนกระดาน ซีก พปชร.ก็ส่งชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาสู้ แบบไม่ยอมน้อยหน้า

เพราะเก้าอี้ประธาน กมธ. ถือเป็นตำแหน่ง “กำหนดเกม” การแก้รัฐธรรมนูญเบื้องต้น แม้จะเป็นแค่เพียง “คณะศึกษาความเป็นไปได้” แต่สามารถกำหนดทิศทางที่เกี่ยวพันถึงระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่จะต้องศึกษาในอนาคต

ก่อนหน้านี้ 7 พรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย อันเป็นขั้วที่จุดกระแสแก้รัฐธรรมนูญขึ้นเป็นพวกแรก ประเมินไว้ว่า หากตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญจบในช่วงเดือน พ.ย. 2562 นับจากนั้น 45-60 วัน จะเป็นช่วงที่ กมธ.ได้ศึกษาหนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย คาดการณ์ว่า กมธ.มีเวลาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 45-60 วันเท่านั้นเป็นช่วงที่ต้องทำกระแสให้เข้าใจ บีบรัด บีบคั้น ฝ่ายค้านจะต้องทำงานอย่างหนักในการทำความเข้าใจกับสังคมนอกสภา

ดังนั้น ตามการวิเคราะห์ของฝ่ายค้าน 45-60 วัน ก็จะเห็นหน้า-เห็นหลัง ราว ๆ กุมภาพันธ์ 2563 บวก-ลบ

ทว่า… หากเก้าอี้ประธาน กมธ. ตกไปอยู่ในมือของซีก พปชร. อันเป็นฝ่ายที่รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 จะสามารถคอนโทรลเกมในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ “มัดมือ” รัฐบาลในวันข้างหน้าได้

และหนำซ้ำ พปชร. อาจไม่ยอมให้ “ประชาธิปัตย์” คุมเกมแก้รัฐธรรมนูญได้หลังจากต้องยอมจำนน หลีกทางให้ “ชวน หลีกภัย” จากประชาธิปัตย์ ได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร คุมจังหวะฝ่ายนิติบัญญัติได้แล้วหนหนึ่ง กระทั่ง “สุชาติ” จาก พปชร. ต้องเป็นรองประธานสภา

หากให้ “อภิสิทธิ์” นั่งประธาน กมธ. คุมเกมแก้รัฐธรรมนูญอีก อาจทำให้ พปชร.เสียเปรียบทั้งกระดาน เพราะอภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในผู้ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ต้น

ดันสุชาติสู้ต่อ

แหล่งข่าวระดับใต้ดิน พปชร. ที่รับรู้ความเป็นไปการเจรจาลับ เฟ้นตัว กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกว่า ตำแหน่งประธาน กมธ. ไม่สำคัญ เพราะเป็นแค่ กมธ.ศึกษาความเป็นไปได้ จะได้ใครมาเป็นไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องดูท่าทีของนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยว่าจะยอมถอยหรือไม่ ถ้าไม่ยอมถอย พปชร.ก็อาจจะเสนอชื่อนายสุชาติสู้ต่อ แต่ถ้านายอภิสิทธิ์ยอมถอย พปชร.อาจเสนอ “คนนอก” ที่มีประสบการณ์เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญในอดีต มาเป็นประธาน

แม้ว่า “สุชาติ” ออกมาบอกว่า “ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการทาบทามจากทางพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ได้แจ้งกลับไปถึงภาระหน้าที่ของรองประธานสภาฯที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้วในขณะนี้ หากจะไปทำหน้าที่ประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมาก อาจทำได้ไม่เต็มที่ จึงเห็นว่ายังมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมอีกมาก”

“บวรศักดิ์” ถอนตัว

ส่วนกระแสข่าวอีกฟากหนึ่งที่มีชื่อ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกคว่ำคาสภาตรายางยุค คสช. แท้งตั้งแต่ยังไม่คลอด จะกลับมานั่งเก้าอี้ประธาน กมธ.นั้น แหล่งข่าวรายเดิมยืนยันสิ่งที่ได้ยินว่า “บวรศักดิ์” ขอถอนตัวไม่รับตำแหน่งไปแล้ว

ผ่าเส้นทางแก้รัฐธรรมนูญ

ตามขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญ ชอตต่อไปหลังจาก กมธ.ศึกษากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2562 ซึ่งมีที่นั่งทั้งหมด 49 ที่ โดยแบ่งโควตาจากคณะรัฐมนตรี 12 คน ฝ่ายค้าน 19 คน ฝ่ายรัฐบาล 18 คน ทำการศึกษาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากเป็นไปตามกรอบ คาดว่าจะใช้เวลาเต็มที่ 60 วัน จากนั้นหากที่ประชุมสภา+กระแสสังคมนอกสภา เห็นชอบอาจจะนำมาสู่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา

โดยการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 จะต้องเริ่มจากคณะรัฐมนตรี หรือส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของส.ส.ทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (100 คนขึ้นไป) เสนอญัตติ

จากนั้นการพิจารณาจะแบ่งเป็น 3 วาระ 1 ขั้นรับหลักการ จะใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา (ส.ส. 500 คน+250 ส.ว.=750) คือ 376 เสียงขึ้นไป(หากแก้รัฐธรรมนูญใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้ง) และต้องมี ส.ว.จะต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. (84 เสียง)

จากนั้นเข้าสู่การตั้ง กมธ.พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งงวดนี้คือ “กมธ.ตัวจริง-เสียงจริง” มิใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนในปัจจุบันนี้ เมื่อมีการพิจารณาชั้น กมธ.เสร็จเรียบร้อย จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 เป็นรายมาตรา ในการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก

และการโหวตวาระ 3 ขั้นสุดท้าย ต้องใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา 376 เสียง ในจํานวนนี้ต้องมีฝ่ายค้านเห็นชอบด้วย 20% หรือ 48 คน และมี ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 84 เสียง

ปชป.ตัดเสียงฝ่ายค้าน-ส.ว.

ด้านนักเลือกตั้งอาชีพที่ออกมาเสนอ “ลายแทง” แก้รัฐธรรมนูญ อย่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ประเด็นที่ควรจะแก้ไข ควรเริ่มจากหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตรงนี้ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเสียงข้างมากต้องประกอบด้วยเสียงของฝ่ายค้าน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และเสียงของวุฒิสมาชิก ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และในบางประเด็นต้องนำไปสู่การทำประชามติด้วย

“ก็เหมือนกับจะเรียกว่าสะเดาะกุญแจที่ปิดประตูตาย เพื่อให้เข้าเงื่อนไขปกติที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตกำหนดไว้ โดยใช้แค่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาก็สามารถแก้ไขได้ เป็นการเริ่มสะเดาะกุญแจให้ประตูประชาธิปไตยเปิดออกได้ ต่อไปใครจะแก้ว่าอย่างไรก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น”

เพื่อไทยชูธงตั้ง ส.ส.ร.

“โภคิน พลกุล” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย 1 ในผู้ที่จะไปเป็น กมธ.สัดส่วนของเพื่อไทย กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องใครจะเป็นประธาน กมธ.นั้นเป็นเรื่องรองการแก้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด คือให้อำนาจประชาชน ผ่านกระบวนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)เพื่อลดความขัดเเย้งลงได้ หากไม่เริ่มทำวันนี้ ก็ไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่จะได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพเหมือนเดิม

ไพบูลย์ชงแก้รายมาตรา

ส่วน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ นักการเมืองตัวจี๊ดในสภา ซึ่งมีชื่อติดโผอยู่ใน กมธ.ในโควตา พปชร. บอกว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ ถ้ามีประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อสมาชิกรัฐสภา ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. โดยต้องเป็นประเด็นที่เห็นร่วมกันว่า สมควรแก้ แต่ถ้าแก้แล้วไปกระทบต่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล หรือ ส.ว. ก็เป็นเอกสิทธิ์ที่จะคัดค้าน

“ดังนั้นควรแก้ไขในประเด็นที่เห็นร่วมกันมากกว่า และสามารถแก้ไขผ่านช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ นำไปสู่แก้ไขเป็นรายมาตราที่เป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะขนาดพระราชบัญญัติปกติยังต้องบังคับใช้ไประยะเวลาหนึ่งจึงจะแก้ รัฐธรรมนูญก็เช่นกันจะยกเลิกทั้งฉบับคงเป็นไปไม่ได้”

ในอดีต การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำเร็จในสภา เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง ในรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517, 2521, 2534, 2540, 2550 และ 2557

กลเกมแก้รัฐธรรมนูญเพิ่งเริ่มยกแรก เส้นทางนี้ยังอีกยาว…

แต่เป็นเดิมพันที่ พปชร.แพ้ไม่ได้ ตั้งแต่ยกแรก