CEO for Change “ไลโอเนล ลี” ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ไรมอนแลนด์

ทุกอย่างในโลกมีครั้งแรกเสมอ RML-Raimon Land บริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชนในตลาดหลักทรัพย์เมืองไทย ผ่านร้อนผ่านหนาว 32 ปีแห่งการก่อตั้ง เปลี่ยนเจ้าของเปลี่ยนทีมบริหารจนถึงยุคปัจจุบัน ภายใต้บทบาทการนำของ CEO ชาวสิงคโปร์ “มิสเตอร์ลี-ไลโอเนล ลี”

“ประชาชาติธุรกิจ” ถ่ายทอดบทสัมภาษณ์ในโอกาสร่วมทริปเปิดสำนักงานขายไรมอนแลนด์ครั้งแรกในประเทศสิงคโปร์ ณ Royal Sqaure@Novena ย่าน Medical Hub มีที่พักอาศัยระดับไฮเอนด์แพงที่สุด สิ่งที่น่าสนใจบนแผนธุรกิจ 5 ปีที่ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนเพื่อการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งทั้งตลาดในประเทศไทยและตลาดโลก ทำให้ทศวรรษที่ 4 ขององค์กรเป็นทศวรรษที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

 

Q : อัพเดตแผนธุรกิจ

ไรมอนแลนด์ก่อตั้งและพัฒนาโครงการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 ปัจจุบันมีพื้นที่พัฒนาเกิน 1 ล้านตารางเมตร จุดโฟกัสเราไม่ได้จับตลาดห้องชุดยูนิตละ 3 ล้าน แต่เราจับตลาดไฮเอนด์จนถึงลักเซอรี่ ห้องชุดราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือเฉลี่ยตารางเมตรละ 2.5 แสนบาท

จุดแข็งบริษัทเน้นการทำธุรกิจยั่งยืนและเด่นด้านดีไซน์ มีการวิจัยจากลูกค้าเพื่อพัฒนาโปรดักต์ ดีไซน์ยืดหยุ่นสูง เช่น ดิเอสเทล ลูกค้าสามารถรวมห้องชุด 1 นอนเป็น 2 ห้องนอนได้ ฟังก์ชั่นห้องครัวก็ทุบห้องทำใหม่ได้ตามต้องการ บริษัทยังมุ่งเน้นและแคร์สิ่งแวดล้อมรอบด้าน ทุกอย่างที่เลือกเราเลือกอย่างพิถีพิถัน เช่น กระเบื้อง ไม้มาจากแหล่งใด มีความประณีตวัตถุดิบทุกชิ้นในโครงการ

ปัจจุบันห้องชุดราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป เราพัฒนาแล้ว 5,238 ยูนิต จึงกล้าประกาศว่าเราเป็นเบอร์ 1 ห้องชุดระดับลักเซอรี่ในตลาดเมืองไทย

แผนธุรกิจปี 2563-2564 เราเบ่งพอร์ต 1 เท่าตัวเปรียบเทียบกับช่วง 30 ปีที่ผ่านมา วางแผนพัฒนาโครงการมูลค่ารวมกัน 65,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเรสซิเดนเชียลกับคอมเมอร์เชียลและฮอสพิทาลิตี้อย่างละ 31,000 ล้านบาท

เบื้องต้นเรามองหาโอกาสจากประเทศมั่งคั่งในโลก ก็พบว่าสิงคโปร์ติดอันดับ 6 ประเทศมั่งคั่งสูงสุดในโลก อันดับการเก็บเงินออมก็สูงเช่นกัน การเข้าไปเปิดสำนักงานขายห้องชุดลักเซอรี่ “ดิเอสเทล พร้อมพงษ์” เพื่อต้องการยึดที่มั่นลูกค้าสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 22% ของฐานลูกค้าไรมอนแลนด์

ถัดจากสิงคโปร์ ประเทศที่เรามองโอกาสลงทุนคือ จีน ฮ่องกง ผมเจอคำถามบ่อยมากในช่วงหลายเดือนมานี้คือกรณีม็อบฮ่องกงเป็นความเสี่ยงหรือไม่ ผมกลับมองว่าเป็นโอกาสเพราะทุกคนถอยออกมา แต่ถ้าเราเข้าไปน่าจะเป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง

ส่วนประเทศจีน ดีเวลอปเปอร์ไทยและทั่วโลกไปแข่งกันในเซี่ยงไฮ้ เรามองว่าเป็นเรดโอเชียน ถ้าจะไปจีนเราคงมองเมืองเสิ่นเจิ้นเป็นหลักเพราะเป็นเมืองหลวงด้านไอทีของจีน ผมสำรวจตลาดแล้วมีลูกค้าลักเซอรี่จำนวนมาก ประเมินคร่าว ๆ จากยอดขายรถเฟอร์รารี่ขายดีที่สุดในจีนก็อยู่ที่เมืองนี้

Q : มีโอกาสทำตลาดแมสหรือเปล่า

DNA ของไรมอนแลนด์คือคอนโดมิเนียมลักเซอรี่ ในเมืองไทยเรายังโฟกัสเซ็กเมนต์นี้อยู่ แต่ก็ไม่ทิ้งโอกาสเจาะตลาดแมสแต่คงหันไปทำในต่างประเทศมากกว่า อาจจะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว มาเลเซีย

พอร์ตการลงทุนวางสัดส่วน 70/30 ลงทุนในไทย 70% ต่างประเทศอีก 30% โดยเราประเมินปัจจัยบวกปัจจัยลบอย่างเทรดวอร์ระหว่างสหรัฐ-จีน การประท้วงในชิลี ฮ่องกง ซึ่งมีเยอะมาก แน่นอนสำหรับนักลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แต่ในเวลาเดียวกันก็มองเป็นโอกาสลงทุนได้เช่นกัน เพราะในช่วงตลาดดี เศรษฐกิจรุ่งเรือง ก็จะเป็นการยากที่จะเข้าไปแข่งขัน

เพราะฉะนั้น บรรยากาศที่เกิดขึ้นรอบโลก มองเป็นโอกาสมากกว่า พื้นที่ที่เราสนใจมองตลาดเอเชียกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอน ผมมองว่าเทรดวอร์กับม็อบฮ่องกงสองแฟกเตอร์นี้อาจมีผลกระทบต่อดีมานด์และซัพพลาย แต่กำลังซื้อยังดี เพราะฮ่องกง จีน ยุโรปยังคงสนใจลงทุน

โดยภาพรวม เฉลี่ยการลงทุนเราต้องการเม็ดเงินปีละ 7,000 ล้านบาท ในขณะที่เฉลี่ยหลังจากนี้วางแผนเปิดปีละ 2 โครงการ มูลค่ารวมปีละ 10,000 ล้านบาท ขึ้นกับจังหวะและโอกาส ซึ่งเรามีดีล JV-joint venture มากขึ้น

ในส่วนของดีล JV เราไม่ได้สนใจเรื่องการเติบโตมากไปกว่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิ คำนวณจากมาตรฐานปกติ โครงการที่อยู่อาศัยคืนทุนใน 3 ปี คอมเมอร์เชียลคืนทุนใน 7 ปี

Q : ประเมินเศรษฐกิจไทยยังไง

เศรษฐกิจประเทศไทยอาจชะลอตัวไปบ้าง 2-3 ปีนี้อาจยังทรงตัวอยู่ ในลองเทอมตลาดเมืองไทยมี attraction หลายอย่างที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ มีเสถียรภาพระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะโอกาสที่มองไว้คือย่าน EEC-เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในอนาคตถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงสร้างเสร็จ ชาวต่างชาติที่ทำงานใน EEC ไม่จำเป็นต้องพักที่พัทยาแต่เดินทาง 3 ชั่วโมงกลับมานอนที่กรุงเทพฯได้ จะทำให้ตลาดเรสซิเดนเชียลในกรุงเทพฯ เชนจ์อีกครั้ง

การลงทุนที่เรามองไว้คือศึกษาตลาดซีเนียร์ลิฟวิ่ง เราวิจัยมา 3 ปีแล้ว แต่ตลาดผู้สูงวัยเมืองไทยยังไม่พร้อม แต่ถ้าจังหวะมาถึงเมื่อไหร่ไรมอนแลนด์สามารถลงทุนได้ทันที มีแผนธุรกิจในมือหมดแล้ว ถ้าทำก็คงร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นเพราะโมเดลต้นแบบเราศึกษาจากตลาดญี่ปุ่น

คร่าว ๆ ลูกค้าหลักคนไทยกับต่างชาติ 50/50 มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท เป็นโครงการเวลเนส ซึ่งเราไม่ห่วงด้านบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเมืองไทยมีอยู่จำนวนมาก ผมมั่นใจว่าไม่มีปัญหาในการ set up ธุรกิจเวลเนส ทำเลที่ทำได้ทั้งในกรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ แต่อาจต้องรอเวลาอีกสัก 3-4 ปี

Q : อยากให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาอะไร

เป็นคำถามที่เจออยู่เหมือนกัน ในฐานะนักลงทุนเราต้องการเสถียรภาพในการทำธุรกิจ แต่ถ้าถามว่า 3 อย่างแรกที่อยากขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุน ผมเริ่มจากเรื่องแรก ควรแก้ไขกฎหมายล้าสมัย ผมเดินทางเยอะมากก็พบว่าการทำธุรกิจอสังหาฯ ในเมืองไทยยังมีอุปสรรคกฎหมายล้าสมัย เช่น กฎหมายก่อสร้าง ระยะย่นตัวอาคาร กฎหมายผังเมืองที่ควบคุมตึกสูง ผมคิดว่าประเทศไทยนี้ดการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล

เรื่องที่ 2 อยากให้แก้สัดส่วนโควตาลูกค้าต่างชาติ ปัจจุบันซื้อห้องชุดได้ 49% ในขณะที่โลกสมัยใหม่เป็นการค้าเสรี ทุกวันนี้ลูกค้าต่างชาติมีความต้องการซื้อแต่ทำไมรัฐบาลไทยไปจำกัดโควตา เทียบกับต่างประเทศสามารถซื้อได้ไม่จำกัด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ อยากให้ปรับสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องซื้อได้ 100% แต่อาจเพิ่มเป็น 80% อย่างน้อยให้ซื้อได้ในสัดส่วนที่มากกว่าเดิม

เรื่องที่ 3 มาตรการ LTV-loan to value ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะมีผลกระทบกับลูกค้าคนไทย ทำให้การซื้อหลังที่ 2-3 มีข้อจำกัด

Q : คีย์ซักเซสในการทำธุรกิจ

คิดว่าเป็นเรื่องสตรองโปรดักต์ เราดีไซน์จากความต้องการลูกค้าเป็นที่หนึ่ง customer first เราพิถีพิถันในการพัฒนาดีไซน์และรูปแบบ เหมือนกับซื้อเบนซ์ที่มีให้เลือกทั้งซีคลาส อีคลาส เอสคลาส ซึ่งมีความคาดหวังกับแต่ละซีรีส์ไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นตลาดลักเซอรี่เปรียบเทียบคอนโดฯ กับเบนซ์ C class เทียบเท่าแบรนด์ The Lofts เบนซ์ E class เทียบเท่าแบรนด์ TAIT และตัวท็อปเบนซ์ S class เทียบเท่าแบรนด์ The Estelle

ไม่ว่าลูกค้าเลือกซีรีส์ไหน คอนโดฯ ไรมอนแลนด์ก็การันตีเป็นห้องชุดลักเซอรี่เพราะเป็น DNA ของเรา