ปักธง “คาเฟ่อเมซอน” แบรนด์กาแฟไทยในญี่ปุ่น

เป็นการสร้างแบรนด์ในต่างประเทศที่คุ้มค่า สำหรับร้านกาแฟ “คาเฟ่อเมซอน” ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยพันธมิตรทางธุรกิจที่ถือเป็นผู้กล้า ลุยปักธงลงทุนที่เมืองฟูกูชิมา ในประเทศญี่ปุ่น ภายหลังเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลงจากเหตุการณ์สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาระเบิด เป็นข่าวดังทั่วประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับยอดขายที่น่าพอใจ ล่าสุด ปตท.กำลังมองว่าอาจจะขายมาสเตอร์แฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอนในอนาคต โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจการอเมซอนสาขาแรกในประเทศญี่ปุ่น

เป็นมากกว่าร้านกาแฟ

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของร้านคาเฟ่อเมซอน แห่งแรกในญี่ปุ่น ที่สาขาคาวากุจิ จังหวัดฟูกูชิมานั้น นายยาซูโนริ อิวาโมโตะ (Mr.Yasunori Iwamoto) ประธานบริษัท โคโดโม เอนเนอร์จี จำกัด (Codomo Energy) ที่ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์จาก ปตท.นั้น มีความชื่นชอบกาแฟอเมซอน และประทับใจโมเดลของร้านที่ผสมผสานกลมกลืนกับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ จึงมีความตั้งใจนำร้านกาแฟอเมซอนมาตั้งสาขาในประเทศญี่ปุ่น

จุดเด่นของร้านถูกออกแบบในสไตล์ญี่ปุ่น บรรยากาศอบอุ่น เป็นกันเอง สาขานี้ลงทุน 100 ล้านเยน (หรือประมาณ 32 ล้านบาท) มีผลตอบรับที่ดี ด้วยยอดขาย 120-130 แก้ว/วัน เมนูที่ได้รับ

ความนิยมคือ “ชาไทยปั่น” ที่แม้แต่ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ได้ลองชิมมาแล้ว ในโอกาสมาตรวจงานในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

“การมาเยือนร้านอเมซอนและมีภาพดื่มกาแฟจากแก้วอเมซอนนั้นเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วญี่ปุ่น ส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างเด่นชัด รวมถึงการเริ่มต้นที่ฟูกูชิมา ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัตินิวเคลียร์ ยิ่งทำให้ประชาชนในญี่ปุ่นได้รู้จักกับ CSR ของ ปตท.ด้วย”

นอกจากมีเมนูเครื่องดื่มให้เลือกมากมายแล้ว ยังให้บริการอาหาร เช่น “ข้าวราดแกงกะหรี่” เป็นเมนูที่ภูมิใจเสนอ เพราะมีเชฟชื่อดังอย่าง “โมโตคึ โมตะ” เป็นผู้คิดสูตรให้ และมีขายเฉพาะสาขานี้แห่งเดียวเท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนา “ข้าวผัดกะเพราหมูสับ” ให้ถูกปากตามแบบฉบับของญี่ปุ่น เตรียมให้บริการเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

โดยทุกเมนูในร้านนำวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากเมืองไทย โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวง เพราะ ปตท.มีความตั้งใจส่งเสริมเกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม บริษัท โคโดโมฯ ในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์ในแฟรนไชส์อเมซอน มีความคิดจะขยายสาขาร้านอเมซอนไปยังเมืองอื่น ๆ เช่น โอซากา ชิคาชิกะ และชิซูโอกะ ซึ่งขณะนี้ ปตท.อยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะขยายในรูปแบบมาสเตอร์แฟรนไชส์หรือไม่ ทั้งนี้ นายยาซูโนริระบุว่า ต้องการลงทุนขยายร้านคาเฟ่อมซอนให้ได้ 90-100 สาขา ภายใน 3 ปีนี้

สำหรับราคาเครื่องดื่มในร้านอเมซอน สาขาคาวากุจิ มีราคาเริ่มต้นที่ 280 เยน (ประมาณ 90 บาท) ในขณะที่เครื่องดื่มชาไทยปั่นมีราคาอยู่ที่ 300 เยน (ประมาณ 96 บาท)

ลุ้นขายมาสเตอร์แฟรนไชส์

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ได้เล่าถึงทิศทางการขยายร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ในประเทศญี่ปุ่นว่า เบื้องต้นจะพิจารณายอดขายจากสาขาที่อยู่ในแผนของบริษัท โคโดโม เอนเนอร์จี ก่อนว่าเป็นอย่างไร อาจจะรอให้มีการขยายรวม 10 สาขาก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการเปิดขายในรูปแบบของมาสเตอร์แฟรนไชส์หรือไม่ หรือการได้รับสิทธิ์เป็นผู้พัฒนาร้านกาแฟแต่เพียงรายเดียวในญี่ปุ่น

จากปัจจุบันใช้วิธีพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายสาขา ทั้งนี้ ปตท.จะทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้สนใจลงทุนร้านคาเฟ่อเมซอน ตั้งแต่ลงศึกษาในพื้นที่เพื่อดูความเป็นไปได้ ไปจนถึงการซัพพอร์ตเครื่องมือ อุปกรณ์ การเทรนพนักงานให้ได้มาตรฐานของ ปตท.

“เราต้องการมั่นใจก่อนว่าแบรนด์ของเราจะทำยอดขายได้ในระดับที่ดี เพราะไม่ต้องการให้เปิดร้านแล้วมีปัญหา หรือต้องปิดกิจการ เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของแบรนด์ด้วย สำหรับธุรกิจร้านกาแฟในญี่ปุ่น แม้จะขยายตัวได้อีกมาก แต่การแข่งขันสูง เพราะมีหลากหลายแบรนด์ที่ทำตลาดอยู่ในขณะนี้”

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ปตท.วางเป้าหมายในปี 2564 จะขยายร้านอเมซอนทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 3,100 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในประเทศ 2,700 แห่ง และในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ประมาณ 400 แห่ง

นายอรรถพลระบุว่า เหตุผลที่ ปตท.ให้ความสำคัญกับการขยายอเมซอนในแถบ CLMV เพราะการบริโภคกาแฟขยายตัวค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 8-10 ต่อปี โดยเฉพาะในกัมพูชาทำยอดขายสูงสุดติดอันดับท็อปทรีของร้านอเมซอนทีเดียว ขณะที่ไทยมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 4

สำหรับในภูมิภาคอาเซียนนั้น ปตท.ได้ขยายสาขาไปแล้วรวม 63 แห่ง ในประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา และฟิลิปปินส์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนในมาเลเซีย สิงคโปร์ นอกจากนี้ ปตท.จะขยายร้านอเมซอนไปยังนอกประเทศอาเซียนอย่างเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน รวมถึงประเทศโอมาน คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้

การขยายธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศนั้น ปตท.ไม่ได้ลุยเดี่ยวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ได้มีการผนึกรวมพันธมิตรรายเล็กอย่าง SMEs ที่ร่วมมือกันให้บริการลูกค้าภายในสถานีบริการน้ำมันในประเทศอยู่แล้วไปเติบโตร่วมกันในต่างประเทศ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวมัลลิการ์ ร้านฮั่วเซ่งเฮงติ่มซำ รวมถึงร้านโดนัทแดดดี้โด ฯลฯ ซึ่ง ปตท.จะพิจารณาตามความเหมาะสม และความต้องการของตลาดในการเลือกพันธมิตรแต่ละแห่งมาเสริมการบริการ

อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจค้าปลีกให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น สิ่งสำคัญคือต้องขยายสถานีบริการน้ำมันให้ครอบคลุมด้วย นายอรรถพลระบุว่า ตามแผนการลงทุนของ ปตท.ช่วง 5 ปี (2560-2564) ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ ปตท.ทั้งในและต่างประเทศอยู่ที่ 59,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายสถานีบริการจากปัจจุบันมีอยู่ 1,530 แห่ง เพิ่มเป็น 1,620 แห่ง ปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 39

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ปตท.อาจจะนำธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อระดมทุนนั้น นายอรรถพลกล่าวชี้แจงว่า ปตท.ยังไม่มีแผนดังกล่าว สิ่งสำคัญในตอนนี้คือต้อง “สร้างแบรนด์” ให้เป็นที่รู้จักก่อน