‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ บริบทใหม่ความยั่งยืน สร้างสมดุล เพิ่มโอกาสธุรกิจ 

เพราะในอนาคตหัวใจสำคัญของการตัดสินใจลงทุน นโยบายและทิศทางด้านความ “ยั่งยืน” ของแต่ละองค์กรจะถูกนำมาเป็นองค์ประกอบในการลงทุน ซึ่งหัวข้อของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ถูกยกมากล่าวถึงในจัดสัมมนา ในหัวข้อ “ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน” โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งภาพรวมของงานดังกล่าวเชื่อว่า “วิถียั่งยืน” จะชุบชีวิตธุรกิจและสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ 

ในช่วงปี 2-3 ที่ผ่านมา “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นบริบทใหม่ที่บริษัทเอกชนหลายแห่งนำมาเป็นแนวคิดในการกำหนดทิศทางองค์กร ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG Model อันเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนอีกด้วย 

คอนเซ็ปต์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือมุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คุ้มค่าที่สุด หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้สร้างสร้างมูลค่าใหม่ มุ่งเน้นในหลักการ 5 Rs ได้แก่ Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่ Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้ รวมถึง Upcycle อัปไซคลิ่ง การแปรรูปวัสดุที่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่โดยสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนในไทยเริ่มนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ถึงแม้ว่าจะยังไม่เกิดโมเดลธุรกิจที่สมบูรณ์ที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าไม่เหลือเป็นขยะ หรือ zero waste และการตอบโจทย์ทางธุรกิจเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้ประกอบการที่ให้จริงจังกับเรื่องนี้ ได้แนวทางการทำธุรกิจใหม่ ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ขยับตัวก็จะทำให้เอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนปรับตัวตามไปด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการรายใหญ่จึงเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

จากหลักการเศรษฐกิจหมุนข้างต้น กลุ่มบริษัท ปตท. เป็นองค์กรใหญ่ที่นำแนวคิดนี้มาปรับใช้และขับเคลื่อนจากภายในอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการพลาสติก ยกตัวอย่างการรวมรวมตัวกันของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ที่ได้ร่วมมือทำโปรเจคใหญ่ “Plastic Circular Economy” มุ่งส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าของพนักงาน อันเป็นต้นทางของการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ทำการแยกขยะ และทำการรวบรวมขวดพลาสติก PET จากแต่ละบริษัท ซึ่งขวดพลาสติกที่ได้ความร่วมมือดังกล่าวจะนำมาผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล เป็นการสร้างมูลค่าให้พลาสติก (Plastic Upcycling) ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงโดยนำขวดพลาสติก PET ไปบดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นปั่นให้เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และนำไปทอเป็นผืนผ้า พร้อมออกแบบตัดเย็บแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายดีไซน์ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าสะพาย ผ้าม่าน กระเป๋าเป้ และอื่นๆ ดังกล่าวซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและเป็นจริงแล้วอย่างเป็นรูปธรรม 

ตอนหนึ่งในงานสัมมนา “ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน” โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ “พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ได้กล่าวยกตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างโดดเด่นและเป็นรูปธรรม คือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในองค์กร กุญแจดอกสำคัญ ภายใต้แนวคิด “GC Circular Living” จะทำให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการหลักปฏิบัติ เข้าสู่ทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ และกำลังลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกรีไซคลิ่งขนาดใหญ่มาก มีความจุ (capacity) รองรับขยะพลาสติกเข้าระบบ 6 หมื่นตันต่อปี 

พิมพรรณ กล่าวอีกว่า การจะลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกรีไซคลิ่งขนาดใหญ่แบบนี้ได้ในประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องการแยกขยะต้นทางที่บ้าน หมายความว่าจีซีต้องจัดการกับ value chain ตั้งแต่การคัดแยก ลำเลียงเข้าระบบ จนกระทั่งเมื่อได้เม็ดพลาสติกจากรีไซเคิลแล้ว จะต้องคิดว่านำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม และถ้าหากทำได้จริง แปลว่าเราจะสามารถนำพลาสติกไม่ใช้แล้วเข้ามาในระบบนี้ได้ 6 หมื่นตันต่อปี อันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้เกิดสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีตามมา 

ซึ่งจีซีมีการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่มกระบวนการอัปไซคลิ่ง (Upcycling) โดยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแปลงร่างขยะขวดพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า จากการเก็บและคัดแยกขยะพลาสติก นอกเหนือจากนี้ ยังลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกรีไซคลิ่งขนาดใหญ่ของจีซีนับเป็นหนึ่งการสร้างคุณค่าให้สังคม คือ ลดภาระของบ่อฝังกลบ ทำให้ขยะพลาสติกไม่หลุดลงไปในทะเล หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ส่วนจีซีก็ได้การประกอบกิจการที่ดี ผลกำไรดี มูลค่าแบรนด์สูงขึ้น หรือแม้แต่มูลค่าหุ้นในตลาดก็จะสูงตาม

และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดงาน “GC Circular Living Symposium 2020” เพื่อโชว์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำไปปฏิบัติได้จริงในอุตสาหกรรม ในภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม อีกทั้งยังนำมาปรับใช้ตั้งแต่ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีซี กล่าวภายในงานดังกล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทของแรงกาย แรงใจ และแรงเงินจำนวนมาก จีซี เชื่อมั่นว่า แนวทางสู่ความยั่งยืนเป็นคำตอบของอนาคต ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน GC จะต้องเริ่มเดินหน้าตัวตนเองก่อน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ให้ครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งหมด ที่ผ่านมาจีซีได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น Upcycling the Oceans, Thailand โครงการ Our Khung BangKachaoโครงการ ThinkCycle และโครงการ Public Private Partnership (PPP Plastic) โดยปัจจุบัน โครงการต่าง ๆ สามารถจัดเก็บขยะและคัดแยกขยะไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 190,000 กิโลกรัม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ลดได้ 439 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเทียบเท่าจำนวนต้นไม้ใหญ่ทั้งหมดกว่า 48,700 ตัน

โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนของจีซี มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติได้จริง สร้างความร่วมมือ ต่อยอดขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1. Smart Operating การนำเทคโนโลยีแบบใหม่มาพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี ค.ศ.2030 และลดความเข้มข้นของการปล่อย ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 52% ภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้เป็นหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก หรือ SDGs 

ต่อมาคือ 2. Responsible Caring การคิดค้น พัฒนา ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ ที่เลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาลง เพื่อลดพลังงาน และ ประหยัดต้นทุน และ3. Loop Connecting การสร้างและขยายความร่วมมือร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อขยายผลสำเร็จ เชื่อมต่อ ธุรกิจให้ครบวงจร

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีซี บอกว่า ความสำเร็จของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องอาศัย 4 ปัจจัย ได้แก่ Thought Leader ผู้นำความคิด นวัตกรและนักธุรกิจจากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันความรู้ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้เพื่อขับเคลื่อนโลกร่วมกัน Innovation ทั้งด้านการผลิตสินค้าและวิธีการทำงาน ต่อมาคือ Business Model แนวคิดนี้ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และEcosystem การสร้างระบบนิเวศเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ นำแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง สนับสนุนธุรกิจที่เป็นพันธมิตร ทั้งในระดับองค์กรเครือข่ายขนาดเล็ก 

เมื่อเอกชนขยับ รัฐบาลเองก็ต้องสร้างกลไกสนับสนุนเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในวงกว้าง โดยใช้ทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเป็นตัวสนับสนุน เหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีการกระตุ้นความต้องการสินค้าจากกระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและต้องมีช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้ากลุ่มนี้ได้สะดวก ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย…ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ขยายผลออกไปสู่การปฏิบัติได้มากขึ้น