“ญัตติฝ่ายค้าน” ร้อนแรง องครักษ์พิทักษ์ “ประยุทธ์” ย้อนศร ม.112

ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ตั้งแท่นซักฟอก 9 รัฐมนตรี+1 นายกฯ กลายบูมเมอแรง ย้อนกลับมาสร้างปัญหาให้พรรคฝ่ายค้าน

เพราะหนึ่งในสารพัดข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในญัตติฝ่ายค้าน มีอยู่ท่อนหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นตำบลกระสุนตก เพราะเกี่ยวข้องกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์”

“ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”

ทำให้ความพยายาม “โหมโรง” ปมทุจริต ประพฤติมิชอบรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านพยายามนำเสนอนอกสภา เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับคอการเมือง ถูกลดทอนกลบกระแสลงไป

กลายเป็นกระแสที่ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย และผองเพื่อนอีก 6 พรรคต้องออกมาแก้ต่าง แถมถูกฝ่ายรัฐบาลให้แก้ไขญัตติ

แต่แล้วมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังยืนยันที่จะไม่แก้ไขถ้อยคำแม้แต่คำเดียว

“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันเสียงแข็งว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม ถูกต้องทุกกระบวนความ ดังนั้นจะไม่มีการแก้ไขแม้แต่คำใดคำหนึ่ง มั่นใจว่า ส.ส.ทุกคน เข้าใจการพูดเกี่ยวกับสถาบัน ทุกคนระวังอยู่แล้ว อีกทั้งประธานที่ประชุมคอยดูแลกำกับอยู่คิดว่าคงไม่มีปัญหา

ตั้งวอร์รูมสกัด 112

ฝ่ายรัฐบาลจึงมีปฏิกิริยาตอบโต้ นอกจาก “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ขู่ว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อยื่นญัตติไม่ไว้วางใจแล้ว

ทีมองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี นำโดย “สุภรณ์ อัตถาวงศ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นั่งเป็น “หัวโต๊ะ” ประชุมคณะทำงานสนับสนุนผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ (สสอ.) ร่วมกับนักการเมืองตัวจี๊ดในค่ายพรรคพลังประชารัฐ

อาทิ นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงพลังงาน) นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในบังคับบัญชารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย)

เตรียมตั้งคณะทำงาน “วอร์รูม” ฝ่ายกฎหมายเฉพาะกิจ มี “ทศพล” เป็นหัวหอก คอยมอนิเตอร์คำอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน หากอภิปรายในทางเสียหาย บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบัน จะแจ้งความเอาผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทันที

ชุดที่ 2 เป็นวอร์รูมเตรียมข้อเท็จจริงให้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คอยแถลงตอบโต้นอกสภา

คู่ขนานกับ “วอร์รูม” ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ให้ ส.ส.แต่ละคน ช่วยสนับสนุนข้อมูล ขุดค้นผลงานรัฐบาล และรัฐมนตรีของพรรค ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะประเมินว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเที่ยวนี้ ไม่ระคายผิวรัฐบาลก็ตาม

เพื่อไทยยึดข้อบังคับ

ด้านพรรคแกนนำฝ่ายค้านเพื่อไทย โดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองภาพซักฟอกอีกมุมว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือในประเด็นดังกล่าวแล้ว จะใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ ก็ขอให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฟังด้วยใจเป็นกลาง อย่าเพิ่งรีบร้อนตีตนไปก่อนไข้ ประท้วงโดยไม่ฟังเนื้อหา เพราะจะทำให้สภาไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้อย่างราบรื่น

“ขอให้ยึดข้อบังคับการประชุมสภาเป็นหลัก ข้อที่ 69 เขียนไว้ชัดเจนว่า การอภิปรายไม่ให้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น เชื่อว่าทุกคนจะปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นอย่างดี”

เช่นเดียวกับ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานฝ่ายกฎหมายพรรค ในฐานะมือเขียนญัตติฝ่ายค้าน ก็เชื่อว่า แม้จะมีการประท้วง แต่ทุกฝ่ายจะปฏิบัติตามข้อบังคับ

เปิดญัตติคาบเกี่ยว “สถาบัน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 42 ครั้งที่ผ่านมา มีเรื่องคาบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพียง 2 ครั้ง เหมือนที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมกฎหมายรัฐบาล ออกมากล่าวต่อสาธารณะว่า ที่ผ่านมามีแต่ “เฉี่ยว ๆ” ก่อนจะมาถึงญัตติร้อนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในปัจจุบัน

1.เกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในเดือนพฤษภาคม 2490 โดยผู้นำฝ่ายค้านชื่อ “ควง อภัยวงศ์” นอกจากถูกซักฟอกเรื่องโจรผู้ร้ายชุกชุม และการทุจริต “กินจอบกินเสียม” จากการที่ซื้อจอบเสียมราคาถูกจากต่างประเทศ เพื่อไปแจกจ่ายประชาชน ยักยอกไม่นำเงินจากการขายจอบเสียมไปคืนกระทรวงการคลัง

ยังเป็นช่วงที่รับอำนาจการบริหารประเทศต่อจาก รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ และต้องสะสางเรื่องปมสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8

ดังนั้น หนึ่งในประเด็นที่ซักฟอกคือประเด็นคลี่คลายสถานการณ์สวรรคต “ควง อภัยวงศ์” ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายชี้แจงญัตติในสภาว่า “กรณีสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่อยู่ในนโยบายรัฐบาล แต่รัฐบาลนี้เมื่อรับเป็นรัฐบาลต้องรับช่วงกันมา ก็คือในกรณีสวรรคต ซึ่งเป็นข้อใหญ่ใจความ ประชาชนต่างพากันอึดอัดเต็มที่ทีเดียว เพราะเหตุว่าแม้เราจะได้มีการตั้งศาลกลางเมืองซักฟอกกันมาแล้ว”

“จะทำอะไรก็ไม่เห็นได้ทำ จะซักถามใครต่ออีกเพื่อประกอบอะไรต่ออะไรก็ไม่เห็นมี จริงอยู่การจับคนผิดถ้าสมมติว่ามีคนผิดก็ไม่ต้องมาบอกว่าทำอย่างไรก็ได้ แต่ว่าในเหตุผล 2 ประเด็นนี้ควรจะเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าประชาชนทุกคนข้างใจในเรื่องนี้อย่างใหญ่โต แล้วเรื่องมันก็อลเวงมาตั้งแต่ต้นจนถึงในขณะนี้ ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้ไปฟังดูว่าจะเป็นอย่างไรแน่ ในการซักถามก็ดี 
ในการอะไรก็ดี มักชวนให้สงสัย”

“อย่างประชาชนเขาพูดกับข้าพเจ้าบอกว่าคล้าย ๆ กับจะชักนำบ้าง อะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลควรจะชี้ลงไปทีเดียวว่าจะจัดการตามนัยอย่างไร รัฐบาลควรจะชี้แจงเพิ่มเติมให้มันขาวออกมา ถ้าขืนอุบเอาไว้อย่างนี้ไม่ได้เรื่องแน่ ๆ เพราะประชาชนต่าง ๆ ก็พากันอึดอัดใจในเรื่องนี้”

พล.ร.ต.ถวัลย์อภิปรายชี้แจงอภิปรายต่าง ๆ พอมาถึงเรื่องกรณีสวรรคตนั้น นายกฯกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ส่วนเรื่องสวรรคตนั้นไว้พูดกันทีหลัง”

ซักฟอก ลุงหมัก ป้อง “เจ๊เพ็ญ”

ครั้งต่อมาเกิดขึ้นในการซักฟอกรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” เมื่อปี 2551 
ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ญัตติกล่าวหา “สมัคร” คือ แสดงท่าทีปกป้องให้ท้ายกับผู้ใต้บังคับบัญชา ที่กระทําความผิดอย่างออกหน้า แม้รัฐมนตรีที่มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นความผิดร้ายแรง นายสมัคร สุนทรเวช ก็ยังปกป้อง โดยไม่คํานึงถึงผลกระทบต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่ง ของประเทศชาติและประชาชน

ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจาก “จักรภพ เพ็ญแข” ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องก่อนที่เขาจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล จากการกล่าวบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง ประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

หลังจากนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้ “จักรภพ” ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในที่สุด แต่ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องในปี 2554

กระทั่งมาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ความพยายามที่จะอภิปรายพาดพิงนายกรัฐมนตรีโยงกับสถาบัน กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง