CKPower Group ชูนวัตกรรมจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนองค์กรยั่งยืน 

อีกหนึ่งมิติของภาคธุรกิจคือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ขององค์กรที่สามารถวัดผลได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรรู้ได้ว่ากระบวนการที่พัฒนาขึ้นสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในระดับใด  สังคมได้รับการเติมเต็มในส่วนที่ขาดและตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งการดำเนินกิจกรรม ของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ที่มีวิสัยทัศน์และพันธกิจในการเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ก็ให้ความสำคัญในมิตินี้เช่นเดียวกัน

CKPower เน้นให้ความสำคัญกับการทำซีเอสอาร์ สร้างค่านิยมในองค์กรให้พนักงานมีจิตสำนึกในการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความสมัครใจ โดยเริ่มต้นมาจาก “โครงการหิ่งห้อย” ที่ปัจจุบันดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ทำให้พนักงานจิตอาสาในกลุ่ม CKPower มีโอกาสรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และพัฒนาต่อยอดการทำ CSR ให้เข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น (“BIC”) โดยบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด หนึ่งในธุรกิจของกลุ่ม CKPower ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำด้วยระบบโคเจนเนอเรชั่นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า  บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่นที่ 1 (“BIC-1”) และ 2 (“BIC-2”) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 238 เมกะวัตต์ (MW) จำหน่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำให้ผู้ประกอบการอื่นๆ ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนควบคู่กับการผลิตไฟฟ้า โดยมีนโยบายในการช่วยกันลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการคิดค้นโครงการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวางแผนการใช้ทรัพยากรภายในโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) 

สำหรับแนวทางการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น BIC มีแนวทางการควบคุมการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไม่เกิน 0.45 (tCO2/MWh) ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านมาตรการการควบคุมการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสภาพมลภาวะทางอากาศโดยรอบโรงไฟฟ้าและชุมชนที่อาศัยโดยรอบ

นอกจากนี้ ในปี 2563 BIC ได้ทำการเก็บข้อมูลการใช้น้ำในโรงไฟฟ้า นำมาจัดทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถวางแผนปริมาณการใช้น้ำได้ในอนาคต  ตัวอย่างเช่น โครงการปรับเปลี่ยนค่าควบคุม Chloride ของหอหล่อเย็น (Adjust Control Range Chloride of Cooling Water) เป็นหนึ่งในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและลดการสูญเสีย โดยการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ ช่วยลดปริมาณน้ำทิ้งจากระบบหอหล่อเย็นและลดปริมาณน้ำที่เติมเข้าสู่ระบบมากกว่าปีละ 80,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำที่โครงการได้ช่วยลดนั้นเทียบเท่ากับการใช้น้ำจำนวน 1,095 คน ในระยะเวลา 1 ปี (แหล่งที่มา : ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำของคนกรุงเทพฯ จากกระทรวงพลังงาน ปี 2563 โดยเฉลี่ยวันละ 200 ลิตร/วัน) รวมทั้งช่วยบริษัทฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า 3 ล้านบาทต่อปี

ทางด้านโครงการนวัตกรรม ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยไฟฟ้าในปี 2563 ลดลง ทั้งยังทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ 

1.โครงการลดการใช้น้ำมันหล่อลื่นของแก๊ส คอมเพรสเซอร์ ปรับปรุงระบบฉีดน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพและพอเหมาะกับปริมาณความต้องการใช้ ทำให้ปี 63 สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันหล่อลื่นและของเสียอันตราย และลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำมันหล่อลื่นและค่ากำจัดน้ำมันใช้แล้วเป็นจำนวน 209,000 บาทต่อปี

2.โครงการ Steam Turbine Load Adjustment ปรับปรุงความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของเครื่องกังหันไอน้ำ นำไอน้ำที่เหลือมาใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้จากเดิมอีก 1 MW ซึ่งเทียบเท่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 59,000 ครัวเรือนต่อปี (แหล่งที่มา : ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคนกรุงเทพฯ ปี 2563 จากกระทรวงพลังงาน) ทำให้ในปี 63 สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า 80,000 MMBTU และลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซธรรมชาติ 17 ล้านบาท

3.โครงการหยุดเดินเครื่อง Cooling fan 1 unit BIC-2 ให้พนักงานช่วยกันลดการใช้พลังงาน ผ่านโครงการหยุดเดินเครื่อง Cooling Fan 1 Unit  และเดิน Auxiliary Cooling Pump 2 Unit ในช่วงเวลาการใช้พลังงานต่ำ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ โดยปี 63 สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตเป็นจำนวน 118,202 หน่วย ซึ่งเทียบเท่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 33 ครัวเรือนต่อปี (แหล่งที่มา : ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคนกรุงเทพฯ ปี 2563 จากกระทรวงพลังงาน) สามารถลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซธรรมชาติได้ 200,417 บาท

4.โครงการ Air dryer 1 ชุด (BIC-2) จัดทำโครงการใช้งานเครื่องทำอากาศแห้งร่วมกันระหว่าง BIC-1 และ BIC-2 และหยุดเดินเครื่องทำอากาศแห้งของ BIC-2 ลง 1 ชุด เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ผลการดำเนินการทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตได้ 1,200 หน่วย ซึ่งเทียบเท่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 120 ครัวเรือนต่อวัน (แหล่งที่มา : ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคนกรุงเทพฯ ปี 2563 จากกระทรวงพลังงาน)

การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบของโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับรางวัลด้านพลังงานเป็นการการันตีความสำเร็จ คือรางวัลการยกระดับสิ่งแวดล้อมแห่งปีและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งปีของประเทศไทย และรางวัลระดับเงิน หรือ Silver at the Asian Power Awards 2020 จากนิตยสาร Asian Power นิตยสารชั้นนำด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าของเอเชีย พิจารณาโดยกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมไฟฟ้าในระดับสากล เพื่อมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั่วภูมิภาคเอเชียที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

ภายในปี 2564 CKPower วางแผนลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ได้แก่ พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินงานอันมีประสิทธิภาพบนหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสานสัมพันธ์กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า สะท้อนนโยบายและความตระหนักชัดเจนของกลุ่ม CKPower โดยมีเป้าหมายคือการดำเนินธุรกิจที่ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อความยั่งยืนสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป