เจาะไส้ใน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม 5 แสนล้าน เยียวยา “โควิด”

คลัง-พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน

แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาล ทั้งระดับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยืนยันมาตลอดว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยยืนยันเสียงแข็งมาตลอดว่า ไม่จำเป็นต้อง “กู้เพิ่ม”

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2564 เป็นต้นไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า วงเงิน 5 แสนล้านบาทจะนำมาใช้ดูแลประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย คนทำงานเพื่อสร้างงานให้กับภาคประชาชนในระดับท้องถิ่น หรือโครงการที่เป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูจากผลกระทบโควิด-19 เป็นกฎหมายคู่แฝดกับ พ.ร.ก. พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูฯรวม 3.5 แสนล้านบาท

“เราประมาทไม่ได้เลย เราเคยเชื่อว่าควบคุมได้ แต่ก็เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ได้ล็อกดาวน์เหมือนการระบาดรอบที่ผ่านมา และมี พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับเพื่อดูแลทุกมิติ ทุกภาคส่วน เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบและภาคประชาชนรวมแล้ว 8.5 แสนล้านบาท เพื่อสำรองไว้ในยามวิกฤต เพื่อให้เราก้าวพ้นและผ่านพ้นช่วงวิกฤตครั้งนี้ไปได้”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด นายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยงานที่ให้ลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุก ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีน เร่งควบคุมโรคระลอกใหม่ให้ได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นักลงทุนและผู้ประกอบการทุกภาคส่วน

“พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ยังมี พ.ร.ก.ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีก 3.5 แสนล้านบาท (ซอฟต์โลน+พักทรัพย์ พักหนี้) และยังมี พ.ร.บ.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศอีก 4 แสนล้านบาท รวม 1.25 ล้านล้านบาท ได้เตรียมไว้ยามฉุกเฉินในยามวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วก็ไม่น้อยไปกว่า 1.9 ล้านล้านบาท”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า คาดการณ์ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ในไตรมาสสองของปี’64 เงินกู้ใหม่ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับช่วงท้าย ๆ ของโควิด ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน

“ถ้าไม่ระบาด ไม่เบิก ดีที่สุด ถ้าไม่มีการเบิกใช้ในส่วน 5 แสนล้านบาท จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หมายความว่า มีการควบคุมการแพร่ระบาดในระดับสากลดีขึ้น เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ไม่คิดไปไกลว่า เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมแล้วจะต้องกู้เพิ่มหรือไม่ เงินก้อนนี้ (5 แสนล้านบาท) เตรียมไว้สำหรับในอนาคต ปี’65 ในกรณีเกิดความไม่แน่นอน เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

“เราไม่ได้เร่งใช้มาตรการในส่วนของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถูกกระจายไปบางส่วนในปี’64 แล้ว เงินกู้นี้เตรียมไว้เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนว่ารัฐบาลคิดอย่างรอบคอบ”

นายอาคมกล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติมวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท จำนวน 3 แผนงาน เป็นกฎหมายเฉพาะ เนื่องจากจำเป็นเร่งด่วน ความต่อเนื่องและแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ไม่สามารถตั้งงบฯประจำปีได้ทัน โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้รัฐบาลภายใน 30 ก.ย. 65

“กรณีจำเป็น ครม.สามารถอนุมัติปรับแผนงานได้ตามแผนงาน 3 วัตถุประสงค์ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินทันกับสถานการณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการช่วยเหลือเอสเอ็มอี”

นายอาคมกล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้ ออกมาเพื่อเตรียมการการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.5% จากคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัว 1.5-2.5%

“การกู้เงินครั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ประมาณการหนี้สาธารณะในเดือน ก.ย. 64 ในอัตรา 58.56% ต่อจีดีพี ซึ่งต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี”

นายดนุชากล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้มีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว ซึ่งการเบิกจ่ายคิดเป็น 79.88% ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงาน 163,628 คน ฝึกอบรมทักษะเกษตรกรไปแล้วอย่างน้อย 9 หมื่นราย เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 817,000 ล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2%

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับเงินกู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู 1.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก เรื่องแรก การลงทุนภาครัฐเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำ เช่น โครงการน้ำในชุมชน หรือโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เรื่องที่สองการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เรื่องสุดท้ายพุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่เป็นนิติบุคคล ผ่านมาตรการคนละครึ่ง รวมถึงผู้ประกอบการระดับกลาง เช่น ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด

ย้อนวาระคลังวางกรอบกู้เพิ่ม 7 แสนล้าน

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็มีการเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบหลักการ “กู้เพิ่ม” อีก 700,000 ล้านบาท โดยจะมีการยกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. …ขึ้นมาอีกฉบับ

เงินหมดเก๊ะ-จำเป็นต้องกู้เพิ่ม

ทั้งนี้ ในการจัดทำ พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน ก่อนหน้านี้  กระทรวงการคลังยกสารพัดเหตุผลเพื่ออ้างถึงความ “จำเป็นเร่งด่วน” ที่จะต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่ จากเดิมที่มี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทอยู่แล้ว อาทิ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีวงเงินคงเหลือ ณ วันที่ 11 พ.ค. 2564 เพียง 16,525 ล้านบาท, สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังยืดเยื้อ, ความเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้,

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า จากการระบาดระลอกใหม่ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะโตเพียง 2.3% ต่ำกว่าเดิมที่คาดไว้ 2.8%

นอกจากนี้ การระบาดของโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,387,425 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 343,575 ล้านบาท คิดเป็น 12.5%

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 นี้สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 และภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต

โดย รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่มีข้อจำกัด

อาทิ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ต้องใช้เวลา ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาด ประกอบกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท ก็ใกล้เต็มกรอบวงเงินแล้ว

เปิดช่องกู้โปะเงินคงคลัง

โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลน่าจะออกมาต่ำเป้าต่อเนื่อง ทั้งในปีงบประมาณ 2564 ไปจนถึงปีงบประมาณ 2565 ที่มีการประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อการเก็บรายได้ภาษีในปีหน้าด้วย

“กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท ปีหน้ามีแนวโน้มว่าจะไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกู้เพิ่ม ซึ่งตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่จะเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถบริหารสภาพคล่องทางการคลัง

หรือกู้มาใส่ในเงินคงคลังได้ในกรณีที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้รับผลกระทบจากโควิดด้วย โดยสามารถเสนอ ครม.อนุมัติให้ปรับโยกวงเงินมาใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น”

ตีกรอบใช้เงิน 3 แผนงาน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.ก.ฉบับใหม่ คาดว่าจะออกมาได้เร็ว ๆ นี้ โดยการกู้เงินมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อแก้ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19, เพื่อช่วยเหลือเยียวยาหรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงการบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีจำเป็น

“ตอนนี้กำลังพิจารณากันว่า จากกรอบ 700,000 ล้านบาทที่ ครม.อนุมัติหลักการไว้แล้ว แต่ถ้าควบคุมการระบาดได้เร็วกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นเร็วขึ้น ก็อาจจะใช้เพียง 500,000 ล้านบาท ส่วนอีก 200,000 ล้านบาท ก็เผื่อไว้ก่อน”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า กรอบวงเงินที่เสนอนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้อีก 1.5% โดยกรอบการใช้เงินจะอยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก. แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ

1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาหรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท และ 3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 270,000 ล้านบาท

ดันหนี้สาธารณะทะลุ 60%

คลังยังได้ประเมินผลกระทบต่อหนี้สาธารณะว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะคงค้างณ สิ้นเดือน มี.ค. 2564 อยู่ที่ 8,472,186.98 ล้านบาท คิดเป็น 54.28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ซึ่งการกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ 700,000 ล้านบาท จะส่งผลให้หนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณ 2564 (สิ้น ก.ย. 2564) ปรับขึ้นเป็น 9,381,428 ล้านบาท หรือ 58.56% ยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60%

ก่อนหน้านี้ นางสาวพีรพรรณ สุวรรณรัตน์ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า การกู้เงิน 700,000 ล้านบาทดังกล่าว จะมีผลกระทบ 4 ด้าน ได้แก่

1) การใช้จ่ายที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน และ GDP โดยรวมในปี 2564-2565 แต่ยังต้องติดตามความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนและการควบคุมการระบาดอย่างใกล้ชิด 2) หนี้สาธารณะไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นไปที่ 58.9-59.8% ของ GDP ณ สิ้นปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 63.7% ณ สิ้นปี 2565

3) ปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลในระยะต่อไปมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยประเมินว่าในปีงบประมาณ 2565 จะสูงถึง 750,000-800,000 ล้านบาท และ 4) แนวโน้มนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายอย่างมากจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี

รัฐจ่อปรับกรอบวินัยการคลัง

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า การกู้เงินเพิ่มส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 60% เร็วขึ้น โดยภาครัฐจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะในระยะเวลาอันใกล้ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้

ขณะที่ระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% เป็นระดับตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่นิยมใช้ในหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป เป็นต้น อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของแต่ละประเทศนั้นไม่มีระดับที่ตายตัว และขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ หลายฝ่ายต่างยอมรับถึงความจำเป็นที่ต้องมี “กระสุน” ไว้รับมือกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ ทว่า ก็มีการตั้งคำถามถึงการใช้เงินกู้ว่าคุ้มค่าเพียงใดและมีการมองกันว่าอาจจะเป็นการปูทางหาเสียงเลือกตั้งของพรรครัฐบาลอีกด้วย

แถมมีแผนการอัดงบฯจากเงินกู้นี้ลงไปที่กองทัพจำนวนไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลคงต้องอธิบายให้ชัด ตอบเคลียร์ในทุกประเด็น และต้องดำเนินการจัดทำ พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่อย่างโปร่งใส เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นได้มากที่สุด