เปิดโทษละเมิดเครื่องหมายการค้า คดีเสือพ่นไฟฟ้องหมีพ่นไฟชนะ 10 ล้าน

ภาพจากเฟซบุ๊ก Fire Tiger by Seoulcial Club

กางโทษ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หลังศาลมีคำตัดสินคดีร้านชานมไข่มุก “เสือพ่นไฟ” ฟ้อง “หมีพ่นไฟ

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีแดง กรณี บริษัท รวยสบายสบาย จำกัด เจ้าของแบรนด์ชานมไข่มุกเสือพ่นไฟ ฟ้อง เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มชานมไข่มุกหมีพ่นไฟ ฐานความผิดละเมิดเครื่องหมายการค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

ทางเสือพ่นไฟได้ขอศาลให้สั่งห้ามไม่ให้หมีพ่นไฟกระทำการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของเสือพ่นไฟต่อไป ให้ยุติการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่เหมือนคล้ายกับเสือพ่นไฟ

คดีนี้เสือพ่นไฟยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่จำเลยใช้คำว่า หมีพ่นไฟ และ The Fire Bear เป็นชื่อร้านค้า สินค้าและบริการ กิจการและเป็นชื่อชานมไข่มุก รวมถึงการใช้ประติมากรรมหัวหมีพ่นไฟ ที่มีลักษณะอ้าปากเป็นช่องส่งสินค้าชานมไข่มุกให้แก่ลูกค้า ซึ่งมีลักษณะเหมือนคล้ายกับธุรกิจของโจทก์

ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า เป็นร้านที่มีเจ้าของเดียวกัน หรือสินค้ามาจากแหล่งเดียวกัน ถือเป็นการลวงให้ประชาชนเชื่อว่า สินค้าหรือการค้าของจำเลยเป็นของโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับโจทก์

จึงถือเป็นการกระทำละเมิด ฐานลวงขาย พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลวงขาย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้อง รวมถึงชำระค่าเสียหาย เดือนละ 1 แสนบาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการกระทำละเมิดดังกล่าว

ชดใช้ 10 ล้านบาทสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย

ด้าน นายสืบสิริ ทวีผล ทนายความฝั่งเสือพ่นไฟ กล่าวภายหลังการพิจารณาคดีว่า เผยว่า คดีนี้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายหลายส่วนโดยเฉพาะความคุ้มครองเกี่ยวกับหลักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกว่า Trade Dress หรือ ความคุ้มครองการตกแต่งรูปลักษณ์ของสินค้าและบริการ

ซึ่งศาลพิพากษาว่าการใช้เครื่องหมายการค้า ชื่อ การบริการ และการส่งสินค้าให้ลูกค้าผ่านประติมากรรมหัวสัตว์เป็นการละเมิด ฐานลวงขาย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 10 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นค่าเสียหายในคดีเครื่องหมายการค้าที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

นอกจากคดีของศาลทรัพย์สินฯแล้ว โจทก์ยังได้ยื่นฟ้องจำเลย เป็นคดีอาญา โดยศาลเลื่อนไต่สวนมูลฟ้องไปเดือน กุมภาพันธ์ 2565

ด้าน น.ส.นันทนัช เอื้อศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รวยสบายสบาย จำกัด เจ้าของแบรนด์เสือพ่นไฟ กล่าวว่า สินค้าในเครือทุกแบรนด์ของเราจดเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว ซึ่งคดีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ผู้ที่ทำธุรกิจได้ตระหนักถึงทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น และอยากให้เป็นเคสตัวอย่างให้คนเห็นว่าการทำธุรกิจ หรือการได้แรงบันดาลใจและการลอกเลียนแบบแตกต่างกัน การทำธุรกิจควรให้เกียรติกัน ไม่ใช่ลอกโดยจงใจหรือตั้งใจ

กางโทษ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กำหนดความคุ้มครองเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม โดยกำหนดสิ่งที่เรียกว่าเครื่องหมาย หมายถึง ภาพถ่าย ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ ซึ่งจะมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้

มาตรา 108 บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือ เครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 109 บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือ เครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็น เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของ บุคคลอื่นนั้น ต้อง ระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 109/1 บุคคลใดนําหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือ เครื่องหมายร่วม ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรมาใช้สําหรับสินค้าของตนเองหรือ ของบุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมาย ร่วม หรือเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 110 บุคคลใด (1) นําเข้ามาในราชอาณาจักร จําหน่าย เสนอจําหน่าย หรือมีไว้เพื่อจําหน่ายซึ่ง สินค้าที่มี เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียน เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายรวมของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 หรือ (2) ให้บริการหรือเสนอให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของ บุคคลอื่นตามมาตรา 109 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

มาตรา 114 ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิด จากการสั่งการ การกระทํา หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทําของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับ ความผิดนั้น ๆ ด้วย

จับตา ทองสมิทธ์-ทองสยาม

อีกกรณีที่น่าจับตาคือ ร้านอาหาร “ทองสมิทธ์” โดยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปลา – อัจฉรา บุรารักษ์ หรือ ปลา ไอเบอรี่ เจ้าของร้านอาหาร เครื่องดื่มและไอศครีมที่ฮอตฮิตหลายต่อหลายร้าน เช่น รสนิม , iberry , โรงสีริมน้ำ , กับข้าวกับปลา และ ทองสมิทธ์ ฯลฯ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งลูกค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง

โดยระบุว่า “การสร้างแบรนด์ดิ้ง คือการสร้างตัวตนให้เป็นที่จดจำ นี่เป็นตัวอย่างของการจงใจสร้างความสับสน ให้กับผู้บริโภคทำไมถึงไม่อยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่เข้าใจ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือร้านนี้ ที่ห้างดังแห่งหนึ่ง ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ ร้านทองสมิทธ์นะคะ เพราะที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้าใจผิดเยอะ มากว่าเป็นสาขาของเรา ทั้งโลโก้ เมนู การตกแต่งร้าน มันมากเกินไปจริง ๆ”

ดังนั้นขอแจ้งให้ทราบตรงนี้เลยคะว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวเรืออื่น ๆ จะเป็น “ทองxx” หรือจะ “xxสมิทธ์” ใด ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเรา

ต่อมา เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือทองสยาม นายก้องชนินท์ หยาง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเรื่องเด่นเย็นนี้ ยืนยันว่าร้านก๋วยเตี๋ยวเรือทองสยาม ไม่ได้ลอกเลียนแบบร้านใคร ไอเดียการออกแบบเป็นทีมงานรับออกแบบคิดและตกแต่งให้ ส่วนกรณีที่ชื่อร้านมีคำว่า “ทอง” เหมือนกัน นายก้องชนินท์ ชี้แจงว่า ถึงจะมีคำว่าทองเหมือนกัน แต่เป็นคนละสี