ตะวันออกกลางเดือด! ชาติอาหรับ vs กาตาร์ “ขั้วอำนาจ” ที่กำลังเปลี่ยน ?

 

รายงานโดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

ความขัดแย้งสั่นคลอนโลกช่วงสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นความระอุในดินแดนตะวันออกกลาง แม้ไม่มีการสู้รบจนเสียเลือดเนื้อ แต่การตัดสัมพันธ์คว่ำบาตรทุกด้าน ทั้งทางการทูต เศรษฐกิจการขนส่ง การบิน อาหารและน้ำมัน ส่งผลกระทบร้ายแรงเป็นวงกว้าง

ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์ผ่านมาไม่กี่วัน เเต่กาตาร์ก็เจอผลกระทบสาหัสพอสมควร แม้กาตาร์จะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในตนเอง และมีทุนทางเศรษกิจในต่างประเทศมากมาย แต่ก็ยังต้องพึ่งพาต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยอาหาร โดยกว่าร้อยละ 80 ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 นำเข้ามาจากซาอุดีอาระเบีย

เศรษฐกิจช้ำหนัก ทางเลือกกาตาร์ เเยกตัว หรือ อ่อนข้อ ?

หลังเจอมาตรการคว่ำบาตรนี้ ประชาชนชาวกาตาร์จำนวนมากตื่นตระหนก หลายคนออกไปกักตุนอาหารและน้ำดื่มไว้เพื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ธุรกิจสร้างชื่อของประเทศอย่าง “กาตาร์ เเอร์เวย์” ก็เจอปัญหาใหญ่เช่นกัน เนื่องจากต้องยกเลิกเที่ยวบิน ภายหลังเหล่าชาติอาหรับยุติเที่ยวบินที่เดินทางเข้าและออกกาตาร์ และปิดน่านฟ้าในประเทศของตัวเอง ไม่ให้สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ของกาตาร์บินผ่าน

โดยความเสี่ยงที่กาตาร์เเอร์เวย์ต้องเผชิญมีหลายอย่าง เมื่อต้องเปลี่ยนเส้นทางบิน คือเวลาที่ใช้ในบางเที่ยวบินจึงเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัว และความไม่พอใจของผู้โดยสาร เพราะถ้าการเดินทางไปยังยุโรปที่เคยใช้เวลา 6 ชั่วโมง ก็จะใช้เวลา 8-9 ชั่วโมง ลูกค้าอาจเปลี่ยนใจไปเดินทางกับสายการบินอื่นแทน

รวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินหลายสิบเที่ยวต่อวัน ซึ่งมีจุดหมายปลายทางอย่าง นครดูไบ กรุงอาบูดาบี กรุงริยาด และกรุงไคโร นั้นสูญรายได้มหาศาลเช่นกัน

 

ด้านซาอุดีอาระเบีย ยื่นข้อเสนอหากจะฟื้นความสัมพันธ์อีกครั้ง กาตาร์จะต้องยกเลิกการสนับสนุนกลุ่มฮามาส และกลุ่มภราดรภาพมุสลิม รวมทั้งสำนักข่าวอัลจาซีรา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ กล่าวระหว่างเยือนกรุงปารีสของฝรั่งเศสว่า “ไม่มีใครอยากทำร้ายกาตาร์ แต่เขาต้องเลือกว่าจะเดินไปทางใดทางหนึ่ง”

ทางออกเริ่มมีบ้าง เมื่อเจ้าผู้ครองรัฐแห่งคูเวต เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียวานนี้ (7 มิ.ย.) พบปะกับสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาทางคลี่คลายความขัดแย้งในกลุ่มประเทศอาหรับ

“ดร.ศราวุฒิ อารีย์” รองผู้อำนวยการ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ต่อกรณีนี้ว่า กาตาร์คงจะต้องคิดหนักว่าหากปล่อยให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นยาวนาน จะผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยกาตาร์ควรจะต้องอ่อนข้อให้ซาอุดีอาระเบียมากขึ้น แล้วก็หวังว่าเจ้าผู้ครองรัฐแห่งคูเวตจะเข้าไปเป็นตัวกลางแก้ปัญหาได้ พร้อมกับต้องมาไตร่ตรองข้อเสนอที่ทางซาอุยื่นมาว่าคุ้มพอที่จะทำตามหรือไม่ อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์น่าจะไม่ยืดเยื้อ เพราะชาติอาหรับเคยมีปัญหากันหลายครั้ง แต่ก็กลับมาคุยกันได้อีก

“คงต้องรอดูต่อไปว่า กาตาร์จะตัดสินใจอย่างไร จะแยกตัวหรืออ่อนข้อรับข้อเสนอซาอุฯ ซึ่งถ้าไม่ยอมก็ต้องไปสร้างพันธมิตรใหม่ สร้างอำนาจที่เข้มแข็งขึ้นมา หรืออาจจะถึงขั้นไปอยู่กับตุรกีและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียซึ่งสามารถเป็นแบ็กอัพที่ดีให้กาตาร์ได้”ดร.ศราวุฒิระบุ

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษา กล่าวถึงทางออกของความขัดแย้งนี้ว่า มองจากฝั่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่ออกมาบอกว่าจะต้องมีการประสานความร่วมมือกันใหม่ โดจอาจจะเจราจาผ่านสภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซียและสันนิบาตชาติอาหรับ ซึ่งหากบานปลายอาจมีการเชิญสหประชาชาติมาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามตนคาดว่าปัญหาน่าจะไปไม่ไกลถึงจุดนั้น

“คาดการณ์ไม่ได้ ต้องรอดูการไกล่เกลี่ย ดูความทะนงของแต่ละฝ่ายที่แข็งกร้าวว่าอนาคตจะมีการลดลงหรือไม่ แต่ถ้ามองถึงความเป็นอาหรับด้วยกัน คิดว่าในท้ายที่สุดจะกลับมามีความสัมพันธ์กันใหม่ แม้แต่อิหร่านกับซาอุฯเองก็เคยดีกัน และก็กลับมาทะเลาะกันอีก เป็นวังวนอยู่เช่นนี้หลายครั้ง” ศ.จรัญกล่าว

สำหรับกาตาร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ มีรายได้ประชาชาติต่อหัวราว 144,139 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน โดยในปี 2015 เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดของโลก

รายงานระบุว่า เศรษฐกิจของกาตาร์ประมาณร้อยละ 63 ขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันกาตาร์สามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันสำรองในปี 2016 ประมาณ 25.2 พันล้านบาร์เรล ซึ่งประเมินว่าจะสามารถผลิตต่อไปได้อีกนานถึง 62 ปี หากใช้กำลังผลิตในระดับปัจจุบัน

 

ชีคห์ ซาบาห์ อัล-อาห์หมัด อัล-จาเบอร์ อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐแห่งคูเวต เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียวานนี้ (7 มิ.ย.) พบปะกับสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบีย

 

ไฟเขียวของทรัมป์ สะเทือนความมั่นคงตะวันออกกลาง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐอเมริกามีความสนิทแนบแน่น เป็นพันธมิตรกันมายาวนานกับกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เวีย โดยสูตรของความสัมพันธ์สองฝ่ายคือ “Oil for Security” เมื่อสหรัฐได้ประโยชน์จากน้ำมันจากกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ขณะเดียวกันสหรัฐก็ให้ความคุ้มครองทางด้านการทหารและความมั่นคงของกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมเนียมปฎิบติที่ทำกันมายาวนาน

 

“ทุกการตัดสินใจของกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย ผมเชื่อว่าจะต้องมีการปรึกษาหารือกับสหรัฐอเมริกาก่อน ทรัมป์มีส่วนสำคัญที่เปิดทางให้ซาอุดีอาระเบีย เป็นตัวตั้งตัวตีตัดสัมพันธ์กับกาตาร์” ดร.ศราวุฒิกล่าวถึงท่าทีของผู้นำสหรัฐ

 

โดยอีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นสาเหตุให้สหรัฐ “ไฟเขียว” ให้ซาอุดีอาระเบียแบนกาตาร์ครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือ เมื่อกาตาร์ประกาศสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม “Muslim brotherhood” ซึ่งเป็นเครือข่ายแม่ของ “ขบวนการฮามาส” กลุ่มไม้เบื่อไม่เมาที่ต่อสู้กับอิสราเอลในปาเลสไตน์ ขณะที่ทรัมป์ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ประกาศนโยบายสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ จึงไม่แปลกที่ทรัมป์จะเห็นดีเห็นงามไปตามแนวทางเดียวกันกับซาอุฯ

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ศราวุฒิมองว่า ในอีกแง่มุมหนึ่งสหรัฐเองไม่ต้องการสร้างความแตกร้าวแบบเด็ดขาดกับกาตาร์ เนื่องจากกองทัพของสหรัฐยังมีฐานทัพที่กาตาร์และยังคงมีผลประโยชน์ในอ่าวเปอร์เซียจำนวนมาก ความขัดแย้งที่บานปลายจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

 

ทั้งนี้ ข่าวระบุว่า กาตาร์เป็นฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐในตะวันออกกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐประจำการอยู่มากถึง 8,000 นาย

 

ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ ออกมาพูดกล่าวอ้างว่า แรงกดดันกาตาร์ครั้งนี้เป็นผลมาจาก การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของเขา และกำลังทำให้เกิดผลคุ้มค่าแล้ว โดยรอยเตอร์รายงานคำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์ที่สนทนากับกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุฯ ว่า “เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศในภูมิภาคจะร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสันติภาพและความมั่นคง”

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ พบกับพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุฯ ในซาอุดีอาระเบียเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

 

ขั้วอำนาจจะเปลี่ยน ? รัสเซียส่ออิทธิพลรุกคืบ สานสัมพันธ์กาตาร์

ช่วงนี้หลายคนอาจจะได้ยินกระแสข่าวที่ว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลัง “แฮกเกอร์” ปล่อยข่าวลวงทำให้เกิดการเข้าใจผิด กลายชนวนการคว่ำบาตรกาตาร์ ท่าทีของรัสเซียในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงที่ผ่านมา

“ในช่วงยุคโอบามา อิทธิพลของสหรัฐในตะวันออกกลางลดถอยลง สหรัฐไม่สามารถทำอะไรได้มาก แต่พอทรัมป์ขึ้นมาเขาพยายามจะทำอะไรบางอย่าง แสดงให้เห็นว่าสหรัฐยังมีอิทธิพลมากๆ ในภูมิภาคนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัสเซียเองก็ต้องทำอะไรสักอย่าง ผมไม่รู้ได้ว่ารัสเซียใช้แฮกเกอร์ทำอะไรหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ กาตาร์เป็นประเทศหนึ่งที่ไปมีความสัมพันธ์กับรัสเซีย สะท้อนให้เห็นว่าขั้วอำนาจกำลังจะเปลี่ยนไป” ดร.ศราวุฒิระบุ

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงไซเบอร์แห่งทำเนียบเคลมลินของรัสเซีย เปิดเผยกับสำนักข่าว Intercept ปฎิเสธข้อกล่าวหาการอยู่เบื้องหลังการใช้แฮกเกอร์ปล่อยข่าวลวงดังกล่าว โดยระบุว่าข้อกล่าวหานี้เป็นความพยายามให้สหรัฐบาดหมางกับรัสเซีย

 

หรือสื่อคือภัย บทบาท “อัลจาซีรา” ในชาติอาหรับ เครื่องมือเเทรกเเซงรัฐ ?

 

ท่ามกลางความพยายามหาทางออกจากหลายฝ่าย ซาอุดิอาระเบีย ยื่นข้อเสนอโยนหินถามทางมาให้ฝ่ายคู่ขัดแย้งว่า กาตาร์มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการหลายขั้นตอน หนึ่งในนั้นคือกาตาร์ต้องเลิกหนุนหลัง “สำนักข่าวอัลจาซีรา” ทันที โดยทางซาอุฯได้สั่งปิดสำนักข่าวดังกล่าวที่เปิดสาขาในประเทศแล้ว เมื่อ 3 วันที่ผ่านมา

 

เป็นที่น่าสนใจว่า บทบาทของ “อัลจาซีรา” ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ผ่านมาเป็นเช่นไร…

 

รัฐบาลกาตาร์เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลในตะวันออกกลาง ตั้งเป้าให้เป็นสื่ออาหรับที่มีความทัดเทียมกับ “ซีเอ็นเอ็น” ของสหรัฐ มีสาขาและนักข่าวกระจายอยู่ทั่วโลก เพิ่มรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยให้เข้าถึงมากขึ้นด้วย AJ+

 

ขณะที่สำนักข่าวท้องถิ่นในกาตาร์ มักมีความเชื่อมโยงกับเครือราชวงศ์ และแทบไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นอ่อนไหวทั้งในและนอกประเทศ โดยรัฐบาลกาตาร์เคยควบคุมการนำเสนอข่าวต่อประชากร ด้วยการปิดกั้นเนื้อหาโจมตีศาสนาอิสลาม สื่ออนาจาร และความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์

 

ถึงแม้อัลจาซีราจะกล้ารายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นที่เป็นเรื่องอ่อนไหวในภูมิภาค แต่หลายฝ่ายมองว่าอัลขาซีราก็หลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเอง ทั้งนี้ อัลจาซีราเคยถูกจำกัดการแพร่ภาพในเหล่าชาติอาหรับหลายประเทศเนื่องจากเนื้อหาสร้างความไม่พอใจให้หลายชาติ

 

โดย “ดร.ศราวุฒิ” ให้ความเห็นต่อบทบาทของสื่ออัลจาซีราว่า เป็นสื่อที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ไม่เคยมีสื่อลักษณะนี้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มาก่อน ซึ่งหลายชาติไม่ยอมรับการเกิดขึ้นของสื่ออัลจาซีราที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา หาข่าวแบบเจาะลึก โดยเฉพาะช่วงอาหรับสปริงที่อัลจาซีราเข้าไปทำข่าวการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์ และเป็นปากเสียงสะท้อนความทุกข์ยาก ทำให้ชาติอาหรับที่ได้รับผลกระทบจากอาหรับสปริงเกิดความไม่พอใจ และมองว่าอัลจาซีราเป็นเครื่องมือของรัฐบาลกาตาร์ที่เข้าไปเเทรกเเซงเพื่อนบ้าน

 

“เท่าที่ได้ติดตาม ผมมองอัลจาซีรากับความสัมพันธ์ซาอุฯ เป็นการทำงานแบบมืออาชีพ อะไรก็ตามที่ซาอุฯดำเนินการแล้วมีประสิทธิภาพ เช่นนโยบายการปฎิรูปประเทศ วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบียปี 2030 สำนักข่าวนี้ก็เอามานำเสนอและยกย่องว่าเป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอมุมการกุมอำนาจของรัฐซาอุฯ และเป็นกระบอกเสียงของประชาชนที่ไม่ได้รับการตอบรับ”

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการท่านนี้มองว่า สื่อตะวันตกอาจไม่ค่อยพอใจที่อัลจาซีราเข้าไปถึงแหล่งข้อมูลของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในตะวันออกกลาง หรือแม้แต่อิสราเอลก็ไม่พอใจเพราะมีรายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของปาเลสไตน์ พร้อมกันนั้นโลกอาหรับก็ไม่พอใจด้วย เพราะมีการนำนักการเมืองอิสราเอลมาพูดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นสื่อที่โดนวิพากษ์วิจารณ์จากมากมายหลายทาง

 

 

เบื้องหลังวิกฤตทางการทูตครั้งนี้ มีอะไรที่ซับซ้อนยิ่งกว่า?

 

“กาตาร์” ประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวยสุดๆ มีประชากร 2.7 ล้านคน ตั้งอยู่แถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ ถูกตราหน้าว่าเป็นชาติที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้านโดยการใช้ “สื่อ” บั่นทอนความมั่นคงในภูมิภาคอย่าง สำนักข่าวอัลจาซีรา

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเหตุผลที่ใช้เป็นข้ออ้างให้ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย (อ่าวอาหรับ) นำทีมโดยตัวเป้งอย่าง “ซาอุดีอาระเบีย” พ่วงมากับบาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) ตามด้วยอียิปต์ เยเมน ลิเบีย มัลดีฟส์และอีกหลายประเทศ ประกาศร่วมบอยคอตกาตาร์ ประเทศที่ดูเหมือนตอนนี้จะแตกแถวออกมา หรือมากไปกว่านั้นคือกำลังไปสานสัมพันธ์กับ “อิหร่าน” ศัตรูตัวหลักของซาอุดีอาระเบีย

 

“ดร.ศราวุฒิ อารีย์” เปิดเผย 4 ประเด็นหลักที่กาตาร์ถูกเพื่อนบ้านตัดสัมพันธ์ครั้งนี้ว่า ประเด็นแรก หากมองภาพใหญ่จะเห็นได้ชัดว่าเกิดจากความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางที่เชื่อมกับ “อาหรับสปริง” หรือการลุกฮือของประชาชนชาวอาหรับที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ ที่จุดกระแสมาตั้งแต่ปี 2011

“กาตาร์และซาอุดีอาระเบีย มีจุดยืนที่ค่อนข้างแตกต่างกันในเรื่องนี้ โดยกาตาร์ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในการปฎิรูปการเมืองให้มีความทันสมัย และทันต่อสถานการณ์โลก ขณะที่ทางซาอุฯ เห็นว่าการลุกฮือขึ้นของประชาชนในตะวันออกกลางจะบานปลาย สร้างความวุ่นวายและปัญหามากมายในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย ดังนั้นซาอุฯ มีนโยบายสกัดกั้นอาหรับสปริง”

 

ประเด็นที่สอง คือเรื่อง “ขบวนการภราดรภาพมุสลิม หรือ Muslim Brotherhood” ซึ่งเป็นขบวนการเก่าแก่ที่เข้มแข็งมากที่สุดในโลกอาหรับขณะนี้ ระยะหลังได้รับความนิยมจากประชาชนจนถึงขั้นชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ ซึ่งซาอุดีอาระเบียประกาศต่อต้านกลุ่มดังกล่าว สวนทางกับกาตาร์ที่ให้การสนับสนุน

โดยมีกรณีตัวอย่าง เช่น หลังจากนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ อดีตแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งในปี 2013 ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนั้น ด้านกาตาร์ก็กลายเป็นเวทีของสมาชิกกลุ่มที่รัฐบาลอียิปต์ไม่ยอมรับนี้ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เห็นว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมว่าเป็นองค์กร “ก่อการร้าย”

“ข้ออ้างหนึ่งที่ซาอุดีอาระเบีย อ้างว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย แต่จะอ้างกลุ่ม Muslim Brotherhood กลุ่มเดียวมันไม่พอ เพราะกลุ่มนี้ยังเป็นการต่อสู้เพื่อประชาชน เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชอบธรรมและเข้ามาเล่นการเมืองได้ ซาอุฯจึงดึงพวกเอากลุ่มไอเอส กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มฮามาสเข้าไปด้วย เพื่อที่จะหาความชอบธรรมและน้ำหนักกล่าวอ้างของตนเอง”

 

ประเด็นที่สาม คือเรื่องของท่าทีของอิหร่าน เพราะความขัดแย้งในตะวันออกกลางมักจะเป็นรูปแบบ Proxy War หรือ สงครามตัวแทน คู่ต่อกรสำคัญที่สุด คืออิหร่านและซาอุดีอาระเบีย โดยสงครามกลางเมืองในเยเมนและในหลายประเทศ ต่างก็เป็นสงครามตัวแทนของสองประเทศนี้ แต่ปรากฎว่าระยะหลังกาตาร์ไปคุยกับอิหร่านมากขึ้น จึงทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจเรื่องนี้ด้วย

 

และ ประเด็นที่สี่ การมาเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการแบนกาตาร์เร็วขึ้น “ทางซาอุฯคงถือโอกาสอธิบายให้ทรัมป์ฟังว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนพวกสุดโต่งและพวกผู้ก่อก
ารร้าย เป็นจุดหนึ่งที่ทรัมป์เปิดไฟเขียวให้ซาอุฯ นำทัพให้บอยคอตกาตาร์ครั้งนี้”

 

น่าติดตามว่าความตึงเครียดแห่งตะวันออกกลางครั้งนี้…จะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป