ทูตไทยแนะลงทุน “เวียดนาม” “ค้าปลีก-พลังงาน” โอกาสใหญ่

 

สัมภาษณ์

“เวียดนาม” ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักลงทุนทั่วโลกที่ตบเท้าเข้ามาแสวงหาโอกาสในตลาดแห่งใหม่นี้ จากศักยภาพเศรษฐกิจที่โตเป็นอันดับสองของโลกติดต่อกันหลายปี ด้วยอัตราการขยายตัวกว่า 7% รวมถึงเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่มีอัตราต่ำกว่าสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ

นายมานพชัย วงศ์ภักดี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจของเวียดนาม รวมถึงกฎระเบียบ และพฤติกรรมของชาวเวียดนามที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปเจาะตลาดเวียดนาม

 

เศรษฐกิจยัง “ส่องแสง”

เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ระบุว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีความต่อเนื่องทางนโยบายการเมือง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์บริหารประเทศเพียงพรรคเดียวนับตั้งแต่ที่ได้เอกราช นี่คือปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ทำให้การลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา บวกกับความเข้มแข็งของนโยบายที่เปิดกว้างต่อนักลงทุน มุ่งปรับกฎเอื้อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปัจจุบันเวียดนามถือว่าเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จาก FDI ค่อนข้างสูง เพื่อปิดรอยรั่วด้านรายได้จากการส่งออกที่ซบเซา

โดยทุกสำนักวิจัยจากทั่วโลกคาดการณ์ว่า เวียดนาม และอีก 2 ประเทศคือ อินเดีย และบังกลาเทศ จะเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดเฉลี่ย 5-6% ต่อปี จนถึงปี 2050 และมีแนวโน้มว่าขนาดเศรษฐกิจเวียดนามจะได้รับการเลื่อนชั้น จากอันดับที่ 32ของเศรษฐกิจโลกปี 2016 เป็นอันดับที่ 29 ในปี 2030 และอันดับที่ 20 ในปี 2050 ขณะที่ประเทศไทยตกจากอันดับ 20 ในปี 2016 เป็นอันดับ 22 ในปี 2030 และอันดับที่ 25 ในปี 2050

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้มุ่งปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ชูประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้าน “โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค” เด่นชัดที่สุด โดยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามปีที่ผ่านมา คิดเป็น 5.7% ของจีดีพี สูงสุดในอาเซียน ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับจีนอยู่ที่ 6.8%

“ค่าแรงที่ต่ำเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอดึงดูดการลงทุน ยุทธศาสตร์การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญของเวียดนาม และปี 2016 การลงทุน FDI เพิ่มสูงถึง 10,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลพวงที่ได้คือ อัตราการจ้างงานสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไม กลุ่มคนรายได้ปานกลางของเวียดนามขยับขึ้นเรื่อย ๆ”

“ค้าปลีก-พลังงาน” เปิดกว้าง

นายมานพชัยกล่าวว่า จากปัจจัยประชากรในวัยแรงงาน อายุต่ำกว่า 30 ปี มากกว่า 50% ของประชากร 93 ล้านคน และยังมีค่าแรงที่ต่ำ ขณะที่รัฐบาลยังผลักดันการสร้างท่าเรือน้ำลึกโดยเฉพาะทางภาคเหนือที่มีแผนปรับปรุงท่าเรือไฮฟอง ท่าเรือวินห์ และท่าเรือดานัง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ ในแง่ของระบบการขนส่งสินค้าที่มีความคล่องตัวมากขึ้น

“สำหรับธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามถือว่ายังมีโอกาสสูงสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ รวมถึงไทย แม้ว่ากระแสอีคอมเมิร์ซจะโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่สินค้าที่ชาวเวียดนามจะซื้อทางออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าชิ้นเล็ก เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้า แต่สินค้าชิ้นใหญ่ อาทิ ทีวี หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ยังนิยมมาซื้อที่ห้าง และด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่มีกำลังซื้อจะนิยมนัดพบกันที่ห้าง เพราะถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำวันยุคนี้”

ปีที่ผ่านมาตลาดค้าปลีกของเวียดนามขยายตัว 5% นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะสูงถึง 179,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 โดยกลุ่มโมเดิร์นเทรดครองส่วนแบ่ง 25% ของค้าปลีกทั้งหมด แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการค้าปลีกต่างชาติรวมทั้งไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามมาก แต่สัดส่วนของตลาดค้าปลีกต่างชาติยังมีมูลค่าเพียง 3.4% เท่านั้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในเวียดนามคือ ล่าสุดรัฐบาลได้เปิดการลงทุนใหม่ด้าน “พลังงานทดแทน” เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเปิดรับการลงทุนโรงไฟฟ้าทุกประเภท รวมทั้งถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่งไฟเขียวเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 แห่งที่ภาคเหนือและภาคใต้

เปิดประตูโอกาสนักลงทุนไทย

เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีนักธุรกิจไทยที่ให้ความสนใจลงทุนในเวียดนามค่อนข้างมาก และที่เข้ามาติดต่อผ่านสถานทูตไทยมีทั้งธุรกิจธนาคาร, การผลิต, การเกษตร, พลังงานทดแทน และบริษัทบริหารอาคารชุด นอกจากนี้มองว่าธุรกิจเครื่องสำอางและเครื่องปรับอากาศแบรนด์ไทย ประกอบในไทยและส่งออก ยังมีโอกาสที่น่าสนใจเช่นกัน

“คนเวียดนามมีนิสัยใจคอคล้ายคลึงกับคนจีน คือมีความขยันและอดทนในการหาเงินทุกรูปแบบ กระตือรือร้นในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่า หากเราเข้าใจในธรรมชาติของคนเวียดนาม การสานต่อธุรกิจ หรือบุกตั้งโรงงานเพื่อใช้ประโยชน์จาก FTA เวียดนามกับอีก 18 ประเทศทั่วโลก น่าจะเป็นผลประโยชน์มหาศาลที่คุ้มค่าจะลงทุนไม่น้อย”

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศไทยและเวียดนามควรกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่านี้ รวมถึงหอการค้าไทย-เวียดนาม ที่ต้องกำหนดบทบาทที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งในส่วนสถานทูตไทยในกรุงฮานอย ก็มีศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม (BIC) ที่พร้อมป้อนข้อมูลและข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้