9 มิถุนายน คือวันชี้ชะตาครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5 คน
เพราะจะเป็นวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ไฮไลต์ถูกยกยอดมาจากมติเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีมติให้ “เซตซีโร่” กกต.ทั้ง 5 คน
คนการเมืองมองว่าการเซตซีโร่มีนัยแอบแฝง เพราะเท่ากับ คสช.ต้องการจัดทัพ กกต.ใหม่ คุมการเลือกตั้งปี”61 ปูทางให้อยู่ยาว
ผ่านกลไกแม่น้ำ 5 สาย เริ่มจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นหัวขบวน ตัดอำนาจ กกต.จังหวัดอันเปรียบเสมือน “แขน-ขา” ของ กกต.
ถัดจากนั้น สนช.กดปุ่ม “เซตซีโร่” กกต.ทิ้งเพื่อคัดเลือก กกต.ชุดใหม่ 7 คนให้มีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรมนูญ
ในจังหวะที่ กกต.ชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 3 ปี มักมีเรื่องอื้อฉาวบ่อยครั้ง ยิ่งประทับตราความชอบธรรม-ข้ออ้างของฝ่ายที่ต้องการโละ กกต. 5 คนให้มีน้ำหนัก
ย้อนไปดูหลังจาก กกต.ชุด ศุภชัย สมเจริญ เข้ามารับตำแหน่ง “กรรมการ” สร้างเรื่องเป็นที่โจษจัน คือ “ปมขัดแย้งภายใน” ระหว่าง 5 เสือ กกต. จากศึกชิงบัลลังก์ประธาน กกต.
เหตุเริ่มจาก “สัญญาใจ” ที่ “ศุภชัย” ให้ไว้กับ กกต.คนอื่น ๆ ว่าจะอยู่เป็นประธานไม่นานเพียงแค่ 2 ปี จะสลับให้ กกต.ได้ขึ้นเป็นประมุขบ้าง
กระทั่งผ่านเหตุการณ์ทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ปฏิบัติการทวงเก้าอี้กันเองจึงเกิดขึ้น
มีกลิ่นการสลายขั้วกันภายในเริ่มโชยออกมา เพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้มี กกต. 7 คน
จากนั้นก็เป็นการเคลียร์คิวเก้าอี้ของประมุของค์กร
ย้อนไปในวันที่ 29 สิงหาคม 2559 กกต.ถึงขั้นปิดห้องประชุมลับ ทวงตำแหน่งกันดื้อ ๆ
เมื่อถูกกระแสสังคมวิจารณ์ ศึกแย่งเก้าอี้จึงค่อย ๆ เงียบหายไป แต่โครงสร้างภายในมีการปรับเปลี่ยนการกำกับ
คีย์แมน กกต.คนสำคัญอย่าง กกต. “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ถูกผลักดันให้รับบทเด่นภายในองค์กรมากขึ้น จากเดิมที่ดูเรื่องการเลือกตั้ง ขยับไปดูด้านบริหารกลางแทนภาระหน้าที่เดิมของ “ศุภชัย”
ส่วนประธานศุภชัยก็ขยับตัวเองมาดูเรื่องการเลือกตั้ง
ซึ่งการย้ายตัวเองมาดูเรื่องบริหารกลางกกต.สมชัยได้เข้ามา”ขันนอต” การทำหน้าที่ภายในของสำนักต่าง ๆ
จนทำให้ “สมชัย” ไม่เป็นที่ “ปลื้ม” ของบุคลากรของ กกต. ข่าวการ “เซตซีโร่” 5 เสือจึงอยู่ในความสนใจของพนักงาน และส่วนใหญ่จึงโล่งอก
วิกฤตอีกอย่างหนึ่งของ กกต.ชุดศุภชัย คือ การเลิกจ้างเลขาธิการ กกต. นามว่า “ภุชงค์ นุตราวงศ์” เลขาฯคนแรกที่เป็นลูกหม้อขององค์กร
มีรายงานว่า “ภุชงค์” ถูกเรียกไปให้เขียนใบ “ลาออก” ด้วยตัวเองเพื่อรักษาภาพ รักษาประวัติ
แต่ “ภุชงค์” ไม่ยอมเขียน และเมื่อต่างคนต่างเดิน
ท้ายที่สุดจึงมีมติเลิกจ้าง 4 ต่อ 1 เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ผ่านมาปีกว่ายังไม่มีเลขาธิการตัวจริง
ทั้งที่มีการสรรหาเลขาฯ กกต.อยู่หลายครั้ง มีข่าวว่า คสช.ส่ง “พล.อ.เดชา ปุญญบาล” ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และมีความใกล้ชิดกับประธาน กกต.ศุภชัย ถูกส่งเข้ามารับการสรรหา แต่ก็ไม่ผ่านการตัดตัว !
จนแล้วจนรอดเกือบจะได้เลขาฯ กกต.เมื่อมีมติเลือกนายอำพล วงศ์ศิริ ให้ดำรงตำแหน่ง
แต่สุดท้ายก็ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ เป็นประธาน ตั้งลูกไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
กระทั่งนายอำพลอายุครบ 60 ปี ไม่สามารถมารับตำแหน่งได้อีก
เก้าอี้เลขาฯ กกต.จึงถูกแขวนไว้อย่างนั้น โดยมี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่ “รักษาการเลขาฯ กกต.”
ชนวนยุบ กกต.จึงมีที่เกิดจากภายใน-ภายนอก
ต้องมีการสรรหาใหม่ใน กกต.ชุดใหม่ เพื่อรับการเลือกตั้งใหม่ในอนาคต
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้