เปิดร่าง พ.ร.บ.สุรา ปลดแอกรายย่อย ก่อนลุ้นโหวตรับหลักการอีก 60 วัน

ภาพจาก pixabay.com

เปิดสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ปลดแอกการขออนุญาตผลิตสุรา หลังรัฐบาลดอง 60 วัน เผยเลิกเกณฑ์เพดานกำลังการผลิต-ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ พร้อมย้อนดูเกณฑ์โหดหินเดิม

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ร่วมกันลงมติอนุมัติส่งร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา 60 วัน ก่อนส่งกลับให้ที่ประชุมสภารับหลักการวาระที่ 1 ในลำดับต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 207 เสียง ต่อ195 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง

สำหรับผู้ที่มีบทบาทหลักในการผลักดันประเด็นนี้คือ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ซึ่งแม้ว่าจะถูกรัฐบาลแก้เกมด้วยการขอรับร่าง พ.ร.บ. ไปพิจารณาก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 แต่จากคะแนนเสียงที่ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย 14 คน ของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ได้ยกมือลงมติสนับสนุนร่างฉบับนี้ และน่าจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงสถานการณ์การเมือง ถึงความสนใจต่อร่างกฎหมายฉบับนี้

“หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะเป็นก้าวแรกของการปลดล็อกให้ประชาชนได้มีโอกาสผลิตเบียร์และสุราพื้นบ้านจากวัตถุดิบในพื้นที่ เป็นการยกระดับและสร้างรายได้ให้ประชาชน” นายเท่าพิภพกล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงข่าวที่สภาเมื่อวานนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565)

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร รับหนังสือจากนายธนากร ท้วมเสงี่ยม ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้า และ ประชาชนเบียร์ ภาพจากสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ทำไมต้องแก้ ?

สำหรับที่มาที่ไปของการแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว ตามบันทึกเหตุผลประกอบ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ… จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุเหตุผลว่า ตามมาตรา 153 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 ที่ว่าด้วยเรื่องของการขออนุญาตผลิตสุรา ต้องยื่นคําขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพสามิต และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง  ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรานี้ให้มีอายุ 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต

แต่ตามมาตราดังกล่าว ไม่มีการกำหนดกรอบเนื้อหาในการออกกฎกระทรวงไว้ให้เหมาะสม ทำให้กฎกระทรวงที่ออกตามความบัญญัตินั้นกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตและเงื่อนไขอื่นที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรกว่าเหตุ ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายได้

สาระสำคัญ 7 มาตรา

ในการแก้ไขมาตรา 153 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ…. มีทั้งสิ้น 7 มาตรา แต่สาระสำคัญหลักอยู่ที่ มาตรา 3 ที่ให้เพิ่มข้อความในมาตรา 153 ให้รัดกุมขึ้นว่า หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรค 2 ที่ว่า การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กําหนดในกฎกระทรวง

จะต้องไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต กรณีผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี นับจากวันที่ได้รับการอนุญาต

มาตรา 4 กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศฉบับเดิมให้ใช้ไปจนกว่าจะมีการบังคับใช้กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศฉบับใหม่ ซึ่งการออกกฎหมายประกอบฉบับใหม่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 180 วันนับจากวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้

มาตรา 5 คำขอใดที่ยื่นขอไว้ก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือเป็นคำขอตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยอนุโลม หากคำขอมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมได้

มาตรา 6 ใบอนุญาตที่ออกก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ให้ใช้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุ

มาตรา 7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

เปิดเกณฑ์หินขอทำสุรา

สำหรับกฎกระทรวงที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขออนุญาตในปัจจุบัน คือกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา 2560 มีทั้งหมด 15 มาตรา กำหนดเกณฑ์การขออนุญาตดังนี้

1.สุราแช่ (ไวน์สปาร์กลิ้ง, ไวน์ น้ำตาลเมา น้ำขาว อุ และสุราแช่พื้นเมือง) ผู้ขอต้องเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด หรือเป็นสหกรณ์

ส่วนเบียร์ ผู้ขอต้องเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ํากว่า 10 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด โดยมีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชําระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

2.สุรากลั่น จำพวกเหล้าขาว สุราผสม สุราปรุงพิเศษ และสุราพิเศษ ต้องเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด

ส่วนจำพวกเอทานอล และสุรากลั่นชนิดสุราสามทับ (มีแอลกอฮอล์ 80 ดีกรีขึ้นไป) หากทำเพื่อส่งออกไปนอกประเทศ ต้องเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่หากผลิตเพื่อขายในประเทศ ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น

ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวยังกำหนดลักษณะของโรงงานผลิตด้วย โดยผู้ที่จะผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ต้องมีขนาดกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร/ปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี ส่วนผู้ที่ผลิตนอกเหนือจากนี้ต้องมีขนาดกําลังการผลิตไม่ต่ํากว่า 10 ล้านลิตร/ปี

ส่วนผู้ที่ผลิตประเภทวิสกี้ บรั่นดี และยิน ต้องมีขนาดกําลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรีไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตร/วัน

ขณะที่สุรากลั่นชนิดเอทานอล ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตและมีเครื่องจักรที่สามารถผลิตสุรากลั่นชนิดเอทานอลให้มีแรงแอลกอฮอล์ได้สูงถึง 99.5 ดีกรี, ต้องติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการคํานวณปริมาณสุรากลั่นชนิดเอทานอล และต้องติดตั้งระบบฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายจาก
โรงอุตสาหกรรมไปยังกรมสรรพสามิต สํานักงานสรรพสามิตผู้ควบคุมโรงอุตสาหกรรมนั้น และสํานักงานสรรพสามิตพื้นที่ที่โรงอุตสาหกรรมตั้งอยู่

โดยโรงงานที่ผลิตสุราชนิดนี้ ต้องใช้เครื่องจักรที่มีกําลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน
หรือกรณีใช้เครื่องจักรและคนงาน เครื่องจักรต้องมีกําลังรวมต่ํากว่า 5 แรงม้าและคนงานต้องน้อยกว่า 7คน

อีกทั้งต้องแยกออกจากที่อยู่อาศัยโดยชัดเจน อยู่ในทําเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรําคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และกรณีใช้ผลิตสุรากลั่น ต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 100 เมตร และต้องมีระบบบําบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกําหนด

ส่วนโรงงานที่นอกเหนือจากนี้ ต้องมีขนาดกําลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรีไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตร/วัน

ดังนั้น จึงน่าจับตาก้าวแรกของการผลักดันการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงหากการแก้ไข พ.ร.บ.สำเร็จแล้ว ทางกระทรวงการคลังจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการแก้ไขกฎกระทรวงที่ตรึงกฎกติกาหินแบบนี้อย่างไรต่อไป