ถอดรหัส Tokenomic JFIN ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจโลกใหม่

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์
ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด
สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ราคาคริปโตเคอร์เรนซีจะผันผวนสูง แต่เป็นเทรนด์ที่ดึงความสนใจได้ดี ต่อยอดถึงสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่น ๆ ทั้งยูทิลิตี้โทเค็น (Utility Token) NFT (Nonfungible Token) ขณะเดียวกันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยก็คึกคักไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ล่าสุดหน่วยงานภาครัฐต้องลุกขึ้นมาวางแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโตเคอร์เรนซีและโทเค็นดิจิทัล

ขณะที่ “เจ เวนเจอร์ส” ถือเป็นผู้ออกโทเค็นดิจิทัลบนบล็อกเชนรายแรก ๆ ในไทย ชื่อ “JFIN Coin” ตั้งแต่ปี 2561 ก็พยายามเร่งต่อจิ๊กซอว์ สร้างอีโคซิสเต็มของ “JFIN Coin” ด้วยการขยายพาร์ตเนอร์ชิปออกไปในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกเหนือจากกิจกรรมลด แลก แจก ออม เฉพาะเครือเจมาร์ท

“ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาได้นำ JFIN มาใช้กับธุรกิจในเครือเจมาร์ท และในปีนี้มีเป้าหมายที่จะขยายไปยังอีโคซิสเต็มของพันธมิตรต่าง ๆ ล่าสุดได้ร่วมกับเครือบีทีเอส กรุ๊ป ในกิจกรรม JFIN Adoption ลด แลก แจกสินค้า และบริการ

โดยประเดิมโปรเจ็กต์ด้วยการนำ JFIN Coin มาแลก “แรบบิท พอยท์” จาก Rabbit Rewards เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานแลกสิทธิประโยชน์จากสินค้า และบริการจากแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ เพื่อตอกย้ำการเดินเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม

“ในปีนี้เราจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาพัฒนา Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) มากขึ้นด้วย เรียกว่าจะขยายเครือข่ายออกไปในทุกมิติ”

ผนึกพาร์ตเนอร์ปั้น Tokenomic

สำหรับการสร้างอีโคซิสเต็มแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.สร้างกลไกในการนำเหรียญไปใช้ เช่น มี JFIN Adoption กับบริษัทในเครือ และเครือข่ายของพันธมิตร เช่น OneSiam, SF, บีทีเอส กรุ๊ป ซึ่งในไตรมาส 1 ก็มีอีกหลายราย เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของ JFIN ให้แข็งแรงมากขึ้น พร้อมไปกับการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคยุคดิจิทัล จากปัจจุบันมีกว่า 6 แสนวอลเลต คาดว่าจะทำให้มีผู้ใช้ JFIN เพิ่มขึ้นให้ได้

“ทุกโทเค็นมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน ดังนั้นโมเดลธุรกิจของแต่ละโทเค็นจะต่างกัน โดยโมเดล JFIN ชัดเจน คือ เป็นโทเค็นที่มีธุรกิจในการรองรับการใช้ เช่น นำมาซื้อโทรศัพท์ได้ ในกิจกรรมที่เครือเจมาร์ท ทำ คือ ลด แลก แจก ออม ปัจจุบันมีเหรียญ JFIN Coin อยู่ในตลาดประมาณ 100 ล้านโทเค็น จากทั้งหมด 300 ล้านโทเค็น โดยอีก 200 ล้านโทเค็นเดิมมีแผนจะขายออก แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณา”

“ธนวัฒน์” กล่าวว่า การสร้าง Tokenomics ต้องมีดีมานด์และซัพพลาย มีการใช้เหรียญ ทำให้โทเค็นหมุนเวียน ซึ่งราคาของเหรียญจะขึ้น ลดลงตามดีมานด์ซัพพลาย โดย JFIN ต่างจากโทเค็นอื่น ๆ เพราะเป็นเหรียญที่นำมาใช้งานได้จริงทั้งใช้ได้ในเครือเจมาร์ท และพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตก็จะขยายเพิ่มอีกมาก และเมื่อการใช้งาน JFIN เพิ่มขึ้น ในฝั่งของการใช้กระเป๋าเงิน หรือแอปพลิเคชั่น JID ที่บริษัทพัฒนาขึ้นก็จะโตขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากอีโคซิสเต็มที่เราค่อย ๆ สร้างขึ้น

ธุรกิจแห่ออกเหรียญ

อีกส่วน คือ 2.การสร้างแพลตฟอร์มและโปรดักต์ต่าง ๆ เช่น JID แอปพลิเคชั่นเก็บเหรียญ JFIN, แอปพลิเคชั่นปล่อยสินเชื่อ ป๋า แพลตฟอร์ม NFT สัญชาติไทย JNFT เป็นต้น โดยตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ หลายธุรกิจต้องการออกเหรียญมากขึ้น

ซึ่ง “เจ เวนเจอร์ส” มีกลไกในการสร้างเหรียญ คือ มีบล็อกเชน และมีบริษัท โทเคน ไนนท์ จำกัด ที่สามารถช่วยออกเหรียญให้ได้ มีหลายบริษัทติดต่อเข้ามา ทั้งกลุ่มมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ที่ต้องการออกเหรียญ คาดว่ารวม ๆ แล้วปีนี้จะเห็นภาคธุรกิจออกเหรียญไม่ต่ำกว่า 100 เหรียญ เฉพาะที่บริษัทออกให้ก็ 20-30 เหรียญ

“การออกเหรียญไม่ยาก แต่ความยากอยู่ที่ เมื่อออกเหรียญแล้วจะทำให้ดีได้อย่างไร ต้องมีอีโคซิสเต็มของเหรียญ โดยเราก็ให้คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อให้เหรียญที่ออกมีอีโคซิสเต็มที่แข็งแรง ซึ่งปัจจุบันทุกบริษัทก็พยายามหามุมของการใช้เหรียญ เพราะทุกคนก็อยากมีเหรียญของตัวเอง”

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาสิ่งที่บริษัททำ คือ เมื่อออกเหรียญแล้วจะมีกลไกการใช้เหรียญอย่างไร และจะเก็บเงินในกระเป๋าไหน ซึ่งบริษัทก็มีฝั่งกระเป๋าเงินด้วย คือ แอปพลิเคชั่น JID และ MetaMask กระเป๋าเงินดิจิทัลที่รับส่งเหรียญดิจิทัลที่อยู่บน Ethereum ได้ ซึ่งการสร้างแพลตฟอร์มเหล่านี้ ก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งในการเติมกลไกในการสร้างเหรียญให้แข็งแรงมากขึ้น

สำหรับเป้าหมายระยะยาวนั้น วางเป้าหมายว่า เมื่อสร้างอีโคซิสเต็มต่าง ๆ ให้แข็งแรงแล้ว เตรียมจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ

“เราตั้งบริษัทขึ้นเมื่อปี 2560 และระดมทุน ICO (initial coin offering) ในปี 2561 ส่วนปี 2562 ก็นำเงินระดมที่ได้มาพัฒนาระบบต่าง ๆ และเร่งสร้างอีโคซิสเต็ม JFIN ให้แข็งแรง และจากนี้ต่อไปจนถึงปี 2567 คือการนำระบบที่พัฒนาออกมาทั้งหมด ออกมาหารายได้ และเก็บสะสมเป็นกำไร ซึ่งปีนี้บริษัทอาจจะยังมีกำไรไม่มาก แต่จะค่อย ๆ เติบโตขึ้น”

สแกนกระแสสินทรัพย์ดิจิทัล

สำหรับภาพรวมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกนั้น ถือว่ามีความเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาครัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแลก็ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ขณะที่ความร้อนแรงของราคาเหรียญต่าง ๆ ก็ไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีก่อน และค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนก็เปลี่ยนไป คือ เริ่มมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมเม็ดเงินที่เข้ามาในตลาดนี้มาจากนักลงทุนรายย่อย

ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยก็ไม่หวือหวาเหมือนปีก่อน เพราะมีตัวละครเพิ่มเข้ามามากขึ้น ขณะที่นักเทรดก็หาพื้นฐานของแต่ละเหรียญไม่เจอ ทำให้เมื่อเหรียญหนึ่งปรับตัวขึ้น เหรียญอื่น ๆ ก็ขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเหมือนกันหมดทั่วโลก

ส่วนเหรียญไทยทั้ง 3 เหรียญ คือ KUB, ZMT และ JFIN ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่สิ่งดีที่เกิดขึ้นปีนี้ คือ ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแล มีการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เพียงแต่ว่าจะนำโอกาสที่เกิดจากบล็อกเชน คริปโตเคอร์เรนซีมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์