วิริยะเงินกองทุนหนา 4 หมื่นล้าน ยันสภาพคล่องเพียงพอจ่ายเคลมโควิดทุกฉบับ

วิริยะประกันภัย ยันสภาพคล่องเพียงพอจ่ายเคลมประกันภัยโควิด “เจอจ่ายจบ” ทุกฉบับ แจงสิ้นปี’64 เงินกองทุนกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเบี้ยรวมปีนี้โต 5% ยึดกลยุทธ์ Data-Driven Innovation

วันที่ 31 มีนาคม 2565 นายอมร ทองธิว กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าวประจำปี 2565 ว่า การดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาต้องยอมรับธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบต่างเจอโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะต้องเผชิญโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง โดยสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดของบริษัทคือ การบริหารจัดการการจ่ายสินไหมประกันโควิดเจอจ่ายจบ เพราะมีจำนวนของผู้เอาประกันภัยที่มาเบิกเคลมประกันภัยโควิดมีปริมาณมาก และยื่นกันอย่างพร้อมเพรียงในคราวเดียวกันหรือช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

จ่ายเคลมโควิดไม่กระจุก

โดยบริษัทได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบว่า การยื่นเคลมค่าสินไหมนั้นสามารถไปยื่นได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนของบริษัทที่มีอยู่ทุกที่ทั่วไทย และมีระบบเทคโนโลยีเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวส่งผลให้ภาวะกระจุกตัวในการทำเคลมได้ถูกกระจายไปยังแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว

นายอมร ทองธิว
นายอมร ทองธิว

ยันสภาพคล่องพอ เงินกองทุนหนา 4 หมื่นล้าน

สำหรับในปี 2565 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่บริษัทได้มีการประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และจากการประมาณการในสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ก็มีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินกองทุนเพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมในกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทุกฉบับที่บริษัทได้ให้ความคุ้มครองไว้

สำหรับการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 38,800 ล้านบาท เติบโต 1.56% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) จำนวน 33,400 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (Non-Motor) จำนวน 5,400 ล้านบาท โดยยังคงมีกำไรสุทธิประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจประกันวินาศภัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 30

“โดยประเมินเบี้ยรวมปี’65 คาดว่าจะโตกว่า 5% โดยธุรกิจน็อนมอเตอร์จะโต 3% มาอยู่ที่ 5,562 ล้านบาท อาจโตไม่สูงมากเพราะเบี้ยประกันโควิดจะหายไป ส่วนธุรกิจมอเตอร์คาดว่าจะโตได้ 6%” นายอมร กล่าว

“ภาพรวมเมื่อสิ้นปี’64 วิริยะประกันภัยมีสินทรัพย์รวม 80,000 ล้านบาท มีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 601% และมีเงินกองทุนประมาณ 43,000 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR) อยู่ในระดับสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สำนักงาน คปภ.กำหนดไว้ถึง 170%”

กลยุทธ์ Data-Driven ลูกค้า 8 ล้านกรมธรรม์

นายอมรกล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานในปีนี้ จะอยู่ภายใต้กลยุทธ์ “Data-Driven Innovation : เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย” ซึ่งคณะผู้บริหารของบริษัทเห็นพ้องกันว่าจากเหตุการณ์วิกฤตโควิดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก และยังส่งผลกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะหดตัว กำลังซื้อลดลง บริษัทจึงเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองผู้เอาประกันภัยให้ทันต่อสถานการณ์ โดยการนำ Data-Driven Innovation มาใช้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าในมือประมาณ 8 ล้านกรมธรรม์

“เราสามารถนำข้อมูลที่เก็บสะสมมาตลอด 75 ปีตั้งแต่ก่อตั้ง มาคำนวณและประมาณการหาความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้เอาประกันภัยกลุ่มต่าง ๆ ได้ ด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมในปีนี้” นายอมรกล่าว

ส่งประกันรถตามพฤติกรรมขับขี่-สุขภาพ

สำหรับประกันภัยรถยนต์ปีนี้ มีแผนจะออกขายประกันรถตามพฤติกรรมขับขี่หรือตามลักษณะการใช้รถเพิ่มอีกจำนวน 1-2 ผลิตภัณฑ์ จากที่ได้พัฒนาต่อยอดประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 (2+, 3+) ระยะสั้น ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองแบบไม่เต็มปีได้

ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 รวมความคุ้มครองความเสียหายต่อรถ กรณีรถชนรถฝ่ายถูก เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการทำประกันภัย ป.3 เป็นหลัก แต่ไม่ต้องการมีปัญหาในการจัดซ่อมรถ และติดตามเรียกร้องจากคู่กรณีหากถูกชน โดยบริษัทจะเป็นคนดูแลการจัดซ่อมรถให้ลูกค้า และสวมสิทธิไปเรียกร้องจากคู่กรณีเอง

ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 (2+) ซ่อมห้าง เพื่อตอบสนองลูกค้าในช่วงโควิด ที่ยังเป็นรถใหม่ อายุไม่เกิน 5 ปี แต่ต้องการประหยัดค่าเบี้ยประกันจากประกันภัยประเภท 1 ทำประกันแบบ 2+ แทน และผลิตภัณฑ์เพื่อสนองรับความต้องการผู้คนในแต่ละภูมิภาคได้เป็นการเฉพาะ แตกต่างทั้งเงื่อนไขความคุ้มครอง และเบี้ยประกันภัย

ส่วนทางด้านประกันน็อนมอเตอร์ โดยเฉพาะประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพบริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการรายบุคคล (Personalization)

บุกตลาดรถอีวี ขยายศูนย์เคลม “ปั๊ม-ห้าง”

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำเร็จในการให้บริการสินไหมว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายศูนย์บริการสินไหมออกไปมาก ทั้งในศูนย์การค้า ปั๊มน้ำมัน อาคารพาณิชย์ตามย่านชุมชน และย่านการจราจรหนาแน่นที่มักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ตลอดไปถึงการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การบริการเคลมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือของลูกค้าเพียงเครื่องเดียว ด้วยระบบ VDO CALL (VClaim on VCall)

นายสยม โรหิตเสถียร
นายสยม โรหิตเสถียร

“เราให้บริการลูกค้ากว่าล้านกรมธรรม์ต่อปี ข้อมูลการทำประกันภัยของลูกค้าที่สะสมมาต่อเนื่องกันหลายปี จึงมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยเฉพาะสถิติข้อมูลการเกิดเหตุ ลักษณะการเกิดเหตุ ช่วงเวลาเกิดเหตุ พื้นที่เกิดเหตุ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราบริหารจัดการงานสินไหมของบริษัทให้มีความแม่นยำ ลดระยะเวลาและขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว” นายสยมกล่าว

นอกจากนี้ นายสยมได้กล่าวถึงศักยภาพและความพร้อมรองรับการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีความพร้อมรองรับการรับประกัน โดยข้อมูลรถยนต์อีวีจดทะเบียนเดือน ก.พ. 65 เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง มีจำนวน 5,400 คัน บริษัทได้รับประกันไว้ประมาณ 700 คัน อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มความนิยมและกระแสการตอบรับรถยนต์อีวีของผู้ใช้คนไทยเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่ายดังที่ทยอยเปิดตัวอีกนับสิบแบรนด์

บริษัทเตรียมความพร้อมรองรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามาร่วม 4 ปี ตั้งแต่วิวัฒนาการมาจากรถยนต์ปลั๊ก อิน ไฮบริด โดยร่วมมือกับผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายชั้นนำ ในการเติมเต็มการให้บริการผู้ใช้รถยนต์ EV อย่างครบวงจร ด้วยการวางแผนจัดโครงสร้างเบี้ยประกัน จัดระบบสินไหมการซ่อม การจัดบริการอะไหล่ เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามั่นใจในการขับขี่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งแวดล้อมสะอาดด้วยพลังงานไฟฟ้า

ยกระดับตัวแทนนายหน้า

นายดลเดช สัจจวีระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาช่องทางการขาย ปัจจุบันตัวแทนและนายหน้าเป็นช่องทางหลักสำคัญ มีอยู่ประมาณเกือบ 10,000 คน เบี้ยประกันที่ได้รับมาทั้งหมดกว่า 50% ดังนั้นต้องสนับสนุนให้ตัวแทนและนายหน้า สามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสารและการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายดลเดช สัจจวีระกุล
นายดลเดช สัจจวีระกุล

เป้าน็อนมอเตอร์ 5.5 พันล้านโต 3%

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถึงแม้บริษัทจะเจอภาวะวิกฤตโควิดที่หนักหน่วงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ผลการดำเนินงานของน็อนมอเตอร์ ในปี 2564 ยังคงเติบโตได้ถึง 12.17% ด้วยเบี้ยประกันภัยรวม 5,400 ล้านบาท และบริษัทยังคงสามารถขยายอัตราส่วนประกันน็อนมอเตอร์เพิ่มเป็น 13.98% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยพอร์ตประกันภัยสุขภาพ เติบโตขึ้น 102% มาอยู่ที่ 851 ล้านบาท ทำให้ Market Share เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.7% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 3.3%

เป้าหมายหลักปี’65 ธุรกิจน็อนมอเตอร์จะโต 3% มาอยู่ที่ 5,562 ล้านบาท โดยจะยังคงเพิ่มสัดส่วนประกันน็อนมอเตอร์เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมุ่งเน้น พัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงรายบุคคล รวมถึงทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างเช่น บริษัทยังได้ขยายการดูแลต่อไปยังสุขภาพของรถยนต์ด้วย

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์
นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์

โดยเมื่อต้นปีนี้บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือ “ประกันภัยการขยายเวลารับประกันสำหรับอะไหล่รถยนต์” หรือ “Extended Warranty” ด้วยแนวคิดที่ว่าหากประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอุบัติเหตุ ประกันภัยนี้ก็จะคุ้มครองสุขภาพของรถคุณ ซึ่งแผนนี้ออกแบบให้คุ้มครองต่อเนื่องได้ทันทีเมื่อระยะการรับประกันจากผู้ผลิตสิ้นสุดลง ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุด 14 กลุ่มอะไหล่หลักและชิ้นส่วน 278 รายการ

ส่วนทางด้านการพัฒนาบริการ บริษัทยังคงมุ่งเน้นพัฒนาระบบ Core System เพื่อรองรับการเติบโตของประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาระบบ CRM และการใช้ Data-Driven เข้ามาช่วย เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

 


วิริยะประกันภัย เป็นบริษัทประกันวินาศภัยขนาดใหญ่ มาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ของตลาด โดยก่อตั้งมากว่า 75 ปี