ตรัง แห่ปลูกพริกไทยปะเหลียน ดีมานด์พุ่งผลผลิตไม่พอขาย

เกษตรกรชาวสวนยางอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ปรับพื้นที่ปลูกยางพาราหันมาทำสวนพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนเพิ่ม หลังความต้องการพุ่ง ราคาจูงใจ พริกไทยสด 160 บาท/กก. พริกไทยดำ 400 บาท/กก. พริกไทยขาว 1,200 บาท/กก.

นายจรูญ เสียมไหม (สวนบังไข) ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 1 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2560 ตนได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพารา พื้นที่ 3 ไร่ มาปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน

เนื่องจากในช่วงนั้นราคายางพาราตกต่ำ และในอดีตอำเภอปะเหลียนเป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญแห่งหนึ่ง จึงต้องการสืบสานการปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ให้อยู่คู่กับชาวปะเหลียนและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

โดยพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน จะมีกลิ่นหอม รสชาติเผ็ดร้อนเป็นเอกลักษณ์ มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร

นายจรูญกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันตนได้ปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน จำนวน 500 ต้น มีระบบการผลิต และการจัดการสวนที่ดี ผลผลิตมีความปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร มกษ.9001-2556 จากกรมวิชาการเกษตร ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่ให้ผลผลิต

โดยคาดว่าผลผลิตที่ได้จะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม (พริกไทยสด) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย ดังนี้ พริกไทยสดกิโลกรัมละ 160 บาท พริกไทยดำ กิโลกรัมละ 400 บาท พริกไทยขาว (กะเทาะเปลือก) กิโลกรัมละ 1,200 บาท

“นอกจากนี้ มีการจำหน่ายต้นพันธุ์พริกไทย ได้แก่ ต้นพันธุ์พริกไทย (แบบไหล) สูง 30 เซนติเมตรขึ้นไป ต้นละ 50 บาท ต้นพันธุ์พริกไทย (แบบตอนกิ่ง) สูง 30 เซนติเมตรขึ้นไป ต้นละ 80 บาท” นายจรูญกล่าว

อนึ่ง “พริกไทยตรัง” (TRANG PEPPER) ผลิตจากพริกไทยสายพันธุ์พื้นเมือง (ปะเหลียน) เป็นหนึ่งในสินค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยมีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนกว่าพริกไทยทั่วไป ถือเป็นเอกลักษณ์ ทําให้พริกไทยตรังเป็นที่นิยมในการนําไปเป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ

ทั้งนี้ พริกไทยสายพันธุ์พื้นเมือง (ปะเหลียน) มี 2 ลักษณะ คือ ยอดแดงและยอดม่วงที่ผ่านมาทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรังได้เข้าไปช่วยผลักดันให้มีการจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้า GI เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า ตลอดจนส่งเสริมประชาสัมพันธ์ ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับการตลาดยุคใหม่ที่เน้นช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง ทั้งนี้ ปัจจุบันผลผลิตในจังหวัดตรังที่ผลิตได้ยังไม่พอขาย