มากกว่า “พื้นที่เรียนรู้ด้านศิลปะ” คือ “โอกาสและการสร้างรายได้” ของศิลปิน

นอกเหนือจากการเป็น “พื้นที่เรียนรู้ด้านศิลปะ” ให้กับสาธารณะชน…หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครยังเป็น “พื้นที่สร้างโอกาสและรายได้” ให้แก่ศิลปินรุ่นเล็กที่ยังไม่มีกำลังทรัพย์พร้อม!

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปคุยกับ 3 ศิลปิน ที่ใช้พื้นที่ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” เป็นแหล่งพึ่งพิงด้านอาชีพ รวมทั้งเป็นพื้นที่เรียนรู้ สร้างสรรค์ และเก็บรับแรงบันดาลใจจากบรรดาผลงานแสดง นิทรรศการ และกิจกรรมด้านศิลปะสร้างสรรค์ต่างๆ

ร้านรวมของใช้ ของกระจุกกระจิง แต่เต็มเปี่ยมด้วยไอเดียในทุกชิ้นงาน ภายในร้าน “Tomorrow Close” ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของหอศิลปฯ “นบบดินทร์ จินดาวนิช” ผู้จัดการร้านและศิลปินอิสระบอกว่า ร้านเปิดมาประมาณ 1 ปี มีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเรื่อยๆ แต่ต้นปีที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบเหงาลงบ้าง โดยกระแสว่าหอศิลปฯ จะเปลี่ยนแปลงเวลาเปิด-ปิดให้ลดน้อยลงก็ถือว่ารับได้ แต่อย่างไรก็ตามคิดเห็นว่าต้องให้มีหอศิลปฯ ต่อไป เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เข้ามาเรียนรู้และแสดงผลงาน “ศิลปะควบคุมไม่ได้ ต้องให้เด็กจินตนาการบ้าง”

“ปัญจรัตน์ พลพลึก” ศิลปินอิสระรุ่นใหม่กับผลงานชุด “Feminine” มายืมสถานที่จัดแสดงศิลปะที่ห้อง People’s Gallery ชั้น 2 หอศิลปฯ สถานที่ซึ่งเคยมาเรียนรู้งานด้านศิลปะสมัยยังเป็นนักศึกษา โดยมองว่าพื้นที่นี้เอื้ออำนวยให้ทั้งศิลปินและผู้รักงานศิลปะ รวมทั้งบุคคลทั่วไปเข้ามาพบปะเชื่อมโยงได้ง่าย แต่หากมีมาตรการรัดเข็มขัดก็อาจส่งผลให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงที่นี่ยากขึ้น “พื้นที่นี้มีประโยชน์ อยากให้ที่นี่เป็นเช่นนี้ต่อไป ให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้พื้นที่นี้อย่างเท่าเทียม”

อีกหนึ่งศิลปินอิสระรุ่นใหญ่ที่หารายได้จากการรับจ้างวาดภาพ ณ หอศิลป มาเป็นระยะเวลา 6 ปี “สุขุม เกษรสิทธิ์” บอกว่านอกจากการที่ตนจะสร้างรายได้จากการรับจ้างวาดภาพที่นี่แล้ว แรงบันดาลใจจากนิทรรศการที่ผลัดเวียนมาจัดแสดงจากทั้งศิลปินดัง นักเรียนนักศึกษายังช่วยผลักดันให้ความเป็นศิลปินนี้ยังมีไฟอยู่เสมอ โดยอุปสรรคที่หอศิลปฯ กำลังเผชิญนี้ แม้อาจมีผลกระทบต่อการหารายได้ของตนบ้าง แต่ตนยินดีที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพื่อยืดลมหายใจหอศิลปฯ ให้ไปต่อได้

สำหรับการเปลี่ยนคณะกรรมการ ตนเพียงหวังว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป “เราไม่รู้ว่าคนที่เข้ามาใหม่ เขามีความคิดความอ่านด้านศิลปะอย่างไร จะเหมือนอย่างคนที่ก่อตั้งและต่อสู้มาตั้งแต่ต้นหรือไม่” สุขุม กล่าวทิ้งท้าย


แม้ผู้เข้ามาหยิบยืม “พื้นที่แห่งนี้” อาจจะต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากการใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่ศิลปินเหล่านี้ต่างก็ยินดีเพื่อให้ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” นี้สามารถที่จะยืนหยัดต่อไปให้ได้นานที่สุด ไม่ใช่เพราะเพื่อรายได้ของตน แต่หมายถึงการเรียนรู้ แรงบันดาลใจ ให้แก่เด็กรุ่นใหม่ต่อๆ ไป