LGBT : บ้านของคนก้าวข้ามทางเพศ คือ พื้นที่แห่งความเข้าใจ

พ่อแม่มักรักลูกตั้งแต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกเป็น “เพศ” อะไร! แต่ทำไมเมื่อลูกโตขึ้นมาและเลือกที่จะก้าวข้ามเพศทางกายภาพ กลับกลายเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ลูกคนเดิม” และเลือกที่จะ “ไม่ยอมรับ” ในความเป็น LGBT
.
อุปสรรคขวากหนามของการเป็นคนข้ามเพศจึงมักเริ่มต้นตั้งแต่ที่ “บ้าน” ! ก่อนจะลุกลามความขม เพราะด้วยสังคมและรัฐไม่เปิดกว้างเสรีทางเพศอย่างจริงจัง
.
ทว่า น่าแปลกใจทีเดียว เมื่อ “นัท ชโยดม” ผู้เข้าประกวดเวที Mr.Gay World Thailand ปี 2019 บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเขาไม่เคยมีปัญหาเหล่านั้น และย้ำตลอดบทสนทนาว่า “ผมมาจากครอบครัวที่ดี” ไม่ใช่ครอบครัวร่ำรวย แต่คือครอบครัวที่มีพ่อแม่รักและเข้าใจในความเป็น LGBT จนน่าอิจฉา ขนาดที่ว่า “แม่” ยังตามมาเชียร์และส่องหนุ่มๆ ร่วมเวทีประกวด กะว่าจะจับคู่ให้ลูกไม่โสดอีกครั้ง!
.
และอีกหนึ่งผู้เข้าประกวดเวทีเดียวกันนี้ “อาร์ม สัญญา” แม้จะยังอายุน้อย แต่ก็มองไกลถึง LGBT สูงวัย กับความหวังจัดตั้งบ้านพักคนชราเพื่อ LGBT สูงวัย “ไม่ต้องอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ต้องถูกตีตราด่าว่าเป็นคนข้ามเพศ”
.
การประกวดเวที Mr.Gay World Thailand เปิดกว้างพื้นที่เป็นเวทีแสดงศักยภาพของคนได้อย่างไม่จำกัด โดยจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในประเทศไทย เพื่อคัดเลือกตัวแทนเกย์ไปประกวดเวที Mr.Gay World 2019 ที่กรุงเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ เดือนเมษายน 2562 สำหรับแนวคิดหลักของปีนี้คือ “Dare to shine” หรือ “เกย์กล้าก้าว” คือความภูมิใจในตนเอง ไม่ยอมให้เพศสภาพมาบั่นทอนจิตใจหรือลดทอนศักยภาพในตนเอง