“ทีวีดิจิทัล” 6 หมื่นล้านเดือด แห่ปรับทัพ-เพิ่มคอนเทนต์

ทีวีดิจิทัลเปิดศึก อัดคอนเทนต์ไม่ยั้ง ชิงเม็ดเงินโฆษณา 6 หมื่นล้าน เจ้าตลาดช่อง 7-3 สร้างแม่เหล็ก “ละคร-วาไรตี้” “ช่องวัน-ช่อง 8-โมโน 29” ชูจุดแข็งตรึงคนดู สถานีข่าว “เนชั่นทีวี สปริงนิวส์” คึก “พีพีทีวี” ตั้งเป้าติดท็อปเทน เผยทุกค่ายรอลุ้น กสทช.ผ่อนปรนค่าใบอนุญาต ชี้ช่วยยืดลมหายใจช่องเล็ก

คึกคักตั้งแต่ต้นปีสำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัล แม้งบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีจะไม่เติบโต แต่ด้วยมูลค่าที่มากถึง 60,000 ล้านบาท และถูกครองด้วย 2-3 ช่องใหญ่เท่านั้น ทำให้ช่องอื่น ๆ ต่างต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทั้งการเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ บริหารจัดการภายใน เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาให้มากที่สุด และอีกด้านหนึ่งก็ต้องมีรายจ่ายที่รออยู่ ทั้งค่าเช่าโครงข่าย ค่าผลิตคอนเทนต์ และต้นทุนอื่น ๆ ที่เพิ่ม

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแข่งขันของทีวีดิจิทัลยังคงดุเดือดต่อเนื่อง หากสังเกตจะพบว่าตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าลดการใช้งบฯ แต่ช่องที่มีเรตติ้งท็อป 5 ต่างเคลื่อนไหว ด้วยการปล่อยคอนเทนต์แม่เหล็กออกมาเรียกเรตติ้ง และลากยาวมาถึงช่วงต้นปี โดยหลาย ๆ ช่องเริ่มมีการปรับต่อเนื่อง

เริ่มตั้งแต่ช่อง 3-7 ที่ปล่อยคอนเทนต์ละคร วาไรตี้ที่เป็นจุดแข็งออกมาตั้งแต่ต้นปี เพื่อยึดพื้นที่ ยึดส่วนแบ่งตลาดไว้ ขณะที่ช่องวัน ช่อง 8 ก็พยายามเติมคอนเทนต์ใหม่ต่อเนื่อง ทั้งซิตคอม ซีรีส์อินเดีย ส่วนโมโน 29 ก็กวาดภาพยนตร์ดังจากทุกสตูดิโอมาไว้เกือบหมด ส่วนสถานีข่าวทั้ง เนชั่นทีวี สปริงนิวส์ ก็มีการปรับผังรายการเช่นกัน

ส่วนในแง่ของลูกค้า (สินค้า) ก็เริ่มกลับมาวางแผนงบฯโฆษณาเข้าไปในแต่ละช่องด้วยเช่นกัน ซึ่งภาพรวมงบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีปีนี้อาจจะไม่เติบโต แต่ก็เป็นสัดส่วนใหญ่ที่น่าสนใจเพราะมีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมาตลาดรวมติดลบไปมากแล้ว

ช่อง 7-3 เพิ่มคอนเทนต์เด็ด

นายสมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้บริหารช่อง 7 (35 เอชดี) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้ปรับผังรายการ และเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ ๆ โดยเริ่มออกอากาศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เน้นไปที่บันเทิง วาไรตี้ ทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนละครซึ่งเป็นแม่เหล็กหลักก็ประเดิมด้วยละครฟอร์มใหญ่ 3 เรื่อง ได้แก่ สายโลหิต เล็บครุฑ และนางทิพย์ และเตรียมละครไว้อีกหลายเรื่องตลอดปีนี้

นอกจากนี้ยังมีรายการใหม่อีกหลายรายการ ได้แก่ เฮ มันโชว์ (Golden Tambourine) การแข่งขันร้องเพลงจากเกาหลี, มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ซีซั่น 2 ส่วนรายการข่าว สาระบันเทิงก็ปรับให้เข้มข้นขึ้น ทั้งสนามข่าวบันเทิง, เที่ยงบันเทิง, เจาะประเด็นบันเทิง เป็นต้น

ขณะที่ นายประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 เอชดี (ช่อง 3) ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่อง 3 จะยังตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์ ละคร-ข่าว นอกจากนี้ยังได้เตรียมละครฟอร์มใหญ่ไว้หลายเรื่อง เช่น คมแฝก แรงเงา 2 หนึ่งด้าวฟ้าเดียว เป็นต้น ควบคู่กับการพยายามเชื่อมโยงช่องทางออนแอร์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Mello, Channel 3 Live เป็นต้น เพื่อเพิ่มฐานคนดูรุ่นใหม่ และกระตุ้นให้คนกลับมาดูช่องหลักด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดส่งแคมเปญกระตุ้นคนดูตั้งแต่ต้นปีด้วยแคมเปญ “Fantastic 3” ดูละครช่วงไพรมไทม์ พร้อมชิงโชคเป็นรถยนต์และไอโฟน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม-18 กุมภาพันธ์นี้

พีพีทีวีตั้งเป้าติดท็อปเทน

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารช่องพีพีทีวี เอชดี กล่าวว่า หลังเข้ามารับตำแหน่งใหม่เมื่อปลายปี 2560 ก็เริ่มวางแผนปรับผังรายการใหม่ โดยจะปรับโพซิชันนิ่งพีพีทีวีเป็นเวิลด์คลาสทีวี (world class TV) เน้นการนำเสนอรายการต่างประเทศ กีฬา บันเทิง จากเดิมที่เป็นช่องกีฬา ข่าว โดยจะมีรายการใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 รายการ และจะทยอยออนแอร์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป และตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้ พีพีทีวีจะมีเรตติ้งติด 1 ใน 10 ของช่องทีวีดิจิทัล และมีรายได้เติบโตขึ้น 50-60% จากปีก่อน

“การแข่งขันทีวีดิจิทัลปีนี้ก็ยังดุเดือดต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าแต่ละช่องก็ต่างมีโพซิชันนิ่งของตัวเองที่แข็งแรง ทำให้พีพีทีวีก็ต้องหาความแตกต่าง เพื่อสร้างการเติบโตให้ช่อง” นายสุรินทร์กล่าว

ลุ้น กสทช.ผ่อนปรนค่าใบอนุญาต

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลอีกรายหนึ่งให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันช่องได้รับความนิยมจากผู้ชม (เรตติ้ง) 5 อันดับแรก เช่น ช่อง 3, ช่อง 7, เวิร์คพอยท์, โมโน 29 เป็นต้น ต่างก็มีเม็ดเงินโฆษณาเข้าไปหล่อเลี้ยงและให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ พร้อมกับใส่คอนเทนต์ใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ช่องที่มีเรตติ้งท้าย ๆ ตาราง หรือต่ำกว่า 10 อันดับแรก อาจจะต้องออกแรงมากขึ้น หากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืดอายุการจ่ายค่าใบอนุญาตออกไปก็จะทำให้ทีวีช่องต่าง ๆ มีเงินไปลงทุนพัฒนาด้านคอนเทนต์ต่อ ก็จะช่วยให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลคึกคักขึ้น ถ้าสถานีมีคอนเทนต์ที่ดี สินค้าก็พร้อมจะซื้อโฆษณาเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ทุกค่ายต่างก็ลุ้นกันอยู่ว่าท้ายที่สุดแล้วจะออกมาอย่างไร


ขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ผู้บริหารช่องไทยพีบีเอส แสดงความเห็นว่า การแข่งขันของทีวีดิจิทัลถือว่ารุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไทยพีบีเอสเองก็มีการปรับแผนการบริหารงานภายในเพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่บนสมรภูมิทีวีดิจิทัลได้ โดยยุทธศาสตร์หลัก ๆ จะมุ่งไปที่การพัฒนาคอนเทนต์ข่าวและสาระบันเทิง รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนไป