ญี่ปุ่นลงทุนเพิ่มรับศก.ขาขึ้น ยานยนต์-ขนส่งนำทัพ/จี้แก้วิศวกรขาด

หอการค้าญี่ปุ่นมองเศรษฐกิจไทยปี’61 ปรับตัวดีขึ้น เผยผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นเตรียมขยับลงทุนเพิ่มแค่ 1.8% รอลุ้น พ.ร.บ.อีอีซี คลอด ขณะที่กลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมาแรงวางแผนขยายลงทุนเพิ่มเท่าตัว 

นายฮิโรกิ มิตสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าการลงทุนของญี่ปุ่น สาขากรุงเทพมหานคร (เจโทร) เปิดเผยถึง ผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลัง 2560 ของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) โดยเก็บผลสำรวจตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.-1 ธ.ค. 2560 ใน 1,752 บริษัท โดยมีบริษัทตอบกลับ 583 บริษัท คิดเป็น 33.3% พบว่าบริษัทญี่ปุ่นในไทยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ 2560 มีแนวโน้มปรับตัวดีอย่างชัดเจน และคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของ 2561 ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (DI) จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นไปอยู่ที่ 37 จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ดัชนีอยู่ที่ 14 จากผลสำรวจ บริษัท 48% มองว่าจะปรับตัวดีขึ้น 41% คงที่ และ 11% มองว่าปรับตัวแย่ลง

ฮิโรกิ มิตสึมาตะ

ขณะที่การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2561 อยู่ที่ราว 60,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 1.8% (จากบริษัทที่ตอบแบบสำรวจ 295 บริษัท) โดยบริษัทที่ตอบว่า “ลงทุนเพิ่ม” คิดเป็น 34% และบริษัทที่ตอบว่า “ลงทุนลดลง” 29% โดยอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงยานยนต์ จะมีการลงทุนมากที่สุด มูลค่า 31,192 ล้านบาท จาก 27 บริษัท ขณะที่กลุ่มธุรกิจร้านอาหารก็เป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวมากที่สุด 117% จากปี 2560 มีเม็ดเงินลงทุน 1,807 ล้านบาท ปีนี้วางแผนลงทุนเพิ่มเป็น 3,922 ล้านบาท โดยเป็นการขยายการลงทุนของ 10 กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทร่วมทุน

สำหรับประเด็นการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี นายมิตสึมาตะกล่าวว่า ภายหลังร่าง พ.ร.บ.อีอีซีแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นก็คาดหวังจะได้เห็นนโยบายเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้นน่าจะทำให้หลายบริษัทตัดสินใจได้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งมีโอกาสที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนสู่ไทยมากขึ้นด้วย

นายมิตสึมาตะ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลสำรวจระบุถึงปัญหาและข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยบริษัทญี่ปุ่น 73% มองว่าปัจจุบันการแข่งขันรุนแรงขึ้น รองลงมาคือค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงขึ้น 40% และขาดแคลนบุคลากรระดับวิศวะ 30%

บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่าประเทศไทยขาดแคลนวิศวกร (นอกเหนือจากสาขาไอที) ถึง 44% ขณะที่ขาดแคลนวิศวกรไอทีเพียง 16% โดยบริษัทส่วนใหญ่เสนอแนะไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลไทยต้องส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในสาขาวิทย์-คณิต และบริษัทญี่ปุ่นได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ประเด็นหลักคือ ต้องการให้พัฒนาระบบและปรับเปลี่ยนการใช้งานระบบภาษีศุลกากร 50% ส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค 49% พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ 48% พัฒนาและปรับเปลี่ยนการใช้งานระบบภาษี เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล 30%