ครีม-ยา-อาหารเสริมท่วมจอ “อย.-กสทช-สคบ.” เอาไม่อยู่

ขายอาหารเสริม-เครื่องสำอาง เกลื่อนทีวีดิจิทัล-สื่อโซเชียล “กสทช.” แจงทีวีดิ้นหารายได้ ดันโฮมช้อปปิ้งเติมทุกช่อง เล็งอุดช่องโหว่กฎหมายป้องกันผู้บริโภครับกรรม ลั่นสั่งระงับทันทีหากผิดจริง “อย.-สคบ.” เสียงอ่อยทำเต็มที่ “โฮมช้อปปิ้ง” ยันเข้มคุณภาพ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้านวิทยุ โทรทัศน์ ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หาทางป้องกันแก้ไขปัญหาการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตามประกาศ กสทช. การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามความในข้อ 5(2) ของประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555ดังนั้น อย. และ สคบ. จะแจ้งรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาให้ กสทช. สั่งห้ามไม่ให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รวมถึงวิทยุ โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันหากผู้บริโภคร้องเรียน ก็จะประสานตรวจสอบกับ อย.แก้ไข และเพื่อดำเนินมาตรการเชิงรุก หากพบ โฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เกินจริง จะมีคำสั่งไปยังช่องทีวีให้ระงับออกอากาศทันที

โฮมช้อปปิ้งโฆษณาเกินปรับ 5 ล.

แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอยู่ในภาวะต้องหาทางเอาตัวรอด จึงได้เห็นการขายเวลาให้รายการประเภทโฮมช้อปปิ้งเยอะมาก กสทช.ก็พยายามจะคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับหลายหน่วยงาน

“แต่ถ้าเป็นเรื่องการมีเนื้อโฆษณาในช่องทีวีมากเกินไป เนื่องจากมีรายการโฮมช้อปปิ้งมาก แล้วผู้บริโภครู้สึกโดนเอาเปรียบ ต้องขอเวลาหารือบอร์ดและฝ่ายกฎหมายว่า จะมีช่องทางใดดำเนินการได้บ้าง เพราะจริง ๆ รายการพวกนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการโฆษณา เนื่องจากจะนับว่าเป็นเวลาโฆษณาเมื่อมีการขึ้นเบอร์โทร. ให้สั่งสินค้าได้ ทำให้แต่ละช่องรายการยังมีจำนวนเวลาโฆษณาอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้”

ปัจจุบันตาม พ.ร.บ. กสทช. กำหนดไม่ให้ผู้ประกอบการทีวีแบบบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) ซึ่งรวมทีวีดาวเทียม ใช้เวลาออกอากาศโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที แต่เมื่อรวมเฉลี่ยทั้งวันต้องไม่เกิน 5 นาที/ชั่วโมง ส่วนทีวีดิจิทัลซึ่งเป็นฟรีทีวี ให้โฆษณาได้ไม่เกิน 12 นาที/ชั่วโมง แต่รวมเฉลี่ยทั้งวันต้องไม่เกิน 10 นาที/ชั่วโมง หากฝ่าฝืนถือเป็นการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภค หรือโฆษณาค้ากำไรเกินควร หรือทำให้เดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาทจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง

ดีอีคุมโฆษณาออนไลน์

ส่วนการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บนช่องทางออนไลน์ จะเป็นกรอบอำนาจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งประสานงานร่วมกันอยู่ โดยหากสำนักงานได้รับแจ้งว่ามีเว็บไซต์หรือช่องทางใดโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสม จะแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ระงับการเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวต่อไป

“ในช่วงเวลาที่ กสทช. ชุดนี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องไปได้จนกว่าจะมีบอร์ดชุดใหม่ งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเป้าหมายที่ต้องการผลักดันให้เกิดมากขึ้น นอกเหนือจากการประมูลคลื่นความถี่ ปัญหาด้านบรอดแคสต์ในส่วนนี้ก็จะมีการหยิบยกขึ้นมาศึกษาตามกฎหมายแล้วว่า กสทช. จะทำอะไรเพิ่มได้บ้าง

ฝ่าฝืน-เบิ้ลโทษปรับได้อีก

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีทีมมอนิเตอร์การเผยแพร่โฆษณาบนวิทยุและโทรทัศน์ นอกเหนือจากที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค เพื่อคอยตรวจสอบการโฆษณาไม่เหมาะสม และสั่งให้เจ้าของช่องระงับการเผยแพร่ หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลากำหนดจะสั่งปรับทางปกครอง ซึ่งกรณีโฆษณาเกินจริงมีโทษปรับวันละ 20,000 บาทจนกว่าจะระงับการเผยแพร่

หากยังไม่ดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดอีก จะถือว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนคำสั่งทางปกครอง ตามมติบอร์ดได้กำหนดโทษไว้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิทยุทดลองประกอบกิจการ 2.ผู้ประกอบการวิทยุ และเคเบิลทีวีท้องถิ่นและภูมิภาค 3.ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีระดับชาติ ทีวีดิจิทัล ทีวีแอนะล็อก

“ในส่วนของรายการประเภทโฮมช้อปปิ้ง ที่ผ่านยังไม่พบการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่มีปัญหา ส่วนใหญ่จะไปแฝงอยู่ในรายการอื่น ๆ ในลักษณะเป็นสปอนเซอร์”

ส่วนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทโฮมช้อปปิ้ง กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อไม่ให้กระทบกับอุตสาหกรรม

“กสทช.มองว่า ควรส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประเภทโฮมช้อปปิ้งเติบโตก่อน แล้วค่อยวางกติกามารองรับประเมินว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มกำกับดูแลน่าจะเป็นช่วงปี 2563 โดยจัดทำคู่มือให้ผู้ประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข อาทิ รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาจะขอบเขตทำอะไรได้แค่ไหน”

อย.ยันทำเต็มที่-ตามขั้นตอน

ด้าน ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า การตรวจสอบเลข อย.จะทำให้ทราบว่าสินค้านั้น ๆ ได้รับอนุญาตแล้วหรือไม่ ซึ่ง อย.จะสุ่มตรวจสอบภายหลังจดแจ้ง ถ้าพบว่าผิดกฏหมายก็จะเพิกถอนการจดแจ้งสินค้านั้นๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อย. ไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างประเด็นเมจิกสกินก็ไดำเนินการเต็มที่ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ขณะที่ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ กล่าวว่า สคบ.ถือเป็นกระบวนการสุดท้ายของการใช้สินค้าและจะดำเนินการได้

เมื่อมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียน กรณีของเมจิสกิน ก็มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนแล้วจากนี้ไปก็จะดำเนินการตามขั้นตอน

เกลื่อนโซเชียล-ทีวีดาวเทียม

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีโฮมชอปปิ้ง ให้มุมมองว่า ปัจจุบันมีสินค้าจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มเสริมอาหารและความงามใช้วิธีการขายสินค้าในลักษณะทีวีโฮมชอปปิ้ง โดยซื้อสปอตโฆษณาช่องทีวีดาวเทียมรายเล็ก เนื่องจากราคาโฆษณาไม่สูง ขณะที่อีกกลุ่มขายผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียโดยตรงในลักษณะสร้างเครือข่ายแบบขายตรง มีทั้งสินค้าได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐานกระจายอยู่ในตลาดจำนวนมาก”

สอดคล้องกับการสำรวจของผู้สื่อข่าวที่พบว่า ช่องทีวีดาวเทียมต่าง ๆ มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายแบรนด์เช่าเวลาโฆษณาขายสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไบโอวัน นาฬิกาแฟชั่นดีจิงไฮเทค ซื้อ 1 เรือนแถม 1 เรือน และแหวน ชุดละ 999 บาท, เสริมอาหารสำหรับผู้ชายดับเบิลแม็กซ์ เป็นต้น อีกกลุ่มขายผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย ซึ่งมีทั้งเสริมอาหาร บำรุงผิว ครีมทาหน้า เครื่องสำอาง เป็นต้น

ปัจจุบันตลาดทีวีโฮมชอปปิ้งมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องทุกปี มีผู้เล่น 6 รายหลัก ได้แก่ ทีวี ไดเร็ค ทรูซีเล็คท์ โอชอปปิ้ง ไฮชอปปิ้ง ชอปชาแนล และทีวีดี โมโม่ ซึ่งรวมตัวกันในนามสมาคมทีวีโฮมชอปปิ้งประเทศไทย มีแนวทางสร้างมาตรฐานการขายสินค้าเข้มงวด และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค มีนโยบายรับคืนสินค้า รับประกันคุณภาพ รับผิดชอบต่อความปลอดภัยในการใช้สินค้า บริการหลังการขาย ฯลฯ