ศก.ใต้ทรุด “ยาง-ปาล์ม” ฉุดค้าปลีก-มอไซค์ร่วง

“ปาล์ม-ยางพารา-มะพร้าว-กุ้ง” ฉุดเศรษฐกิจใต้ดิ่ง K&K ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ยอดขายหาย 25% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี ดีลเลอร์มอเตอร์ไซค์-ปิกอัพกระทบหนัก จาก 100 คันต่อสาขา แต่ตอนนี้ 20 สาขาได้ไม่ถึง 20 คัน กลุ่มเกษตรกรบ่นอุบมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ด้าน “สนธิรัตน์” ยันชูนโยบาย “Local to Global” ช่วยภาคเกษตร

พืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน-ยางพารา-มะพร้าว ตลอดจนกุ้ง ต่างประสบปัญหาราคาตกต่ำมาโดยตลอด ส่งผลกระทบไปถึงกำลังซื้อในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยปาล์มน้ำมันขณะนี้มีราคาอยู่ที่ 2.60-3 บาท/กก., ยางแผ่นดิบ 38-40 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 43.10 บาท/กก.

น้ำยางสด ณ หน้าโรงงาน 39 บาท และมะพร้าว 3 บาท/ลูก โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิดตกต่ำก็คือ ประเทศผู้ซื้อชะลอการรับซื้อลง ราคาตลาดโลกตกต่ำ และปริมาณสต๊อกคงเหลือตกค้างในประเทศอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ กุ้งขาว (100 ตัว/กก.) ที่เลี้ยงกันมากในภาคใต้ก็ราคาตกลงเหลือแค่ 102 บาท/กก. หรือตกลงมาประมาณ 10-15 บาท/กก.

ยอดขายค้าปลีกใต้วูบ 25%

นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์ค้าส่ง จำกัด ผู้ค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้กว่า 20 สาขา และประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวถึงการลดลงของราคาพืชผลทางการเกษตรส่งผลให้ “ยอดขาย” ของธุรกิจค้าปลีกลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันกำลังซื้อผู้บริโภคในภาคใต้หายไปเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากยางพารา 65% ขณะเดียวกันราคาปาล์มน้ำมันก็ตกต่ำลงเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรด้วย ดังนั้น คาดการณ์ปี 2561 ยอดการค้าปลีกทั้งระบบจะลดลงไปถึง 25%

“ทิศทางราคาสินค้าเกษตรในปี 2562 ผมยังไม่เห็นถึงแนวโน้มที่เป็นขาขึ้น เฉพาะยางพาราปลายปี 2560 ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 45 บาท/กก. ตอนนั้นคาดการณ์ว่าจะขยับถึง 65 บาท/กก. จากการที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการแปรรูปยาง แต่ปรากฏจนถึงขณะนี้เกือบ 1 ปี ก็ยังหาดีมานด์ไม่ได้และไม่มีความคืบหน้าเลย อนาคตปี 2562 ผมก็ได้แต่หวังเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งเท่านั้น”

นายกฤษณ์ เชาว์บวร เลขาธิการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา) กล่าวว่า ปี 2561 ภาวะธุรกิจการค้าไม่ดี พืชเศรษฐกิจหลักทางภาคใต้ทุกตัว (ยางพารา-น้ำยาง-ไม้ยาง-ปาล์มน้ำมัน) ราคาไม่ดีเหมือนเดิม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และยังมีประเด็นเรื่องทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่จะส่งผลกระทบมาถึงไทยอีก แต่รัฐบาลกลับรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจว่า “อยู่ในเกณฑ์ที่ดี” เพราะมองเป้าเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่และบริษัทขนาดใหญ่ ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าจะมีเงินหมุนเวียนสะพัดมากขึ้น

ใต้ซบฉุดยอดยามาฮ่าหดตัว

น.ส.จินตนา อุดมทรัพย์ รองประธานกรรมการบริหาร บจ.ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ กล่าวถึงภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศช่วง 9 เดือนปีนี้ว่า ลดลงต่อเนื่อง 1.6% มียอดจดทะเบียนที่ 1.36 ล้านคัน สาเหตุหลักมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะ “โซนภาคใต้ยังไม่กระเตื้องขึ้นมาเลย” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักกระทบตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวม และเมื่อแบ่งส่วนแบ่งในตลาดตามเซ็กเมนต์จะพบว่า กลุ่มสปอร์ต เป็นตลาดที่หดตัวมากที่สุด 9 เดือนมียอดจดทะเบียนลดลง 15% หรือ 185,000 คัน, กลุ่มโมเพ็ด 700,000 คัน โต 1.7% และกลุ่มออโตเมติกโต 0.6%

ศก.สุราษฎร์ฯซบหนักรอบ 30 ปี

นายศุภพร ล่องดุริยางค์ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านดอนปิยะกลการ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ “ฮอนด้า” ซึ่งมีโชว์รูมกว่า 30 สาขาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจการจับจ่ายใช้สอยซบเซาลงไปมากในรอบ 30 ปี “ผู้คนใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น” ทางบริษัทเองมีการปรับตัวในการทำธุรกิจด้วยการจ้างพนักงานเท่าที่จำเป็น ลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้ได้มากที่สุด แม้ภาวะราคาปาล์ม-ยางตกต่ำลงจะยังไม่ส่งผลกระทบกับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า เนื่องจากมีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างมากและตัวแบรนด์มีความแข็งแกร่ง แต่ในส่วนที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนิสันและทาทา ตอนเปิดโชว์รูปใหม่ ๆ ที่ราคายางสูงกว่า 100 บาท/กก. ขายรถได้เดือนละ 100 กว่าคัน แต่ปัจจุบันมี 3 โชว์รูมยอดขายรวมกันยังได้ไม่เท่า 1 โชว์รูมในตอนนั้นเลย

ยอดขายรถกระบะชุมพรลดฮวบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามยอดจำหน่ายรถกระบะจากตัวแทนจำหน่ายรายหนึ่งในจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ภาพรวมลดลง 20-30% จากปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรหลักตกต่ำลงมาก ยกเว้น “ทุเรียน” ที่ยังมีราคาสูง” ส่วนวงการธุรกิจรถจักรยานยนต์ในจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า ภาวะพืชเกษตรตกต่ำส่งผลกระทบต่อยอดขายรถจักรยานยนต์ในจังหวัด “มีกำลังซื้อหายไปบ้างบางส่วน”

ค้าปลีกเมืองคอนก็ทรุด

ขณะที่ นางมาลี ราษฎร์อารี เจ้าของบริษัท ทุ่งสงปิยะกลการ 199 จำกัด บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในเครือปิยะกรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทกระจายไป 23 สาขา ใน อ.เมืองนครศรีธรรมราช ปรากฏยอดขายรถจักรยานยนต์ตกมา 1-2 ปีแล้ว จากเมื่อก่อนสาขาเดียวขายได้วันละ 100 คัน ตอนนี้ทั้ง 23 สาขา ขายได้ไม่ถึง 20 คันต่อวัน “บริษัทต้องปรับตัวโดยยอมขายขาดทุนกำไร ดีกว่าสินค้าค้างสต๊อก

เกษตรกรเครียดร้องรัฐช่วย

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ในขณะนี้นั้น นายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มจังหวัดชุมพร กล่าวว่า “รัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนอะไรออกมา ทราบแต่ว่าคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) จะขยายเวลาในการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในปริมาณ 300,000 ตันเท่านั้น” แต่ชาวสวนปาล์มจะให้เวลารัฐบาลอีกระยะหนึ่ง หากยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมออกมา

ขณะที่นายสมเกียรติ เหล่านาค นายกสมาคมชาวสวนมะพร้าวจังหวัดชุมพร กล่าวว่า มาตรการของกรมการค้าภายในที่ออกมาคงช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างด่านควบคุมควรเพิ่มที่อำเภอปราณบุรี อีกด่านหนึ่งเพราะเป็นจุดที่มีการลักลอบนำมะพร้าวจากเมียนมาเข้ามาทางด่านสิงขรทุกวัน ส่วนการกำหนดว่าการควบคุมการขนย้ายมะพร้าวผลจะต้องไม่เกิน 7 ตัน ส่วนเนื้อมะพร้าวจะต้องไม่เกิน 2.5 ตัน และมะพร้าวแห้งจะต้องไม่เกิน 1.5 ตัน หากขนย้ายเกินปริมาณดังกล่าวจะต้องแจ้งต่อกรมการค้าภายในนั้น เป็นสิ่งที่ “ชาวสวนมะพร้าวรับไม่ได้” เพราะการขนย้ายมะพร้าวในแต่ละครั้งเกินกว่า 7 ตันอยู่แล้ว และยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ด้วย “กรณีที่มีการออกข่าวว่าราคามะพร้าวขยับจาก กก.ละ 4 บาทเป็น 5 บาทนั้น ข่าวคงมั่วแน่ ๆ เพราะมะพร้าวเขาขายกันเป็นผล ไม่ได้ขายเป็น กก. โดยสิ่งที่เราเรียกร้องก็คือ มะพร้าวลูกละ 15 บาท จึงจะอยู่กันได้” นายสมเกียรติกล่าว

ส่วนชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา ก็ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2561) แจ้งสถานการณ์กุ้งประสบกับโรคระบาด ต้นทุนการผลิตสูง ราคากุ้งตกต่ำลง และเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงขอให้กรมการค้าภายใน-กรมประมง เป็นผู้ประกาศราคาซื้อขายกุ้งในตลาดแทนชมรมผู้ค้ากุ้งเป็นรายสัปดาห์/เดือน ขอให้หามาตรการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง โดยใช้ราคาอ้างอิงที่สหพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยประกาศในการซื้อขายกุ้ง (ขั้นต่ำ 100 ตัว/กก. ราคา 130 บาท) และขอให้สำรวจสต๊อกห้องเย็น โกดังสต๊อกกุ้งมีปริมาณกุ้งเท่าใด เพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนการผลิต “เราขอคำตอบจากรัฐภายใน 30 วัน”

แก้ด้วย Local to Global

ล่าสุด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเพื่อมอบหมายนโยบายเร่งแก้ปัญหาและยกระดับราคาสินค้าเกษตรช่วยเศรษฐกิจฐานราก พร้อมทั้งการเสริมแกร่งร้านค้าโชห่วย 100,000 ราย เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน “ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จะปรับโครงสร้างการทำงาน เน้นการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย Local to Global ของรัฐบาล โดยวางเป้าหมายว่า ภายใน 3 เดือน จะมีการกำหนดรายการสินค้าที่จะร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในเชิงรุก เบื้องต้นจะเน้นสินค้าที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงปลายปี ซึ่งเสี่ยงจะเกิดปัญหาราคาตกต่ำ ทั้งมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมนม ข้าว สับปะรด มันสำปะหลัง ไข่ไก่ และกุ้ง ยางพาราจะช่วยทำตลาด”