ถม 3 แสนล. ทะลวงรถติดโซนตะวันตก ผุด “โครงข่ายใยแมงมุม” เปิดทำเลใหม่-เชื่อมซีบีดี

ถมลงทุน - หลายปีที่ผ่านมามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ รองรับการเดินทางกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งรถไฟฟ้า ถนน มอเตอร์เวย์ เนื่องจากเมืองมีการเติบโตไปมาก โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพฯ

ทำเลโซนตะวันตกเมืองโตไม่หยุด รัฐถมลงทุนกว่า 3 แสนล้าน ผุดโครงข่ายใหม่ ทะลวงรถติด เพิ่มโครงข่ายใหม่เชื่อม กทม.-ปริมณฑล กลางปีตอกเข็มทางด่วนพระราม 3 ยกระดับพระราม 2 สายสีแดงต่อขยายตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา ส.ค.นั่งรถไฟฟ้าลอดเจ้าพระยาเชื่อมพระนคร-ฝั่งธนฯ กทม.เร่งถนนตัดใหม่พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ทางหลวงอัด 5.6 พันล้านขยายบรมราชชนนีรับนครปฐม-ชะอำ ลุยอัพเกรดวงแหวนตะวันตกสร้าง 2 ชั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันภาครัฐมีการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม ไม่ว่าถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ และรถไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของกรุงเทพฯโซนตะวันตก และเชื่อมการเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม นนทบุรี

ปีนี้ทยอยเปิดหวูดรถไฟฟ้า

ที่แล้วเสร็จรอเปิดใช้คือรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม.ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2555 รอติดตั้งระบบร่วมกับสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต พร้อมเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564

พร้อมเปิดบริการในเดือน ส.ค. 2562 คือ ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 27 กม. จะเปิดใช้ช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยาจากหัวลำโพง-บางแค ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระจะเปิดในปี 2563 ในอนาคตการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต่อขยายจากบางแค-พุทธมณฑลสาย 4

เร่งมอเตอร์เวย์-ตัดถนนใหม่รับ

โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างมีมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ทุ่มงบประมาณก่อสร้างไปกว่า 6 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันติดปัญหาเวนคืนที่ดินทำให้โครงการล่าช้า คาดว่าจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปัจจุบันสร้างแล้ว 7 กม. ช่วงสามแยกไฟฉาย-วงแหวนรอบนอกตะวันตก

ปี’63 เชื่อมพรานนกทะลุสาย 4

ล่าสุดอยู่ระหว่างต่อเชื่อมไปถึงถนนพุทธมณฑลสาย 2 วงเงิน 1,136 ล้านบาท เป็นถนนตัดใหม่ ขนาด 4-6 ช่องจราจร พร้อมทางต่างระดับบริเวณจุดตัดถนนพุทธมณฑสาย 2 ระยะทาง 1.5 กม. จะแล้วเสร็จวันที่ 13 ก.ย. 2563

และปี 2563 กทม.เตรียมของบประมาณ 2,175 ล้านบาท สร้างต่อเชื่อมจากถนนพุทธมณฑลสาย 2-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ขนาด 8 ช่องจราจร 6.4 กม. ปัจจุบันทยอยเวนคืนแล้ว เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นโครงข่ายใหม่ที่เชื่อมจากศิริราชถึง จ.นครปฐม

ทุ่ม 5 พันล้านยืดคู่ขนานลอยฟ้า

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า นอกจากโครงการใหญ่อย่างมอเตอร์เวย์สายใหม่ที่จะสร้างจากบางใหญ่ไปถึงกาญจนบุรีที่กรมกำลังเร่งรัด กรมอยู่ระหว่างปรับปรุงบริเวณทางแยกต่างระดับฉิมพลีและพุทธมณฑลสาย 4 ในแนวถนน 338 (ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) ช่วงอรุณอมรินทร์-พุทธมณฑลสาย 4 จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้

เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาการจราจรเส้นทางเชื่อมการเดินทางไปพื้นที่ตะวันตกและภาคใต้ รวมถึงรองรับการต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ซึ่งกรมจะก่อสร้าง 21.34 กม. จากถนนพุทธมณฑลสาย 3-ถนนเพชรเกษม วงเงิน 17,850 ล้านบาท ได้งบประมาณปี 2563 จำนวน 5,600 ล้านบาท ก่อสร้าง 6.72 กม. จากถนนพุทธมณฑลสาย 3-ม.มหิดล ศาลายา เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร จะไปเชื่อมกับมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ที่นครชัยศรี ที่กรมเตรียมเปิดประมูล PPP ทั้งโครงการ วงเงิน 79,006 ล้านบาท ในเร็ว ๆ นี้

กลางปีตอกเข็มยกระดับพระราม 2

นอกจากนี้ ภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้กรมจะเริ่มก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. ช่วงแรกจากบางขุนเทียนถึงเอกชัย 1 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สร้างบนถนนพระราม 2 ระยะทาง 10.8 กม. ค่าก่อสร้าง 10,500 ล้านบาท แบ่งสร้าง 3 สัญญา จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี มีกำหนดเสร็จในปี 2564 ยังมีแผนจะปรับปรุงถนนวงแหวนตะวันตกปัจจุบัน จากต่างระดับบางขุนเทียน-บางปะอิน ระยะทาง 70 กม. ให้เป็นทางพิเศษเก็บค่าผ่านทางเหมือนฝั่งตะวันออก และเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-โคราช คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 78,000 ล้านบาท

มีทั้งโครงสร้างทางยกระดับ 2 ชั้น และทางระดับดิน ภายในเดือน มิ.ย.นี้จะทยอยสร้างทางคู่ขนานช่วงบางปะอิน-บางบัวทอง เพื่อรองรับการปรับปรุงทางพิเศษ เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้การเดินทางของวงแหวนรอบที่ 2 เป็นโครงข่ายทางพิเศษที่สมบูรณ์ และเดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น

ส.ค.ประมูลสีแดงตลิ่งชัน-ศาลายา

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร.ฟ.ท.มีโครงข่ายสายสีแดงส่วนต่อขยายมาเชื่อมการเดินทางพื้นที่ฝั่งตะวันตก คือ สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 6,645 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202 ล้านบาท รวม 3 สถานีจะสร้างเพิ่มที่สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-ไทรน้อย และสถานีบ้านฉิมพลี

ซึ่งจะเชื่อมการเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังนครปฐม เนื่องจากรถไฟฟ้าสายนี้จะวิ่งไปยังสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูล คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ส.ค. 2562 แล้วเสร็จในปี 2565

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.มีทางด่วนสายใหม่จะสร้างรองรับการเดินทางฝั่งตะวันตก คือ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 30,437 ล้านบาท


ขณะนี้อยู่ระหว่างประมูล คาดว่าจะเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาภายในเดือน พ.ค. และเริ่มงานก่อสร้างในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 39 เดือน จะแล้วเสร็จในปี 2565 จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้วของกรมทางหลวง